ปกป้องสิทธิจาก 'โดรน' ก่อรำคาญ
ไขข้อข้องใจ หากผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนฝ่าฝืนข้อกำหนด ประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิในการยับยั้งหรือทำลายอากาศยานไร้คนขับได้หรือไม่ หากทำลายอากาศยานไร้คนขับจะต้องรับผิดตามกฎหมายแพ่งหรืออาญาหรือไม่?
อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) หรือโดรน (Drone) ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพในหลากหลายด้าน เช่น ในการกีฬา การสำรวจ การทำแผนที่ การพยากรณ์อากาศ และการรายงานข่าว
ปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยได้มีการควบคุมการบินอากาศยานไร้คนขับไว้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ซึ่งให้อำนาจอนุญาตและกำหนดเงื่อนไขการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน
โดยการออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 สาระสำคัญของการบินอากาศยานไร้คนขับในระหว่างทำการบินนั้นก็มีหลายข้อห้ามด้วยกัน กล่าวคือ
1.ห้ามมิให้ทำการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น อีกทั้งยังห้ามทำการบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจำกัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศในเอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
2.กำหนดให้ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบิน และห้ามทำการบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง โดยจะต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน ห้ามทำการบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ และห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต
3.ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตรเหนือพื้นดิน ห้ามทำการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่ ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ห้ามทำการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรำคาญแก่ผู้อื่น ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน ห้ามทำการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคาร น้อยกว่า 30 เมตร
ปัญหาที่เกิดขึ้นและมีการถกเถียงกันอย่างมากคือ หากผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในบริเวณสถานที่ที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อสอดแนมก่อนทำการโจรกรรมทรัพย์สินดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวขโมยสวนทุเรียน คำถามคือประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิในการยับยั้งหรือทำลายอากาศยานไร้คนขับได้หรือไม่ หากทำลายอากาศยานไร้คนขับจะต้องรับผิดตามกฎหมายแพ่งหรืออาญาหรือไม่ เพียงใด?
ในด้านความรับผิดทางอาญานั้น จะต้องพิจารณาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จากบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ที่ทำลายอากาศยานไร้คนขับ อาจถูกเจ้าของอากาศยานไร้คนขับฟ้องในข้อหานี้ แต่อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายอาญาก็ให้สิทธิกับผู้ที่ทำลายอากาศยานไร้คนขับอาจไม่ต้องรับผิดก็ได้ตามมาตรา 68 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
ในด้านความรับผิดทางแพ่งจะต้องพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
แต่การทำลายอากาศยานไร้คนขับก็อาจได้รับการนิรโทษกรรมที่เกิดจากการทำละเมิดต่อทรัพย์เพื่อป้องกันสิทธิจากภัยอันเกิดจากตัวทรัพย์ไว้ในมาตรา 450 วรรคท้ายว่า “ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน เพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้”
ดังนี้แล้วหากมีการบินอากาศยานไร้คนขับโดยละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือทำการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรำคาญเข้ามาในพื้นที่ส่วนบุคคลแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าเจ้าของพื้นที่ส่วนบุคคลสามารถทำการทำลายอากาศยานไร้คนขับได้ ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน และความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป
นอกเหนือจากนี้เจ้าของพื้นที่ส่วนบุคคลอาจใช้สิทธิที่จะยับยั้งความเดือดร้อนและเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 หากผู้ควบคุมอากาศยานไร้คนขับใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบ
กรณีนี้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน