อวสานสิ่งพิมพ์?

อวสานสิ่งพิมพ์?

สื่อ 'สิ่งพิมพ์' ในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ถูกซ้ำเติมด้วย 'โควิด' แม้ไม่ถึงกาลอวสาน แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ แน่นอนว่า...มีบางสิ่งที่ต้องหายไป แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือ ระบบความรู้ในสังคมไทย!

ข้อมูลจากเว็บไซต์ everydaymarketing ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของการรับสื่อแยกตามเจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 ชาว Millennials หรือ Gen Me (1980-2000) อ่านหนังสือพิมพ์หรือสื่อดั้งเดิมเพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์ และอ่านข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้น 36 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเชื่อถือข่าวจากนิตยสารและหนังสือพิมพ์มากที่สุดจากทุก Gen ขณะที่กลุ่มสูงวัย Silverage อย่าง Baby Boomer (1946-1964) ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอ่านหนังสือพิมพ์เพียง 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้เวลากับการอ่านข่าวออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 31 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขเหล่านี้ถึงแม้จะบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตายไป แต่มีแนวโน้มลดความนิยมลง อาจเพราะความเสื่อมถอยตามกาลเวลา หรือแม้กระทั่งตัวกระตุ้นบางประการ แต่ไม่ว่าจะตายหรือได้ไปต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือผลกระทบทั้งในแง่วารสารศาสตร์ที่เคยรุ่งเรืองไปจนถึงการเรียนรู้ของประชาชาติ

  • วิกฤติวารสารศาสตร์

แม้ Digital Disruption จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการลดบทบาทสื่อสิ่งพิมพ์ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้รับสาร เนื่องจากทางเลือกเข้าถึงข่าวสารเปิดกว้างขึ้นไปสู่การเสพสื่อในแพลตฟอร์มใหม่บนโลกออนไลน์ ที่รวดเร็วและหลากหลายกว่าเดิม

“อีกปัจจัยสำคัญคือเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ กระทั่งวิทยุและทีวีที่เป็นสื่อดั้งเดิมก็ได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินโฆษณาที่เริ่มน้อยลงเช่นกัน แต่ในทางกลับกันเม็ดเงินกลับไปเพิ่มในสื่อออนไลน์หรือว่าสื่ออินเทอร์เน็ต ถามว่าจะแทนกันได้ไหมตอนนี้ก็คงยังจะแทนไม่ได้ทั้งหมด เพราะเม็ดเงินที่มาลงสื่อดั้งเดิมก็ยังมีอยู่” สุรีวัลย์ บุตรชานนท์ อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สะท้อนถึงการหายไปของสื่อกระดาษในยุคดิจิทัล

ประกอบกับข้อมูลสื่อโฆษณาหลังโควิด-19 ของบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสื่อเม็ดเงินหายเกือบยกแผงทั้งทีวี สิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน สื่อในโรงภาพยนตร์ รวมถึงอินเทอร์เน็ตด้วย แม้คนดูทีวีและเสพสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินโฆษณากลับหดตัว 15-20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสื่อออนไลน์คาดว่าเติบโตเพียง 12 เปอร์เซ็นต์

“หนังสือพิมพ์ยังคงอยู่ได้ แต่จะไม่ทำกำไรในอนาคต ออนไลน์อาจจะเป็นตัวนำ แล้วหนังสือพิมพ์เป็นตัวเสริม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เราจะหาเงินจากออนไลน์เพื่อเลี้ยงหนังสือพิมพ์ให้อยู่ได้ ทีนี้ลักษณะการขายจะไม่ได้แยกแอดโฆษณาในหนังสือพิมพ์กับในเว็บแล้ว แต่จะเป็นโปรโมชั่นและแพ็คเกจ ผูกรวมระหว่างสื่อปรินท์กับสื่อออนไลน์เพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า”

นอกจากการปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัป พฤติกรรมผู้รับสารที่เปลี่ยนไปก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของวงการสื่อได้เป็นอย่างดี แต่ถึงแพลตฟอร์มจะเปลี่ยน อาจารย์สุรีวัลย์ก็ยังเชื่อมั่นว่าบทบาทการเป็น ‘หมาเฝ้าบ้าน’ เป็นกระบอกเสียงของประชาชนจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคำว่า ‘วารสารศาสตร์’ คือศาสตร์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ โดยไม่ได้ยึดติดที่แพลตฟอร์ม ดังนั้นบทบาทการเป็นวารสารศาสตร์ก็แค่ย้ายจาก print journalism มาเป็น online journalism เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปแน่นอน คือการเรียนการสอนเพื่อให้ทันยุคแห่งเทคโนโลยีมากขึ้น จากเดิมตามหลักสูตรที่จะต้องทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ตอนนี้ก็ไม่ได้ทำแล้ว ซึ่งยังคงมีวิชาการผลิตหนังสือพิมพ์และพ่วงท้ายด้วยหนังสือพิมพ์ออนไลน์ แต่ไม่ได้เปิดสอนเพราะมองตามความสนใจของเด็กด้วย

“เด็กรุ่นหลังๆ สนใจงานข่าวน้อยลงมาก แต่สิ่งที่เขาสนใจคือ คอนเทนท์ออนไลน์ ในเชิงของไลฟ์สไตล์ หรือการเล่าเรื่องที่ไม่ได้เป็นงานข่าวเพียวๆ แม้จะเป็นประเด็นสังคมก็จะเล่าออกมาในเชิงสกู๊ป สารคดี รายงานพิเศษที่ไม่ใช่อย่างสำนักข่าวหลักๆ ทำ แต่เป็นแนวสำนักข่าวออนไลน์ อย่างเช่น The Standard, The Matter แต่ Key Message ที่พยายามจะบอกเขาคือการคงหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน”

ดังนั้น แม้ว่าวารสารศาสตร์ยุคนี้จะเน้นไปที่การสร้าง Multi Skilling แต่สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ยังเป็นเรื่องของ ‘จริยธรรมสื่อ’ ซึ่งที่ผ่านมาท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ ในฐานะอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนมองว่า การติดตั้งเครื่องมือจริยธรรมและจรรยาบรรณก่อนที่จะก้าวไปเป็นสื่อมวลชนเต็มตัวไม่ว่าจะยุคไหนก็ยังสำคัญและจำเป็นมาก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่หลายองค์กรต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ไม่ว่าจะเรตติ้งหรือการให้นักข่าวผันตัวมาหาแอดโฆษณา หาสปอนเซอร์ ซึ่งขัดกับหลักจริยธรรม เนื่องจากคนที่ทำข่าวไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน เพราะจะส่งผลในการทำงานที่ไม่อิสระ แต่ทั้งนี้สามารถทำได้ถ้าจริงใจกับผู้รับสารโดยเขียนบอกว่าเป็นพื้นที่โฆษณา จะเห็นว่าจริยธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักข่าวอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับองค์กรด้วย

“แม้ Digital Disruption จะเป็นปัจจัยให้การทำงานของสื่อหลักเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่จะยังคงอยู่ต่อไปคือการทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านหรือการเป็นกระบอกเสียงของคนตัวเล็กๆ ต่อให้ไม่มีหนังสือพิมพ์แม้แต่ฉบับเดียว แต่คอนเทนท์ยังอยู่ ไม่ว่าจะยุคไหน ไม่ว่าจะในอนาคตอีกกี่สิบปีข้างหน้า Content is the king”

160142618032

  • วิบัติการเรียนรู้

การล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ อาจดูเหมือนการพัฒนาสู่แพลตฟอร์มใหม่ แต่ในสายตาของ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กลับมองว่าการพัฒนาที่แท้ ยังจำเป็นต้องรักษา ‘ราก’ เอาไว้

“เวลาคนชอบพูดถึงความรู้สมัยใหม่ การพัฒนาสมัยใหม่ คนชอบอ้างถึงประเทศสวีเดน ลองไปดูห้องสมุดของสวีเดนสิว่าเขามีมากมายแค่ไหน ลองไปดูสิ่งพิมพ์สวีเดนซึ่งยังเป็นกระดาษอยู่ ว่าเขามีมากมายแค่ไหนในขณะนี้ หรือลองไปดูสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ประเทศที่เจริญทั้งหลาย ประเทศจีนซึ่งกำลังเจริญแซงหน้าประเทศอื่นทั่วโลกในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และอะไรต่างๆ ยังมีเครื่องมือพื้นฐานที่เราเรียกว่าหนังสือกระดาษอยู่ ยังมีแมกกาซีนอยู่ ยังมีหนังสือพิมพ์อยู่”

เหตุผลสำคัญที่ประเทศเหล่านั้นยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ มกุฏบอกว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวกับความมั่นใจว่า ความรู้จะไม่สูญหายไป

“เขาไม่มั่นใจหรอกว่าสิ่งที่อยู่ในอากาศวันหนึ่งจะไม่สูญไปโดยที่เราคว้ามันกลับมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นในทุกประเทศต้องสำรองไว้ ทำไมประเทศทั้งหลายจึงมีห้องสมุดใหญ่โตมหึมา ในขณะที่ออนไลน์ก็ว่ากันไป แต่ของพื้นฐานก็ต้องมี

สมมติว่าวันหนึ่งอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ได้ เราเห็นกันอยู่ว่ามีการแฮ็กข้อมูลกัน ถ้าเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นทั่วโลก แล้วเราจะกู้มันได้อย่างไร แน่ละ คุณอาจมีเซิร์ฟเวอร์ ดึงออกมาได้ แต่ถามว่ามันสะดวกไหม มันก็ไม่สะดวก ไม่ดีกว่าหรือถ้าคุณทำทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน ดูตัวอย่างง่ายๆ แค่สิงคโปร์ก็แล้วกัน เขาพัฒนาไอทียิ่งกว่าเราไปตั้งหลายสิบปี แต่ขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็รักษาหนังสือกระดาษไว้ และเผยแพร่อย่างเป็นปกติ”

นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือมาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งบัดนี้อินเดียเป็นหนึ่งในผู้นำเรื่องไอที ล้ำหน้าประเทศต่างๆ ไปมากมาย แสดงว่าประเทศเหล่านั้นมองเหมือนๆ กัน คือ ไม่ไว้ใจสื่อฟากเดียว ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด ซึ่งแตกต่างจากในบ้านเราที่ลมหายใจของสื่อสิ่งพิมพ์กำลังรวยริน

“เหล่านั้นคือประเทศที่พัฒนาจนรุ่งโรจน์ แต่มีอีกกลุ่มคือไอทีก็ไม่เก่งเลย หนังสือพื้นฐานก็ไม่มีเลย นั่นอยู่ในจำพวกประเทศไทย ถามว่าประเทศไทยใช้ไอทีเพื่อพัฒนาชาติไหม ไม่ได้ใช้เลย นอกจากบริษัทเอกชนบางบริษัท แต่ถามว่ารัฐบาลหรือตัวคุณเองได้ใช้ไอทีพัฒนาชาติหรือเปล่า...ก็ไม่

ประเทศไทยเราคิดผิดบางอย่าง เราคิดว่าเมื่อมีไอทีเกิดขึ้น เราก็เหมือนชาติอื่นที่เข้าถึงไอทีหมด จะเข้าถึงอะไรก็เข้าอินเทอร์เน็ตแล้วจะได้ความรู้กลับมา ไม่ใช่ ประเทศอื่นเขาใช้ภาษาอังกฤษ ในอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลกี่ล้านล้านเรื่อง แต่ถามว่าชาวบ้านในไทยเข้าถึงภาษาเหล่านั้นกี่คน พอเข้าใจผิดอย่างนั้น บริษัทที่ให้โฆษณาแก่สิ่งพิมพ์กระดาษทั้งหลายก็เข้าใจเอาว่าไม่มีคนอ่านแล้ว ทั้งที่มีคนต้องการเป็นอันมาก ก็ถอนโฆษณาออกไป สิ่งพิมพ์กระดาษก็อยู่ไม่ได้ 

พอปิดสิ่งพิมพ์กระดาษ เกิดอะไรขึ้นครับ ในร้านทำผมก็ไม่มีแมกกาซีนให้คุณอ่านอีกต่อไป ในโรงพยาบาลในที่สาธารณะทั้งหลายที่เคยมีหนังสือพิมพ์ให้อ่านก็ไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีช่องทางเผยแพร่ความรู้พื้นฐานด้วยวิธีพื้นฐาน ความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละวันของคนก็หมดไป โอกาสที่จะพัฒนาคนเพื่อเอาความรู้ไปพัฒนาชาติก็หมดไป”

หากเป็นดังศิลปินแห่งชาติคนนี้กล่าว ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ความรู้จะกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่ม อาทิ คนที่มีอำนาจ คนที่มีโอกาสเข้าถึงความรู้ และคนเหล่านั้นใช้ความรู้พัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคมของตัวเอง แต่คนที่อยู่ตามชนบท ไม่มีโอกาสเข้าถึงความรู้ ก็จะได้แต่เสพความบันเทิงฉาบฉวย หรือแม้กระทั่งที่เกิดเหตุบ่อยๆ ตามข่าวว่า ชาวบ้านถูกหลอกผ่านอินเทอร์เน็ต ปัญหาการพนันออนไลน์ เป็นต้น

มกุฏ อธิบายว่านี่คือเงาสะท้อนว่า การมีอินเทอร์เน็ตแพร่หลายไม่ได้แปลว่าทำให้ประชาชาติมีความรู้มากขึ้น จนพูดได้ว่า “การล่มสลายของสิ่งพิมพ์ คือการล่มสลายของรัฐบาล และในอนาคตจะเป็นการล่มสลายของระบบความรู้ประเทศชาติ”

160142618185

นอกจากมองในฐานะคนที่คร่ำหวอดในวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์มาเกือบทั้งชีวิต สิ่งหนึ่งที่บรรณาธิการคนนี้ทำมาตลอดคือลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมเพื่อสร้างระบบหนังสือทั่วประเทศ พื้นที่หนึ่งที่เขาบอกว่าเป็นตัวอย่างได้เลยถึงการสร้างคนด้วยการอ่านหนังสือคือที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

“ทุกวันนี้ในชุมชนนั้นมีอะไรบ้าง มีร้านสะดวกซื้อของตัวเอง ซึ่งก่อนจะเป็นร้านสะดวกซื้อ เขาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง พูดถึงความช่วยเหลือกัน พูดถึงนกที่มาช่วยลากเรือของ ดร.ดูลิตเติ้ล ไป เขาก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าในชุมชนของเรา ทุกคนจนหมด ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ก็จะจน ทำไมไม่รวมคนจนเหล่านี้มาช่วยเหลือกัน ในที่สุดก็ตั้งกองทุนของหมู่บ้านขึ้นมา เก็บเงินวันละบาท ถ้าเกิดคุณป่วยก็นำเงินจากกองทุนไปรักษา ถ้าคุณมีลูกตั้งใจเรียนก็นำเงินไปเป็นทุนการศึกษา ด้วยวิธีอย่างนี้เขาพัฒนาได้ ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากไหน จากการอ่านหนังสือ ไม่มีวิธีของราชการที่เป็นสำเร็จรูปหมด ทุกวันนี้คนเหล่านี้เป็นเศรษฐี”

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความรู้อีกมากมายที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตเช่นกัน แต่สิ่งที่พ่วงมาด้วยคือ การเจือปนของ ‘ข้อมูลขยะ’ โดยที่อาจไม่ถูกกลั่นกรอง มกุฏเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ทำให้ความรู้จากสิ่งพิมพ์มีความน่าเชื่อถือกว่าคือ กระบวนการบรรณาธิการ เพราะในโลกออนไลน์ทุกคนมีเสรีภาพ เขียนอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด

“เมื่อมีคนโพสต์บางอย่างขึ้นไป แล้วบังเอิญชาวบ้านที่เขาอยากรู้เรื่องนี้อยู่พอดีก็หยิบมา แต่มีบทความมากมายที่ข้อมูลผิดพลาด ความรู้ผิด หรือมุ่งหวังแต่จะโฆษณาสินค้าของตัวเองก็เลยทำให้ทุกอย่างผิดไปด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ความรู้ในอินเทอร์เน็ตไม่มีใครมารับรอง แต่ความรู้ที่เป็นหนังสืออย่างน้อยที่สุด มีสำนักพิมพ์ มีบรรณาธิการ มีคนเขียน มีชื่อรับรองอยู่ โดยที่ในอินเทอร์เน็ตไม่รู้ว่าไหนชื่อจริงไหนชื่อปลอม แน่ละว่าค้นได้สืบได้ แต่ถามว่าชาวบ้านจะมีปัญญาที่จะค้นจะสืบเพื่ออ่านบทความหนึ่งชิ้นว่าถูกต้องหรือเปล่า ไม่หรอก”

ถึงแม้สิ่งที่ศิลปินแห่งชาติคนนี้กล่าวมาจะเกี่ยวกับคุณค่าของสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เขายืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านอินเทอร์เน็ต เพราะมีประโยชน์มากและจำเป็นต้องมี เพียงแต่ว่าต้องรักษาไว้ทั้งสองฝั่ง เพราะมีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึง หรือเข้าเป็นแต่ไม่ชอบ ในชาติอื่นก็เช่นกัน มิเช่นนั้นห้องสมุดต่างๆ ในชาติที่พัฒนาคงพังพาบ แต่สิ่งที่เป็นประจักษ์คือห้องสมุดยังเต็มไปหมด คนอ่านหนังสือเต็มไปหมด

การตั้งอยู่หรือดับไปของสื่อสิ่งพิมพ์จึงไม่ได้หมายความแค่การหายไปของธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ทางการตลาด แต่ส่งผลต่อระบบความรู้ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่มีการจัดการความรู้ในรูปแบบใหม่อย่างเหมาะสมและเท่าทัน