ฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 เติบโตบนเส้นทางที่ยั่งยืน

ฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 เติบโตบนเส้นทางที่ยั่งยืน

ความเปลี่ยนแปลงของโลก ทรัพยากรที่ลดลง ทำให้เห็นว่าโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เน้น GDP สูง ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในภาคธุรกิจ และประชาชน ไม่มีรากฐานมั่นคงมากพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้ในยามเกิดวิกฤติ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ BCG Economy เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ B - เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอด C - เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า G - เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย เพิ่ม GDP ของไทย จาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.3 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันแม้ทั่วโลกต้องเผชิญกับโควิด-19 แต่ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่ยังต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจ และ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” (Green Recovery) จึงเป็นแนวทางที่นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมหลายสำนักนำเสนอเพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าโรคระบาดครั้งนี้หลายเท่าในอนาคต

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส (เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงาน Green Recovery มองไปข้างหน้าหลังความท้าทายโควิด-19 โดยระบุว่า ในช่วงฟื้นฟูจากโควิด-19 และการพัฒนาเศรษฐกิจหลังจากนี้ หากมองการปรับเปลี่ยนโมเดลโดยอยู่บนฐานการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หัวใจหลักของ Green Recovery จากการศึกษาในงานวิจัยของต่างประเทศพบว่ามี 3 ประการ คือ 1.การเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ควบคู่การสร้างงาน สร้างรายได้จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน 2.เน้นประเด็นสังคม ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และ 3. เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เพราะโควิด-19 ไม่ใช่วิกฤติสุดท้ายที่มาท้าทาย แต่อนาคตอาจจะมีวิกฤติมากกว่านี้ เพราะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือโรคอุบัติใหม่ที่เข้ามากระทบ

“หากทำทั้งสามหัวใจหลักนี้ได้ จะช่วยให้ภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของไทย สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง แต่ Recovery ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึง กลุ่มประเทศ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือเพื่อนบ้านอย่าง เกาหลีใต้ ได้มีการนำแนวคิดเรื่อง Recovery มาใช้”

ยกตัวอย่าง ประเทศกลุ่ม OECD มีการให้เงินสนับสนุนกับโครงการพัฒนาโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาการใช้พลังงาน เศรษฐกิจหมุนเวียน และสนับสนุนพลังงานสะอาด ขณะที่ สหภาพยุโรป ให้ความสำคัญเรื่องการผลักดันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เน้นการขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ สนับสนุนลดขยะ ของเสีย โดยนำเอาเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้

สำหรับ ในภูมิภาคเอเชีย อย่าง เกาหลีใต้” ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน โดยออก South Korea's Green New Deal ชูนโยบายการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการลงนามข้อตกลงร่วมกับสหภาพยุโรปประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ข้อเสนอด้านนโยบายในการแก้ปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในระยะเวลา 10 ปี รวมถึงแก้ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เพื่อเป้าหมายสำคัญคือหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมบูรณ์ ภายในปี 2050

รวมไปถึงสร้างงาน สร้างหลักประกันของอากาศและน้ำสะอาด การกำหนดการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยเกาหลีใต้ถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ลงนามข้อตกลงและมีการผลักดันการพัฒนาด้วยระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในการฟื้นฟูประเทศจากโรคระบาดอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.กรรณิการ์ อธิบายต่อไปว่า หากกลับมามองที่ประเทศไทย ส่วนตัวมองว่า Green Recovery ค่อนข้างสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาของ BCG ที่ภาครัฐได้ผลักดันตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้น ในระยะกลาง และระยะยาว อยากให้เดินหน้าส่งเสริมต่อไป ขณะเดียวกัน ข้อเสนอแนะ คือ ทุกภาคส่วนอาจจะต้องทำการผลักดันอย่างจริงจัง โดย “ภาครัฐ” นอกจากขับเคลื่อน BCG แล้ว อาจจะเพิ่มความชัดเจนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เรามีประเด็นเรื่องของปัญหา PM2.5 และมลพิษด้านต่าง รวมถึงความท้าทายเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เน้นเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความตระหนักภาคธุรกิจ และภาคประชาชน

ในส่วนของ ภาคธุรกิจ” จากวิกฤตโควิด-19 ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เป็นโอกาสในการเชิญชวนปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ หันมาจับมือกับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิต ถึงการจัดเก็บให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่เพื่อผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 เท่านั้น แต่ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้า เริ่มหันมามีความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจไทยไม่ปรับตัวอาจจะโดนกีดกันในอนาคต

อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือ นักลงทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจในการลงทุนธุรกิจผ่านแนวคิด ESG (Environmental , Social and Governance) ดังนั้น นอกจากจะฟื้นฟูธุรกิจจากโควิด-19 แล้ว อยากให้มองเรื่องของ Environmental , Social and Governance ให้มากขึ้น

และสิ่งสำคัญที่สุด คือ “ภาคของประชาชน” จำเป็นต้องตื่นตัว ปรับตัว หลังจากวิกฤติโควิด-19 หากเห็นว่าภาคธุรกิจเริ่มปรับตัว มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ผู้บริโภคเองไม่มีการเปลี่ยน จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าค่อนข้างยาก ดังนั้น ภาคประชาชน ต้องช่วยกันตระหนัก ส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไทยหลังจากพ้นโควิด-19 สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต

  • เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะประธานกลุ่มตัว C (Circular Economy) ในการขับเคลื่อน BCG กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งใหญ่ที่ต้องเผชิญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ความท้าทายที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจ โรคระบาด ภัยก่อการร้าย และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีจุดแข็ง คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินพอ แต่ทำอย่างไรให้ใช้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพียงพอเฉพาะรุ่นนี้ แต่ต้องส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานด้วย

“เป้าหมายของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ได้แก่ “พลาสติกครบวงจร” รวบรวมจัดเก็บ แยก หมุนเวียน ใช้ประโยชน์ โดยทำงานร่วมกับเอกชน กลุ่ม PPP Plastics ในการร่วมจัดการขยะอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร” โดยเฉพาะอ้อย ปลูกอย่างไรให้ผลผลิตเยอะ และไม่เผา เพราะหลักๆ PM2.5 มาจากการเผา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น รวมถึงสร้างระบบกลไกจัดการ ลด Food Loss / Food Waste สร้างจิตสำนึกผู้บริโภค และ “วัสดุก่อสร้าง” สร้างความสามารถ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รูปแบบการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการขับเคลื่อน Smart City ตามนโยบายรัฐบาล ลดการใช้ทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม”