หยุดรับ - หยุดบริจาค 'ไต' ชั่วคราว ลดความเสี่ยง ช่วงโควิด-19

หยุดรับ - หยุดบริจาค 'ไต' ชั่วคราว ลดความเสี่ยง ช่วงโควิด-19

จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของโควิด-19 ทำให้ “การปลูกถ่ายไต” ถูกระงับชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ จากผู้บริจาคสมองตายที่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีประวัติเสี่ยงหรือไม่ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดฉุกเฉินอย่างตับและหัวใจยังคงให้บริการปกติ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะอนุกรรมการปลูกถ่ายไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไตจำนวนมาก ราว 7,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ผ่าตัดได้ราว 600 คนต่อปี แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคนเสียโอกาสพอสมควรเนื่องจากการผ่าตัดหยุดชะงักและการรับบริจาคก็หยุดลง หลายโรงพยาบาลการเดินทางถูกล็อคดาวน์ การขนส่งอวัยวะทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน ต้องหยุดการรับบริจาคอวัยวะในช่วงที่มีการติดเชื้ออย่างกว้างขวางเพราะเกรงว่าคนที่บริจาคอาจเป็นพาหะของเชื้อโควิด-19

“แม้ในสถาการณ์ปกติ ผู้ที่มาบริจาคไตก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้ที่รอรับ เนื่องจากผู้ที่รอปลูกถ่ายประมาณ 7,000 คน แต่มีผู้บริจาคราว 300-400 ราย แบ่งเป็น ยอดบริจาค 60% คือ ผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายซึ่งจะใช้ไตได้ 2 ข้าง และอีก 40% เป็นญาติพี่น้องบริจาคให้กันจะสามารถบริจาคได้เพียงไตเดียว"

“ยกตัวอย่าง หากมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ประสงค์บริจาคอวัยวะ ทางโรงพยาบาลต้องเจาะเลือดดูชนิดของเนื้อเยื่อไต และส่งข้อมูลไปที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อให้ดูความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ ว่าตรงกับผู้รอรับบริจาคคนใด คนนั้นก็ได้รับการปลูกถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เฉลี่ยระยะเวลารอประมาณ 4 ปี บางคนรอ 6 เดือน หรือบางคนรอถึง 10 ปี แต่หากเป็นญาติพี่น้องส่วนใหญ่จะสามารถบริจาคได้เลยเพราะเนื้อเยื่อใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การรับบริจาคไต ต้องปลูกถ่ายภายใน 24 ชั่วโมง และพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 1 – 2 สัปดาห์” 

158808150115

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน โรงพยาบาลที่สามารถปลูกถ่ายไตได้มีราว 20 แห่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และโรงพยาบาลศูนย์ เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ ตามต่างจังหวัด โดยการรักษาโรคไตในปัจจุบัน สามารถเบิกได้ทุกสิทธิการรักษา สำหรับรามาฯ ถือเป็นศูนย์ใหญ่ ที่ทำการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศรวมกว่า 2,500 คน หรือ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตในประเทศไทย ผ่าตัดราว 180 ไตต่อปี หรือเดือนละประมาณ 15 คน”

“ขณะนี้ เรื่องของการบริจาคอวัยวะ และการปลูกถ่ายเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยทางรามาฯ วางแผนว่าจะเปิดให้บริการปลูกถ่ายไตในเดือนหน้า เพราะแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มดีขึ้น คิดว่าการบริการทางการแพทย์ด้านอื่นๆ น่าจะค่อยๆ กลับมาสู่ปกติ ตอนนี้นอกจากผ่าตัดไต ผู้ป่วยผ่าตัดอื่นๆ เช่น เข่า ไส้เลื่อน นิ่ว ก็ถูกเลื่อนออกไปเช่นกัน ดังนั้น หลายโรงพยาบาลก็รอสัญญานจากทางกระทรวงสาธารณสุข หากสถานการณ์ดีขึ้น คาดว่าน่าจะค่อยๆ ปลดล็อคทีละนิด ให้บริการด้านอื่นๆ เหมือนเดิม ไม่เช่นนั้นคนไข้ก็ต้องรอ ผ่าตัดไม่ได้” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

  • เคสด่วนตับ-หัวใจ ยังปลูกถ่ายปกติ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนไต จะต้องกินยากดภูมิตลอดชีวิต เรื่องยากดภูมิสำคัญมาก การขาดยาแค่เดือนเดียวมีผลทำให้ไตเสีย ยาเหล่านี้ซื้อไม่ได้ ร้านขายยาไม่ขาย รับจากโรงพยาบาลอื่นก็ไม่ได้ ดังนั้น ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยบางคนมาไม่ได้ เนื่องจากถูกกักตัว รถโดยสารและเครื่องบินชะลอการเดินทาง ทางรามาฯ และโรงพยาบาลหลายแห่ง จึงมีบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ครั้งละ 3 เดือน หลังจากนั้นคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะดีขึ้น แต่หากยังไม่ดีขึ้นก็ทำเรื่องเข้ามาขอเพิ่มอีก 3 เดือน

“อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายไต ระหว่างนั้นจะมีการฟอกเลือด ล้างไตทดแทน จึงถือว่าไม่ได้ด่วนมาก ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดจะแข็งแรงมากในช่วง 2 ปีแรก หากรอนานไปร่างกายจะทรุดโทรมลง 5 – 10 ปี ร่างกายจะไม่ค่อยดีเริ่มอ่อนแอ แต่ผู้ป่วยโรคอื่นที่น่ากังวลกว่า คือ “ตับวาย” รอไม่ได้เลยต้องได้รับการผ่าตับรวดเร็ว หากรอนานเกิน 1 เดือนผู้ป่วยจะไม่รอด เพราะไม่มีเครื่องล้างตับ และ “หัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย” หากไม่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจภายใน 1 เดือนส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ดังนั้น หัวใจ กับ ตับ เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ หากมีผู้บริจาคตับและหัวใจที่ยังใช้ได้ดี ทางโรงพยาบาลก็ยังคงผ่าตัดปลูกถ่ายอยู่ไม่มีการหยุด” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว  

  • แนะผู้ป่วยปลูกถ่ายไตระวังเชื้อโควิด

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ แนะว่า สำหรับในช่วงนี้แนะนำให้ผู้ป่วยโรคระมัดระวังตัว เนื่องจากผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตทั่วประเทศซึ่งมีราว 5,000 คน เป็นผู้ป่วยที่ต้องทานยากดภูมิตลอดชีวิต หากหยุดยาเมื่อไหร่ร่างกายจะมองว่าไตเป็นสิ่งแปลกปลอม ภูมิต้านทานจะไปทำลายไต ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงภูมิต้านทานต่ำ เพราะฉะนั้น โอกาสติดเชื้อโควิด-19 และอาการรุนแรงจะมากกว่าคนปกติ ภูมิสู้ไม่ได้เชื้อจะลงปอดทำให้เป็นปอดบวมได้ง่าย ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ อยู่ห่างจากคนอื่น 2 เมตร อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย ถ้ามีอาการผิดปกติ ไข้ ไอ ให้รีบพบแพทย์ แต่คนที่บริจาคไตทั่วไป ในเดือนหน้าหากไม่มีอาการสามารถมาบริจาคได้

“ปัจจุบัน ยังมีผู้บริจาคไตจำนวนน้อยมาก หากมองว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ราว 600 คนต่อปี หากทุกคนบริจาคจะสามารถช่วยชีวิตคนได้อีกกว่า 1,200 คน นอกจากนี้ 1 คน ยังสามารถช่วยคนได้อีกกว่า 7-8 ชีวิต เพราะสามารถบริจาคได้ทั้งหัวใจ ดวงตา ตับ ไขกระดูก ฯลฯ” 

ผศ.นพ.สุรศักดิ์  อธิบายต่อไปว่า สำหรับผู้ที่มีชีวิตที่บริจาคไตไปข้างหนึ่ง การใช้ชีวิตหลังจากนั้นจะยังเหมือนเดิม โอกาสภูมิต้านทานต่ำไม่มีเพราะไม่ได้กินยากดภูมิ การติดเชื้อต่างๆ ไม่รุนแรง สุขภาพดี อายุยืนเท่าคนทั่วไป โรคไตจะมีมากขึ้นกว่าคนปกติไม่ถึง 1% ต้องระวังเล็กน้อยเรื่องความเสี่ยง เช่น ไม่ให้เป็นโรคอ้วนเพราะคนอ้วนจะเป็นเบาหวาน ความดัน โรคไต ได้ง่าย ไม่กินเค็ม ทำให้ความดันขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดไตวาย ระวังการทานยาที่เป็นพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวด ดื่มน้ำมากๆ วันละ 8 – 10 แก้ว ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หากปฏิบัติตัวตามนี้ได้ก็จะมีชีวิตเหมือนคนปกติ มีลูก มีครอบครัวได้

กรณีผู้ป่วยที่ไม่ได้ปลูกถ่ายไตจนเสียชีวิต มีบ้างในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้น ผ่าตัดไม่ไหวเพราะมีโรคร่วมเยอะ เช่น หัวใจ เบาหวาน ก็ต้องฟอกเลือดไปเรื่อยๆ มีโรคแทรกซ้อน เช่น เป็นเบาหวานและมีโรคแทรกซ้อน คือ หัวใจ เส้นเลือดสมองแตก/ตีบ หรือติดเชื้อ ภูมิต้านทานไม่ดี แต่หากเป็นผู้ป่วยอายุน้อยราว 40 ปี แนะนำให้เปลี่ยนไต จะทำให้มีคุณภาพชีวิตดี สุขภาพแข็งแรง ไปทำงานและเป็นกำลังของสังคมได้” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ด้าน สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตทั้งผู้ป่วยฟอกเลือด ล้างไตช่องท้อง และปลูกถ่ายไต ราว 1 แสนราย รวมถึงกลุ่มผู้ดูแล ทีมแพทย์ ทีมพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมในเครือข่าย

ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ในแต่ละปี มีผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้รับไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายราว 300 ราย และ กลุ่มที่ 2 ได้รับบริจาคไตจากญาติ ราว 300 ราย รวมแล้วราว 600 รายต่อปี เนื่องจากผู้บริจาคอวัยวะน้อย ทางภาครัฐและเครือข่ายผู้ป่วยพยายามเดินหน้าช่วยกันให้ข้อมูลกับญาติ และทำโครงการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมบริจาคอวัยวะ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปลูกถ่ายไต กลับไปมีชีวิตใหม่ และใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด

158808150230

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทุกหน่วยบริการที่รับการปลูกถ่ายหยุดให้บริการทั้งหมด ขณะเดียวกัน การรับบริจาคไต จากผู้บริจาคที่เกิดภาวะสมองตาย เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขามีเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เขาอาจจะมีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ พอนำมาใส่ผู้ที่รอรับอวัยวะ ซึ่งร่างกายอ่อนแออยู่แล้วและต้องทานยากดภูมิ จะทำให้ผู้รับมีภาวะโรคแทรกซ้อนและอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ทางสภากาชาดไทย จึงต้องชะลอการปลูกถ่ายไว้ก่อน ยกเว้นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ตับ หัวใจ ยังคงให้บริการในกรณีเร่งด่วน” ธนพลธ์ กล่าว 

  • หยุดปลูกถ่ายเพื่อความปลอดภัย

นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย อธิบายต่อไปว่า การปลูกถ่ายไตต้องหยุดเพราะเสี่ยง ดังนั้น หยุดแบบนี้ดีกว่า เพราะ หนึ่ง คือ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิต สอง อาจต้องใช้ยาเพิ่มและเพิ่มภาระด้านงบประมาณ เราต้องคิดเป็นกลางว่าทุกคนไม่ได้รับเหมือนกัน ทุกคนต้องยอมรับความจริงว่ามีสถานการณ์แบบนี้ หากเสี่ยงแล้ว เกิดภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตก็ไม่คุ้ม

“ส่วนตัวรับบริจาคไตมาจากผู้ที่มีภาวะสมองตายเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา หากร่างกายพร้อมอย่างไรก็ได้ บางคนได้ไตเร็ว บางคนใช้เวลา 3 – 4 เดือน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกาย ต้องดูแลตัวดีๆ รวมถึงการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์อย่างละเอียดว่าเนื้อเยื่อ เลือด ใกล้เคียงกับใครมากที่สุด การรอรับอวัยวะ ต้องทำใจให้สบาย ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลเคยเรียกเปลี่ยนไตเดือนเดียว 3 ครั้ง และถูกเรียกอันดับ 1 ทั้งสามครั้ง แต่หากร่างกายเราไม่พร้อม เข้าห้องผ่าตัด ผลตรวจเลือดออกมาพบว่าเม็ดเลือดขาวต่ำ ผ่าตัดไม่ได้ ก็ต้องยอมให้คนต่อไป”

ทั้งนี้ ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยโรคไตต้องดูแลตัวเองมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า เนื่องจากร่างกายอ่อนแอกว่าคนปกติ ภูมิต่ำ ความเข้มข้นของเลือดต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ทุกคนต้องดูแลตัวเองมากๆ และอยู่ภายใต้ กฎ กติกาตามที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนด ปัญหาจะไม่ตามมา แต่คนเรามักไม่ตระหนัก และพอไม่ตระหนักไม่ว่าจะเป็นภาวะโรคระบาดหรือเข้าสู่ภาวะปกติ คนเราก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม เบาหวาน ความดัน ก็จำกัดไม่ได้ อาหารการกินทุกคนก็ไม่สามารถจัดการได้ อาหารที่ขายตามท้องตลาดก็เค็มเหมือนเดิม คนก็ป่วยเหมือนเดิม ดังนั้น เราจึงพยายามขับเคลื่อนในหลายเรื่อง เช่น ลดหวาน ลดเค็ม เพราะเราไม่อยากเห็นใครต้องมาป่วยเหมือนเรา” ธนพลธ์ กล่าว

ดูแลเครือข่ายทั่วประเทศ ช่วงโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ ภารกิจของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นอกจากการดูแลเรื่องสิทธิการรักษา แนะนำเรื่องอาหาร และเผยแพร่ข้อมูลที่ประชาชนเข้าไม่ถึงทางโซเชียลมีเดียเป็นหลักแล้ว ยังช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ และการเข้าถึงบริการในช่วงโควิด-19 ระบาด

ธนพลธ์ กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ทางสมาคมฯ จะส่งข้อมูลความรู้เรื่องจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวัน อัพเดทสถานการณ์ให้เพื่อนสมาชิกเครือข่ายทราบผ่านทางเฟซบุ๊ค และมีไลน์กลุ่มใหญ่ทั้งกลุ่มที่รวมสมาชิก และกลุ่มกรรมการบริหารสมาคมแต่ละภูมิภาค เพื่อส่งข้อมูลช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ ทุกคนต้องเข้าถึงบริการ ต้องได้รับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามความเหมาะสม เช่น หน้ากกาอนามัย แอลกอฮอล์เจล ซึ่งทางสมาคมได้ทำหนังสือไปทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขอความอนุเคราะห์ แอลกอฮอล์เจลให้สมาชิกในเครือข่ายราว 1 หมื่นขวด โดยให้ อภ. จัดส่งพร้อมกับน้ำยาล้างไต

“รวมถึง การสนับสนุนจากบริษัทผลิตน้ำยาล้างไตในประเทศไทยที่มีอยู่ 2 บริษัท ช่วยเติมอุปกรณ์ป้องกันโควิดเหล่านี้ เช่น แอลกอฮอล์เจล และหน้ากากอนามัย จัดส่งไปพร้อมกับน้ำยาล้างไต และกลุ่มนายทุนที่เป็นเพื่อนๆ ในเครือข่าย ยังได้บริจาคแอลกอฮอล์เจลมาให้จำนวน 2 ตัน ซึ่งเราได้จัดสรรแบ่งใส่ขวดและจัดส่งให้กับหน่วยบริการเพื่อแจกจ่ายต่อไป”

ธนพลธ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากเรามีเครือข่ายทั่วประเทศ ทำให้รู้ความเคลื่อนไวของสมาชิกทั้งหมด ในช่วงที่ประกาศเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม - ตี 4 ซึ่งอาจกระทบต่อการเดินทางของเครือข่ายในช่วงรอยต่อแต่ละจังหวัด เราพยายามทำหนังสือ ชี้แจงไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยผู้ว่าฯ สั่งการไปแต่ละอำเภอ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ว่าจะโรคไต หรือโรคเรื้อรังต่างๆ ต้องสามารถเดินทางเข้ารับบริการกับหน่วยบริการได้ รวมถึงพูดคุยกับหน่วยบริการเพื่อให้ออกใบรับรองแพทย์ว่าเขาเป็นผู้ป่วยจริงและต้องมีคนมาด้วยจริง

“รวมถึงกรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเหตุให้ต้องหยุดการเดินรถสาธารณะ เช่น รถไฟ รถตู้ ในบางเส้นทาง ทางเราได้ประสานไปที่โรงพยาบาลจังหวัด เพื่อให้ประสานไปยังโรงพยาบาลอำเภอ รพสต. และอบต. เพื่อจัดส่งผู้ป่วยมายังหน่วยบริการที่ให้บริการล้างไต หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ ไม่มีเงินเพราะไม่มีงานทำ พยายามแก้ปัญหาให้ทางสมาชิกเพื่อลดผลกระทบจากการเดินทาง และพยายามช่วยเหลือให้ครบวงจร” ธนพลธ์ กล่าว

158808150134