คิดถึง‘มองโกเลีย’ น่านฟ้าเปิด...ไปเที่ยวกัน

คิดถึง‘มองโกเลีย’  น่านฟ้าเปิด...ไปเที่ยวกัน

คงไม่มีชนชาติใด ขี่ม้าได้งามสง่า ยิ่งธนูได้แม่นยำเท่าคนในประเทศมองโกเลีย เพราะพวกเขามีสายเลือดของนักรบและพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ราบสูง

 หลังจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน  ประเทศเล็กๆ ที่เรียกว่า มองโกเลีย มีผู้ติดเชื้อไวรัสน้อยมาก เนื่องจากรัฐบาลมองโกเลียมีมาตรการที่เข้มงวดตั้งแต่เมืองอู่ฮั่นเกิดโรคระบาด ผู้บริหารประเทศสั่งปิดพรมแดนที่ติดกับจีนทุกจุดและสถานที่สาธารณะต่างๆ ตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาด

มองโกเลียแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ไม่ได้มีความก้าวหน้าเหมือนประเทศแถบตะวันตก หรือมีระบบสาธารณสุขที่ดีเลิศ แต่ผู้นำของเขาสามารถจัดการกับโรคระบาดได้ดี ตัดสินใจได้รวดเร็ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสไม่ถึงหลักร้อย

ดังนั้นเมื่อใดก็ตาม ที่น่านฟ้าเปิดอยากชักชวนคนไทยไปเที่ยวมองโกเลีย เป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ โดยเฉพาะธรรมชาติที่งดงาม และที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมองโกเลียก็ค่อนข้างราบรื่น โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

 

-1-

ว่ากันว่า มองโกเลียเป็นประเทศในทวีปเอเชียไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพรมแดนทางเหนือติดกับรัสเซีย และทิศใต้ติดประเทศจีน มีประชากรน้อยมาก แค่ 3 ล้านกว่าๆ ทั้งๆ ที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย 3 เท่า ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธนิกายวัชรยานแบบทิเบต และคนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงอูลาบาตาร์

พื้นที่ในมองโกเลียเป็นที่ราบสูงร้อยละ 53.4 พื้นที่ภูเขาร้อยละ 20.9 พื้นที่เนินเขาร้อยละ 16.4 แม่น้ำและทะเลสาบร้อยละ 0.8 โดยส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ แต่เพาะปลูกได้ยาก แม้รัฐจะพยายามพัฒนาการเกษตร แต่ก็ยังขยายพื้นที่ได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่มีไว้เพื่อเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้สภาพอากาศ ช่วงฤดูหนาวจะหนาวมาก เรียกว่าหนาวโหดเลยทีเดียว 

    159487977521  

ชนชาตินี้ เคยตกอยู่ใต้การปกครองของจีนถูกยึดอำนาจในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 และถูกปกครองจากหลายราชวงศ์ของจีน จนได้รับเอกราชในปีค.ศ.1921 จากความช่วยเหลือของรัสเซีย แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ จนถึงปีค.ศ. 1990 หลังจากนั้นมองโกเลีย ก็ปกครองตนเองด้วยระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

หากถามว่า ถ้าวางแผนไปเที่ยวมองโกเลีย จะไปไหนได้บ้าง

คนทั้งโลก มักเลือกไปเที่ยวมองโกเลียในช่วงเทศกาลนาดัมวันที่ 11-13 กรกฎาคมของทุกปี เพื่อสัมผัสวัฒนธรรม ชมมวยปล้ำ การขี่ม้า และยิ่งธนู บนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่  โดยเทศกาลนาดัมถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ของชาวมองโกล เทศกาลนี้มีความสำคัญมาก จนทางยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อปี คศ. 2010 

ในอดีตเทศกาลนาดัมจะจัดขึ้นหลังจากชาวมองโกลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเสร็จสิ้น งานนี้จะเป็นการรวมตัวของชนเผ่าต่างๆ ในมองโกเลีย ปัจจุบันจัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติ เมืองหลวงอูลานบาตอร์

 

-2-

เมื่อ 6 ปีที่แล้วมีโอกาสเดินทางไปมองโกเลีย สิ่งที่อยู่ในความทรงจำก็คือ ได้เห็นการขี่ม้าและยิงธนูที่ไม่เหมือนใครในโลก เป็นความสามารถเฉพาะตัวที่อยู่ในสายเลือดของชาวมองโกล เด็กๆ อายุสิบกว่าขวบก็อยู่บนหลังม้าขี่ม้าได้แล้ว โดยไม่กลัวอะไรเลย

ครั้งนั้นเราเดินทางโดยรถไฟทรานส์มองโกเลีย ซึ่งเป็นสายรองของเส้นทางทรานส์ไซบีเรียใช้เวลาเดินทางต่อเนื่อง 29 ชั่วโมง  นั่งจากสถานีรถไฟปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร ภายในรถไฟสะดวกสบายมีห้องนอนเตียงบนและล่างสำหรับ 2 คนและ 4 คน มีตู้เสบียงอาหาร

เส้นทางรถไฟสายหลักไซบีเรียสร้างเมื่อปีค.ศ.1891 สร้างเสร็จในปีค.ศ. 1905 เป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัสเซียสมัยนั้นอยากให้มีการเปิดเส้นทางเพื่อพัฒนาประเทศ และให้คนทั้งโลกได้รู้จักดินแดนหมีขาว

เส้นทางหลักๆ มี 4 เส้น คือ สายทรานส์ไซบีเรีย จากมอสโกไปยังเมืองวลาดีวอสตอค ผ่านทางใต้ของไซบีเรีย ใช้เวลาเดินทาง 7 วัน, สายทรานส์แมนจูเรีย จากตาร์สกายาทรานส์แมนจูเรียไปปักกิ่ง ,สายทรานส์มองโกเลีย จากปักกิ่งไปอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย โดยบรรจบกับสายสายทรานส์ไซบีเรียที่เมืองอูลานอูเด และเส้นทางสุดท้าย สายทรานส์ไซบีเรียไปทางตะวันตกของทะเลสาบไบคาลที่สวยงามและผ่านดินแดนต้องห้ามของรัสเซีย

ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย เชื่อมต่อระหว่างมอสโกของรัสเซีย มองโกเลีย และจีน เป็นเส้นทางที่หลายคนใฝ่ฝันอยากเดินทางแบบนี้บ้าง และเมื่อไรที่น่านฟ้าประเทศต่างๆ เปิด คงได้ไปเที่ยวกัน

  159487898365

-3-

การแข่งขี่ม้าบนที่ราบสูง เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ชาวมองโกลให้ความสำคัญ ต่างจากการขี่ม้าทั่วไป ระยะทางการแข่งขันประมาณ 15-30 กิโลเมตร มีทั้งการแข่งขันกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มเด็ก ไม่จำเป็นต้องมีลู่ขี่ม้า ไม่มีอานม้าเหมือนการขี่ม้าในประเทศตะวันตก หากตกจากหลังม้ามีเพียงหมวกกันน็อคไว้ป้องกันตัว เนื่องจากการขี่ม้าอยู่ในวิถีชีวิตชาวมองโกล ตั้งแต่พวกเขาจำความได้

ตอนไปชมการขี่ม้าบนทุ่งหญ้า ต้องยอมรับว่า เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก นอกจากการขี่ม้าแข่งของผู้ใหญ่ ยังมีกลุ่มเด็กผู้ชาย ในกลุ่มนั้นจำได้ติดตาว่า มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งตกจากหลังม้าถูกเชือกดึงไปรอบๆ แต่เขาก็รอดชีวิตมาได้

ในอดีตชาวมองโกลได้ชื่อว่า เป็นชนชาติที่ใช้ม้าเป็นพาหนะในการต่อสู้ได้เก่งที่สุด เมื่อปี ค.ศ.1162 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการสู้รบอย่างโหดเหี้ยมระหว่างชนเผ่า ชาวมองโกลมีผู้นำชื่อว่าเตมูจิน (Temujin) เกิดในตระกูลขุนศึกเป็นผู้นำสำคัญของชนเผ่า 

เตมูจินใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก อายุเก้าปี บิดาของเขาถูกลอบสังหาร เขาและครอบครัวต้องลี้ภัยออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม เขามีความสามารถในการรบและการทูตสานสัมพันธไมตรีกับชนเผ่าต่าง ๆ ได้ดี

ปี ค.ศ. 1206 เตมูจินสามารถรวบรวมชาวมองโกลเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และได้รับการขนานนามว่า “เจงกิสข่าน” หรือ “จักรพรรดิผู้เกรียงไกร” ในปี ค.ศ. 1211 เตมูจินเริ่มเดินทัพโจมตีปักกิ่ง และได้สังหารชีวิตผู้คนมากมาย หลังจากนั้นได้เดินทัพไปทางทิศตะวันตก และเผาทำลายล้างเส้นทางสายไหม ทำให้ชื่อ “เจงกิสข่าน” ขจรไปไกลถึงตะวันตก

 

-4-

เวลาไปมองโกเลีย บางคนอาจแยกไม่ออกระหว่างคนจีนกับคนมองโกล เนื่องจากมีความละม้ายคล้ายกันมาก ขณะที่คนจีนค้าขาย คนมองโกลส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้า  ซึ่งทุ่งหญ้าที่ไร้ต้นไม้ใหญ่ เรียกกันว่า ทุ่งหญ้าสเตปป์ จะพบเห็นได้มากในมองโกเลีย 

บางแห่งเป็นทุ่งหญ้าแห้งๆ บางแห่งเป็นทุ่งหญ้าป่าผสม ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสถานที่ที่คนมองโกลคุ้นเคย ในอดีตเวลาออกรบ ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด พวกเขาก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้ เพราะความคุ้นเคยที่อยู่กับทุ่งหญ้ามาทั้งชีวิต

ทุ่งหญ้ากับสัตว์เลี้ยงจึงเป็นของคู่กัน ที่เราจะได้พบเห็นทุกที่ในประเทศที่มีสัตว์เลี้ยงกว่า 50 ล้านตัว

อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องพูดถึงคือ กระโจมแบบมองโกล หรือ เกอร์ ที่พักดั้งเดิมของชาวมองโกล เนื่องจากเป็นชนเผ่าเร่ร่อน พวกเขาจึงต้องสร้างที่พักที่เคลื่อนย้ายง่ายเหมาะกับสภาพอากาศ

159488011675 เกอร์ทำจากผ้าใบเคลือบไขมันสัตว์ ในฤดูหนาวพวกเขาจะตั้งเกอร์หลบลมหลังเขา ฤดูฝนย้ายขึ้นที่สูง และฤดูร้อนตั้งอยู่ใกล้ริมธาร

ในอุทยานแห่งชาติที่หนาวเย็น เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้นอนในเกอร์ทรงกลมๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ชาวมองโกลใช้มาหลายทศวรรษ ต้านลมแรงได้ดี  มีเสาสองต้นตรงกลางเพื่อรับน้ำหนัก ด้านบนเป็นโครงไม้โปร่งๆ ไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากในมองโกเลียลมแรง อากาศหนาวมาก ภายในกระโจมมีเตาหินไว้ผิงไฟ โดยช่วงกลางคืนจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาจุดเตาผิงไฟให้ กระโจมแบบนี้จึงนอนได้อุ่นและสบาย ภายในกว้างสามารถ ตั้งเตียงได้ และช่วงเวลาค่ำๆ นักท่องเที่ยวจะเอาเก้าอี้มานั่งล้อมวงหน้าเกอร์ จิบชาร้อนๆ ท่ามกลางความเงียบและหนาวเหน็บ 

ถ้าใครมีโอกาสไปมองโกเลีย รับประกันได้ว่า คุณจะได้ยินเรื่องราวของเจงกีสข่าน วีรบุรุษที่เป็นความภูมิใจของชาวมองโกล เขาเป็นนักรบที่ใช้เวลาอยู่บนหลังม้ากว่า 14 ปี และเป็นนักรบที่มีกุศโลบายการสู้รบไม่เหมือนใคร เขาชอบเกณฑ์ไพร่พลจากประเทศอื่นเข้าร่วมกองทัพ ถ้าเป็นช่างฝีมือ มีความรู้ความสามารถ ก็จะถูกส่งกลับมองโกเลียเพื่อช่วยพัฒนาบ้านเมือง

 

-5-      

ชาวมองโกลส่วนใหญ่นับถือพุทธ นิกายลามะ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทิเบต ยังมีร่องรอยของพุทธศาสนาในมองโกเลีย มีวัดวาอารามให้เห็นบ้าง 

วัดกานดาน พระอารามพุทธมหายานทิเบต เป็นวัดใหญ่ที่สุดของประเทศ สร้างในปี ค.ศ.1835 แต่ในยุคหนึ่งถูกปิด เนื่องจากสตาลินสั่งให้ทำลายวัดทั่วประเทศ รวมถึงกำจัดลามะ แม้ที่นี่จะถูกทำลายไปแล้ว แต่ก็สร้างขึ้นใหม่ โดยใช้ต้นแบบเดิม ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวร สูงถึง 20 เมตร รอบๆ มีกงล้อมนตราให้หมุน เพื่อกำหนดจิตให้นิ่งในการภาวนาทำสมาธิ

      อีกสถานที่ที่มีโอกาสไปชมเพื่อชมทิวทัศน์บนที่ราบสูง ก็คือ อนุสรณ์สถานแห่งการต่อสู้ไซซาน เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเมืองอูลานบาตอร์ทั้งเมือง ที่นี่เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารมองโกเลียที่ร่วมรบกับทหารรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สอง

และที่พลาดไม่ได้คือ จัตุรัสซุคบาตอร์กลางเมือง สร้างขึ้นสมัยโซเวียตรัสเซียเรืองอำนาจ เป็นสถานที่ใหญ่โตมีอนุสาวรีย์วีรบุรุษซุคบาตอร์ ลานหินกว้างใหญ่เหมือนจัตุรัสในรัสเซีย ที่นี่เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่ง เวลามีการจัดงานสำคัญ มักเลือกจัตุรัสแห่งนี้เป็นที่ชุมนุม

    ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสสงบลง คนไทยคงจะได้ไปเยือนมองโกเลียบ้าง

................

ข้อมูลและภาพ : จากทริปการเดินทางกับธนาคารกสิกรไทย “เดอะ พรีเมียร์ เอ็กซ์พีเรียน อิน มองโกเลีย” (THE PREMIER Experience in Mongolia) เมื่อวันที่ 7-14 ก.ค. 57  

159488022554