'ไทย' อันดับ 4 ด้านการวางแผน ความพร้อมรับมือ ควบคุมมะเร็ง

'ไทย' อันดับ 4 ด้านการวางแผน ความพร้อมรับมือ ควบคุมมะเร็ง

มะเร็ง สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คนไทย ความพร้อมรับมือโรคมะเร็งจึงสำคัญทั้งการวางแผน บริการสาธารณสุข และการสนับสนุนจากรัฐ ล่าสุด ไทยมีคะแนนเป็นอันดับ 4 จาก 10 ประเทศเอเปก ด้านนโยบายและการวางแผน จากแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติที่เข้มแข็ง

จากรายงานเรื่อง ความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก : การขับเคลื่อนสู่มาตรการควบคุมโรคมะเร็งฉบับสากล (Cancer preparedness in Asia Pacific: Progress towards universal cancer control) จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit และได้รับการสนับสนุนโด ยบริษัท โรซ จำกัด

โดยวิเคราะห์ความพร้อมของ 10 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม โดยเป็นการสำรวจ เก็บตัวอย่าง และวิเคราะห์ผลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งและระบบสาธารณสุขจากระดับภูมิภาค ซึ่งเจาะประเด็นใน 3 ด้าน สำคัญ คือ นโยบายและการวางแผน การให้บริการและรักษา และระบบสุขภาพและการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของระบบและบุคลากรต่อไป

159430574199

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการสำรวจ พบว่า จากคะแนนเต็ม 100 ประเทศออสเตรเลีย ได้คะแนนรวมสูงสุด อยู่ที่ 90.5 คะแนน รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 81.5 คะแนน มาเลเซีย 78.7 คะแนน ญี่ปุ่น 76.2 คะแนน จีน 69.7 คะแนน ไทย 63.3 คะแนน อินโดนีเซีย 57.4 คะแนน อินเดีย 50.7 คะแนน เวียดนาม 44.5 คะแนน และ ฟิลิปปินส์ 42.6 คะแนน

หากแยกการสำรวจ 3 ด้าน พบว่า “ด้านนโยบายและการวางแผน” อันดับ 1 คือ ออสเตรเลีย 95.8 คะแนน ถัดมา คือ มาเลเซีย 92.3 คะแนน เกาหลีใต้ 86.4 คะแนน ไทย 84.2 คะแนน ญี่ปุ่น 83.1 คะแนน จีน 79.8 คะแนน อินโดนีเซีย 69.4 คะแนน อินเดีย 67.4 คะแนน เวียดนาม 61.4 คะแนน และฟิลิปปินส์ 54.9 คะแนน ตามลำดับ

“ด้านการให้บริการและรักษา” อันดับ 1 ได้แก่ ออสเตรเลีย 88.7 คะแนน ถัดมา คือ มาเลเซีย 80.2 คะแนน เกาหลีใต้ 78.1 คะแนน ญี่ปุ่น 75.5 คะแนน จีน 65.3 คะแนน อินโดนีเซีย 53.0 คะแนน ไทย 52.0 คะแนน อินเดีย 41.5 คะแนน เวียดนาม 35.7 คะแนน และฟิลิปปินส์ 35.5 คะแนน

ขณะที่ “ด้านระบบสุขภาพและการสนับสนุนจากรัฐบาล” อันดับ 1 ยังคงเป็น ออสเตรเลีย 83.4 คะแนน ถัดมา คือ เกาหลีใต้ 78.5 คะแนน ญี่ปุ่น 63.9 คะแนน จีน 58.2 คะแนน มาเลเซีย 48.6 คะแนน ไทย 43.9 คะแนน อินโดนีเซีย 42.1 คะแนน อินเดีย 36.0 คะแนน ฟิลิปปินส์ 32.4 คะแนน และเวียดนาม 28.4 คะแนน

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยมีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการรับมือโรคมะเร็ง คือ การสร้างระบบทะเบียนมะเร็งระดับประชากรเพื่อกำหนดงบประมาณ และค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข ลดช่องว่างให้คนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลังจากนี้คนจะอายุยืนขึ้น ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัย และมะเร็งเป็นโรคคนแก่ ดังนั้น อัตราผู้ป่วยมะเร็งจะสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่ามะเร็งลำไส้จะมาแรง เพราะพฤติกรรมของเด็กยุคใหม่ทั้งการรับประทานอาหารแปรรูป ปิ้งย่าง และความอ้วน

สำหรับข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2561 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง พ.ศ. 2561 มีจำนวน 80,665 คน เป็นเพศชายจำนวน 46,056 คน และเพศหญิงจำนวน 34,609 คน คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 5 อันดับ ได้แก่ มะเร็งตับ 15,912 ราย มะเร็งปอด 14,018 ราย มะเร็งเต้านม 4,469 ราย มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 5,068 ราย และมะเร็งปากมดลูก 2,221 ราย ตามลำดับ