เช็คอีกที! อาการป่วย 'COVID' แตกต่างจากอาการไข้ทั่วไป

เช็คอีกที! อาการป่วย 'COVID' แตกต่างจากอาการไข้ทั่วไป

หากมีไข้หรือเป็นหวัด อย่าเพิ่งฟันธงว่าเป็น "COVID-19" และไม่ควรตื่นตระหนกจนมากเกินไป ให้เฝ้าระวังและเช็คอาการให้ชัวร์ก่อนไปพบแพทย์ โดยหากป่วยเป็นไข้โควิด-19 จริง จะมีอาการหลักๆ ที่ชัดเจนและแตกต่างจากไข้แบบอื่น

สถานการณ์การระบาดของ "COVID-19" ในเมืองไทยเริ่มหนักขึ้น เมื่อวันนี้ (16 มี.ค.) กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่ามีผู้ติดเชื้อภายในวันเดียวเพิ่มมากถึง 33 คน ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 147 คน แถมพื้นที่การระบาดก็ขยายวงกว้างมากขึ้น จากเดิมระบาดแค่ในกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ลามไปถึงต่างจังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา แล้ว

แน่นอนว่าเมื่อกระทรวงสาธารณสุขแถลงว่ามียอดผู้ติดเชื้อในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นจำนวนมากในวันเดียว ก็ทำเอาประชาชนคนไทยแพนิคไปตามๆ กัน ขนาดคนที่ไม่ป่วย (และไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง) ก็เริ่มจิตตกแล้วว่าตัวเองมีอาการผิดปกติมั้ย? ตัวรุมๆ แบบนี้จะมีไข้มั้ย? ต้องไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลหรือเปล่า? ตรงนี้ต้องบอกให้ทราบกันอีกทีว่าหากคุณมีอาการป่วย เช่น มีไข้ มีน้ำมูก จาม ฯลฯ ไม่ใช่จะฟันธงได้ทันทีว่าติดโรค "COVID-19" เพราะอาจจะเป็นอาการป่วยจากโรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ หรือไข้จากโรคอื่นๆ ก็ได้

ชวนคนไทยมาเช็คอาการป่วยจากการติดโรค "COVID-19" กันให้ชัวร์ๆ อีกที ว่าหากติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะมีอาการอย่างไร และแตกต่างจากอาการไข้แบบอื่นๆ อย่างไรบ้าง

  • อาการไข้จากโรค "COVID-19" 

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยจะแสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไม่ว่าจะเป็น การคัดจมูก เจ็บคอ ไอ และมีไข้ บางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการปอดบวมหรือหายใจลำบากร่วมด้วย บางรายก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ 

มีไข้ (88%), ไอแห้งๆ (68%), ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย (38%), ไอมีเสมหะ (33%), หายใจลำบาก (18%), เจ็บคอ (14%), ปวดหัว (14%) 

ทั้งนี้หากมีน้ำมูกไหลอย่างเดียว ไม่มีไข้ ไม่หอบเหนื่อย ก็ไม่ใช่อาการป่วยจากโควิด-19   ส่วนอาการที่เข้าข่ายและมีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นโรค "COVID-19" คือ ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง อาการหอบเหนื่อย และหายใจลำบาก   ถ้ายังไม่ชัวร์แนะนำให้อ่านและศึกษาอาการป่วยโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตร 'COVID' 101 รู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ฉบับรวบรัด

ล่าสุด.. มีข้อมูลจากเพจ Drama Addict ระบุว่า หากประชาชนที่มีอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ แล้วไม่แน่ใจว่าตัวเองติดโรค "COVID-19" หรือไม่นั้น "..แนะนำให้พ่อแม่พี่น้องใช้เว็บแอปฯ ตัวนี้ของราชวิถีแล้วกรอกข้อมูลลงไปตามข้อเท็จจริง จะช่วยประเมินได้ว่า เรามีความเสี่ยงแค่ไหน ควรไปหาหมอหรือยัง หรือยังดูอาการตัวที่เองที่บ้านได้ อย่าเพิ่งแห่กันไปโรงพยาบาลทีละเยอะๆ เพราะถ้าโรงพยาบาลมีจำนวนคนแออัดมาก ก็จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ ดังนั้นขอให้พี่น้องไปเมื่อจำเป็น แล้วเมื่อไหร่ที่จำเป็น ลองใช้แอปกันได้เลย >> http://rajavithi.emergencymed.net/corona/

158435233167

158435233189

  • อาการไข้จาก ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ 

ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) และ ไข้หวัดใหญ่ (Flu) ต่างก็เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่แตกต่างกันที่ชนิดของไวรัส โดยไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดได้จากไวรัส Rhinoviruses และ Coronaviruses ที่เป็นสาเหตุร้อยละ 10-15 ส่วนไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากไวรัส Influenza A และ Influenza B 

อาการของไข้หวัดธรรมดา: ไข้ต่ำๆ คัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม เจ็บคอ คอแดง ทอนซิลอาจบวมแดงแต่ไม่มีหนอง ไอเล็กน้อย ปวดหัวเล็กน้อย และอาการทั่วไปมักไม่รุนแรง และหายได้เอง

อาการของไข้หวัดใหญ่: เกิดอาการทางจมูกและคอได้บ้างในบางครั้ง แต่จะมีอาการเด่นชัด คือ มีไข้สูงลอย (37.8-39.0 องศาเซลเซียส) ไข้สูงแบบทันทีทันใด มีอาการปวดหัวหนัก ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว อ่อนเพลียอย่างมาก อีกทั้งยังพบอาการไอที่รุนแรงร่วมกับอาการเจ็บหน้าอกด้วย (ใกล้เคียงกับอาการของโรค "COVID-19" ต้องให้แพทย์วินิจฉัย)

158434880713

  • อาการจากโรคภูมิแพ้ แพ้อากาศ

ในกรณีของการแพ้อากาศนั้น ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยเอง ซึ่งทำงานตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่สามารถพบได้จากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น ฝุ่น อากาศเย็น อากาศร้อน และละอองเกสร ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาการส่วนใหญ่ คือ จาม น้ำมูกไหล คันยุบยิบๆ บริเวณตา จมูก แต่ไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ ไม่เหนื่อยหอบ

  • อาการไข้จากโรค ไข้เลือดออก 

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ แต่จะเบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้

อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำพบตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือในรายที่อาการหนักอาจเกิดภาวะช็อกได้ 

-----------------------

ที่มา :

https://www.facebook.com/DramaAdd/?

https://www.who.int/thailand/health-topics/coronavirus

https://tmc.or.th/pdf/tmc_knowlege-26.pdf

https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13

http://www.boe.moph.go.th/fact/Dengue_Haemorrhagic_Fever.htm

https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/399/