'เรียนออนไลน์' อย่างไรให้รอด? ในยุคโควิด-19

'เรียนออนไลน์' อย่างไรให้รอด? ในยุคโควิด-19

จากนี้ไป “การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทุกระดับของไทย”จะจัดการเรียนการสอนออนไลน์แบบ100% เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากเดือนพ.ค.ออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.

เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศและทั่วโลก กระทรวงศึกษาธิกา จึงได้เตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

โดยจะสำรวจความต้องการของครูและนักเรียนและโรงเรียนก่อนว่าต้องการแท็ปเล็ตหรือไม่? อย่างไร?เสียก่อนค่อยดำเนินการ ออนแอร์การเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบทีวีดิจิทัล เพื่อให้เด็กปรับตัวกับการเรียนและทดลองสัญญาณในการออกอากาศในเดือนพ.ค.นี้ 

อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนในสังกัดสพฐ. และโรงเรียนสังกัดต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียน และจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สพฐ.มีโรงเรียนในสังกัดกว่า 30,000 แห่ง

158695171197

แบ่งการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เนื่องจากเด็กแต่ละช่วงชั้น แต่ละกลุ่มจะมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์จะจัดเหมือนกันไม่ได้ จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือ คัดเลือกเนื้อหา บทเรียนนำเสนอด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็กให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ต้องเตรียมพร้อมหลายเรื่อง ทั้งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน สื่อที่นำมาใช้ และที่สำคัญคือการพัฒนา ทำความเข้าใจกับครูผู้สอน เพราะการเรียนออนไลน์แตกต่างจากการเรียนในชั้นเรียน สพฐ.เตรียมสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ เตรียมครูผู้สอนในการใช้สื่อ ออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสม 

158695140135

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอช่องทีวีดิจิทัล 1 ช่อง สำหรับการเผยแพร่การจัดการเรียนการสอนของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผ่านช่องทางดังกล่าว

ปัจจุบันมีผู้เรียนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว หากได้ช่องทีวี 1 ช่อง เด็กกลุ่มนี้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ และเป็นการเรียนผ่านทีวีดิจิทัลแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ ในส่วนชั้นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จะมอบให้ครูเก่งทั่วประเทศจัดทำสื่อการเรียนการสอน และนำมาใส่ไว้บนเว็บไซต์ของ สพฐ.ผ่านช่องทางObec Channel ที่เป็นแพลตฟอร์มของ สพฐ.เพื่อให้เด็กได้เข้าไปเรียนรู้

นอกจากนั้น สพฐ.ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น Obec Content Center ซึ่งจะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โดยแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนทั้งหมดของครู โดยให้ครูและนักเรียนดาวน์โหลดดูเนื้อหาการเรียนการสอนได้ผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ทางสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์ของสพฐ.อีกทั้งได้รวบรวมวิธีการสอนของครูที่สอนเก่งจากทั่วประเทศให้มาเป็นต้นแบบแก่ครูคนอื่นๆ

158695139536

 การแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ถึงจะเป็นปรับวิถีชีวิตของคน แต่ก็ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการศึกษา รวมถึงมิติการสอนของครู ความพร้อมของครู บทเรียน เนื้อหา รูปแบบ อุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้ ที่สำคัญยังเป็นการวัดความรับผิดชอบ วินัยของเด็กไทยได้อีกด้วยว่าเมื่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้บีบบังคับให้ต้องเรียน พวกเขาจะเป็นเช่นใด?

เรียนให้มีคุณภาพเท่าในโรงเรียน

สุธี อัสววิมล หรือพี่โหน่ง อาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ที่ออนดีมานด์ และ Co-Founder Learn Corporation กล่าวว่าการเรียนออนไลน์ เป็นประเด็นที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงโควิด-19 เนื่องจากทุกคนต้องอยู่ที่บ้าน รวมถึงเด็กและครู ดังนั้น จากเดิมเด็กไปโรงเรียน ไปเรียนตามสถานที่ต่างๆ แต่ตอนนี้ต้องเรียนผ่านหน้าจอโน้ตบุ๊ค แท็ปเลต มือถือ และต้องเรียนที่บ้าน ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ของเด็กแตกต่างไปจากเดิม ไม่ได้ถูกบังคับให้เรียน เพราะสภาพแวดล้อมไม่ใช่ชั้นเรียน แต่เป็นที่บ้าน หรือสถานที่ใดๆ ก็ได้

ทั้งนี้ การเรียนออนไลน์ให้มีคุณภาพ ต้องทำให้การเรียนรู้เทียบเท่ากับการไปเรียนในโรงเรียน โดยต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและน้อยกว่า โดยเฉพาะเรื่องเวลาที่น้อยกว่าในการเดินทาง เพราะเด็กไม่ต้องเดินทางไปไหน พวกเขาเรียนได้ที่เรียน ซึ่งออนดีมานด์ ได้มีการเรียนการสอนออนไลน์มากกว่า 2 ปี และได้มีการสำรวจมา 3-4 ปี พบว่าการเรียนออนไลน์สามารถทดแทนการเรียนในชั้นเรียนได้ 100% 

โดยแยกเด็กได้เป็นกลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถควบคุมตนเองได้ หรือไฟลนก้น ช่วงเวลาที่พวกเขาต้องเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย สัปดาห์สุดท้ายก่อนสอบกลางภาค พวกเขาจะถูกสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้เกิดพลังโฟกัสอยากเรียนรู้มหาศาล ขณะเดียวกันเด็กอีกกลุ่ม ช่วงจังหวะที่พวกเขา ทำหรือไม่ทำก็ได้ และกลุ่มสุดท้าย เด็กไม่สนใจการเรียน เพราะมีสิ่งเร้าอื่นๆ เช่น ยูทูป หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ดึงดูดเขาได้มากกว่าแล้วจะไม่ได้ผล เพราะเด็กๆ จะฟังเรื่องต่างๆ ได้ไม่มาก

158695139912

“การเรียนการสอนออนไลน์ ต้องประกอบด้วย เนื้อหาที่แยกย่อยให้เข้าใจง่าย ครูผู้สอนที่ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอด จูงใจ และมีโปรดักชั่นในการนำเสนอสื่อให้มีแรงดึงดูด รวมถึงขนาดตัวอักษร สีตัวอักษร ที่สำคัญเด็กจะเรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้เพียงประมาณ 40 นาที เพราะถ้ามากกว่านั้นพลังโฟกัสของเด็กจะน้อยลง ดังนั้น การเรียนการสอนออนไลน์ ต้องมีอุปกรณ์ มีการกำหนดทุกอย่างไว้อย่างชัดเจน และแต่ละวิชา บทเรียนจะแตกต่างกันได้” พี่โหน่ง กล่าว

ครู ผู้สอน ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ต่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ พี่โหน่งกล่าวต่อว่าหลายคนอาจมองว่าเพียงขึ้นวิดีโอไปในออนไลน์ก็เป็นการเรียนออนไลน์แล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ การเรียนการสอนออนไลน์ ต้องมีการวัดผล ให้เด็กทำการบ้านและต้องมีโปรแกรมตรวจสอบถูกต้อง 

158695140055

 ที่สำคัญต้องมีครูที่เข้าใจเนื้อหา รู้จริง เก่ง มีความรู้สูง มีจิตวิญญาณความเป็นครู รักเด็ก และต้องพัฒนาตัวเอง มองว่าอาชีพครูต้องมีทักษะการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเจอกับอะไร เด็กในรูปแบบไหน ต้องเข้าใจลักษณะเด็กแต่ละกลุ่ม ช่วงอายุ ครูที่ดีต้องฟังเก่ง ต้องตีความ ต้องมองโลกเป็น และมีทักษะในการฟัง

 “หัวใจ คือครูต้องดูแลเด็ก ไม่ใช่มองว่าการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องร้าย เพราะครูไม่ได้ดูแลเด็กและสอนน้อยลง แต่หน้าที่ของครูต้องทำให้เกิดความสุข สนุก อยากเรียนรู้สม่ำเสมอ และกระตือรือร้นในสิ่งที่จะเรียนรู้ แม้ว่าการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กยุคนี้ แต่การเรียนที่เหมาะกับแต่ละคน ช่วงอายุ ช่วงปีต้องแตกต่างกัน ซึ่งนอกจากครูแล้ว พ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญในการเฝ้าดูแลลูกระหว่างเรียน ชักชวนให้ลูกเรียนและเชื่อมั่นว่าพวกเขาเรียนได้แม้จะไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้”อาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ที่ออนดีมานด์กล่าวทิ้งท้าย