‘ตึกยาว' อาคารเรียนแห่งแรกที่เด็ก ‘สวนกุหลาบ’ ไม่มีวันลืม

‘ตึกยาว' อาคารเรียนแห่งแรกที่เด็ก ‘สวนกุหลาบ’ ไม่มีวันลืม

อาคารเรียนที่สวยที่สุดในประเทศไทย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากสวยงามแล้ว สถานศึกษาแห่งนี้ยังสร้างผู้คนมากมายที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ และนี่คือเรื่องราว"ตึกยาว" "โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย"

เด็กผู้ชายที่เคยเรียนใน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เวลาพูดถึงสถานศึกษาแห่งนี้ พวกเขาจะภูมิใจ เพราะรู้สึกผูกพันและรักโรงเรียนแห่งนี้มาก  และส่วนใหญ่มีโอกาสเรียนที่ตึกยาว อาคารเรียนที่มีความยาวกว่า 200 เมตร สร้างมาร้อยกว่าปี และมีการบูรณะในบางปี เนื่องจากเป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกในสยามประเทศ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกในเรื่องสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ปัจจุบันจึงมีตึกสไตล์ฝรั่งผสมไทยหลงเหลือให้ชมอยู่ไม่น้อย 

เมื่อเร็วๆ นี้ทางชมรม KTC PR Press Club บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด จัดทริป ยลศิลป์สยาม งานช่างฝรั่งผสมไทยในแดนสยาม พาไปสัมผัสสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างของตึกยาว เพื่อเรียนรู้เรื่องราวการศึกษาไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นใช้ชื่อว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเด็กที่มีโอกาสเรียน ต้องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการบริพาร

หลังจากนั้นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมีนักเรียนมากขึ้น จึงย้ายโรงเรียนออกจากพระบรมมหาราชวัง สมัยนั้นรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้าง ตึกยาว เป็นอาคารเรียนที่ต่างจากสถานศึกษาทั่วไปอย่างสิ้นเชิง 

160499135163

ด้านในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ตึกยาว สร้างสรรค์และออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค มีความโดดเด่นสง่างาม สร้างเป็นอาคารเรียนสองชั้นทรงยุโรป เมื่อปีพ.ศ. 2452 ตอนนั้นใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,110 บาท 

ปัจจุบันโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยตั้งขนานกับถนนตรีเพชร อาคารเป็นรูปโค้งคล้ายโคลอสเซี่ยม คาดว่าได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการสร้างตึกสามัคยาจารย์สมาคม ที่สร้างขึ้นก่อนในปีพ.ศ. 2445 ในยุคนั้นมีตัดถนน สร้างตึกแถว เพื่อพัฒนาพระนครให้เกิดประโยชน์

ว่ากันว่า รากฐานตึกยาวสร้างตามแบบสมัยก่อนใช้ไม้สักทองวางขัดไปมาแทนเสาเข็ม ใช้ผนังรับน้ำหนักแบบวอลล์แบริ่งตามรูปแบบการก่อสร้างของอาณาจักรโรมัน ตึกยาวผ่านเรื่องราวมาหลายยุค ในปีพ.ศ. 2488 เคยโดนระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มุมตึกฝั่งเพาะช่าง และมีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ปี 2530 ปัจจุบันปรับอาคารด้านล่างเป็นพิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ

  160499350025

ครูฝรั่งในยุคแรกๆ 

“วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ช่วงเปิดเทอมศิษย์เก่าจะกลับมาที่โรงเรียน เพื่อรับน้อง วันนั้นเสมือนวันชุมนุมศิษย์เก่า ใครมาโรงเรียนก็ต้องถ่ายรูปกับตึกยาว  ” ครูนพมณี ทองธรรมชาติ ครูผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ เล่า ซึ่งครูเองก็ภูมืใจที่มีโอกาสได้สอนและทำงานในโรงเรียนแห่งนี้ 

เนื่องจากช่วงร้อยปีที่ผ่านมา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สร้างคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหลายยุค อาทิ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ, ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ,ฯพณฯพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่รวมของคนดังหลายรุ่น มีตั้งแต่ศิลปิน นักการเมือง นักธุรกิจ  ฯลฯ 

160499149941

(วิทยากรนำชม)

ในพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงมีเรื่องราวตั้งแต่ประวัติการสร้างโรงเรียน  ,นักเรียนที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี,รายชื่อนักเรียนสวนกุหลาบที่สอบไล่ได้ที่ 1 ใน 50 คนแรกของประเทศ ประโยคเตรียมอุดมศึกษา ปีต่างๆ ,เรื่องเล่าของครูฝรั่ง อาทิ หลวงเสขสุนทร (หลุยส์ บอกซ์) ที่ชอบถือไม้เรียวไว้ตีนักเรียนที่มาสาย หรือขุนจำนง ทิพยประสาท ครูสมัยโบราณที่เวลาเห็นนักเรียนง่วงหรือคุยกัน จะใช้กลเม็ดเสมือนเล่นกลเสกคาถาให้ไฟลุกได้ โดยใช้โปตัสเซียมคลอเรตผสมน้ำตาลทรายให้เข้ากันในชามกระเบื้อง แล้วตัดกระดาษให้เป็นฝอยปิดไว้ หยดกรดกำมะถันเข้มข้นไว้ข้างๆ ทำเป็นเสกคาถาลงไป เอียงชามให้สารไหลรวมกัน ไฟจะลุกบนกระดาษ ทำให้นักเรียนไม่ง่วง และชอบวิทยาศาสตร์

เหล่านี้คือ บันทึกเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์การศึกษาของตึกยาว โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่มีอายุกว่า 100 ปี