สธ.คลอดเกณฑ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก

สธ.คลอดเกณฑ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก

สธ.คลอดเกณฑ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 2 ล้านโดส เริ่มก.พ.ฉีด2 แสนโดส ให้ 4 กลุ่ม ใน 5 จ.พื้นที่แดงและเข้มงวด ที่เหลือทยอยฉีดจนครบ 1.6 ล้านโดสในเม.ย. ส่วนอีก 4 แสนโดสสำรองไว้กรณีเกิดระบาด โดย 1 คนฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์

เวลา 15.00 น. วันที่ 7 ม.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การวิเคราะห์ผู้ป่วยระลอกใหม่ 5,381 ราย เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งเปรียบเทียบกับต้นปี 2563 ถือว่าครั้งนี้เป็นอัตราที่ข้างค่อนต่ำ ยังอยู่โรงพยาบาล(รพ.) 2,079 ราย มีอาการหนักใช้เครื่องช่วยหายใจ 6 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 1,695 ราย โดยส่วนมากอยู่ในสมุทรสาครและจังหวัดทางภาคตะวันออก ส่วนรักษาหายแล้ว 572 ราย ทั้งนี้ สัดส่วนการระบาดรอบนี้ จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ แต่ในภาคอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย และมีคนต่างชาติประปราย เป็นแรงงานทำงานในตลาดและโรงงาน

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า การเตรียมความพร้อมในการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เริ่มจากการนำเข้าวัคซีน ต่อด้วยการขึ้นทะเบียน การขนส่งวัคซีนและเก็บรักษา ซึ่งต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม แนวทางการให้บริการ การเบิกจ่ายวัคซีนและหลังฉีดแล้วจะต้องมีการเฝ้าระวังอาการ ไม่พึงประสงค์ ภายหลังได้รับวัคซีน ทั้งนี้ คำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 โดยคณะกรรมการวิชาการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเมื่อมีวัคซีน 2 ล้านโดส วัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19และเพื่อรักษา ระบบสุขภาพของประเทศ ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีน อีก 26 ล้านโดสวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ และระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนพอเพียงสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชนวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและ ฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

กลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระยะแรก 2 ล้านโดสหรือ 1 ล้านคนซึ่ง 1 คนต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์จะดำเนินการใน 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงและเข้มงวดก่อน คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด จะฉีดให้คน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ด่านหน้าทั้งภาครัฐ เอกชนและอสม. รวม 80,000 คน 2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และอื่นๆรวม 20,000 คน 3. บุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ระยะ 5 ขึ้นไป(ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดรังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด และ โรคเบาหวาน และ 4.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดย 2 กลุ่มหลังรวมกัน 9 แสนคน

เป้าหมายของการฉีดวัคซีน 2 ล้านโดสระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564 คือ 1.วัคซีน 2 แสนโดสแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขด่านหน้า รวมถึงอสม.และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนาม ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำนวน 20,000 คนและในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อในการมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 180,000 คน 2. วัคซีน 8แสนโดสแรกในเดือนมีนาคม 2564 ฉีดเข็ม 2 ในกลุ่มข้อ 1 จำนวน 2 แสนโดส ส่วนอีก 6 แสนโดสฉีดในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุดและชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้ารวมอสม.จำนวน 60,000 คนและกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 540,000 คนและ 3.วัคซีน 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 ฉีดเข็มที่ 2 ในกลุ่มตามข้อ 2 จำนวน 600,000 คนและอีก 4 แสนโดสสำรองไว้กรณีที่มีการระบาด

การกระจายวัคซีนนั้น องค์การเภสัชกรรม(อภ.)จะเป็นผู้นำเข้าและขนส่งกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ซึ่งการเตรียมการของหน่วยบริการนั้นทุกสถานพยาบาลเป้าหมายตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปโรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตรียมการให้บริการวัคซีนโควิชโดยทุกสถานพยาบาลจัดบริการวัคซีนโควิดทุกวันตามความเหมาะสมให้ทุกสถานพยาบาลกำหนดจุดบริการวัคซีนโควิคแบบ fast track โดยมีจุดบริการที่ชัดเจน และให้แต่ละสถานพยาบาลกำหนดทีมผู้รับผิดชอบการให้วัคซีน