จาก 'โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่' ย้อนรอยมาตรการไทย ในวันที่ 'ไวรัสข้ามพรมแดน' '

จาก 'โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่' ย้อนรอยมาตรการไทย ในวันที่ 'ไวรัสข้ามพรมแดน' '

“ห้ามคนไม่ให้เดินทางไม่ได้เช่นไร ก็ห้ามไวรัสไม่ให้แพร่ระบาดข้ามแดนไม่ได้เช่นนั้น” ประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการรับมือครั้งใหญ่กับการแพร่ระบาดของโรคจากพื้นที่อื่นอย่างน้อย 5 ครั้งและกรณี “ปอดอักเสบ” ที่กำลังระบาดอยู่ในเมืองอู่ฮั่นเป็นครั้งที่ 6

 

  • ปี 2545 : โรคซาร์ส

ช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้รายงานผู้ป่วยและเสียชีวิต 1 ราย คือ นพ.เออร์บานี่ คาร์โล่ (Dr.URBANI CARLO) ชาวอิตาลี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำองค์การอนามัยโลก โดยเดินทางกลับจากการสอบสวนโรคไวรัสซาร์ส ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามแล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อรักษาตัวจากอาการติดเชื้อจากโรคดังกล่าวที่สถาบันบำราศนราดูร ก่อนที่จะเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่ประจำองค์การอนามัยโลก เดินทางกลับจากการสอบสวนโรคไวรัสซาร์ส
ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม แล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
เพื่อรักษาตัวจากอาการติดเชื้อจากโรคดังกล่าวที่สถาบันบำราศนราดูร ก่อนที่จะเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นสธ.มีการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอย่างเข้มข้น โดยได้ออกประกาศ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องกัน ได้แก่

1.หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่ของเขตระบาดโรคนี้ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเวียดนาม จนกว่าสถานการณ์ของโรคนี้จะยุติลง

2.กรณีที่จำเป็นจะต้องเดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวขอให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการหวัด

3.กรณีที่เดินทางกลับมาจากเขตแพร่ระบาดของโรค หากมีอาการเป็นไข้หวัดควรรีบไปตรวจรักษา ระหว่างนี้ไม่ควรคลุกคลีกับบุคคลภายในครอบครัว จนกว่าจะตรวจและไม่พบการติดเชื้อ

4.หาก สธ.เห็นว่ามีผู้โดยสารเข้าประเทศรายใดรายหนึ่งรวมทั้งกลุ่มบุคคลที่เดินทางมาพร้อมกัน อาจจะมีอาการติดโรคดังกล่าว ก็จะกักตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นไว้เพื่อดูอาการ และ 5.ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อเป็นการป้องกัน

  • ปี 2546 : ไข้หวัดนก

ช่วงเวลาดังกล่าวมีรายงานข่าว “โรคระบาดไก่ ที่สงสัยจะเป็นไข้หวัดนก” ที่ฟาร์ม เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย บริเวณ บึงบอระเพ็ด อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งระยะแรกรัฐบาลขณะนั้นไม่ยอมรับว่า พบไข้หวัดนกในประเทศไทยจริง แต่ด้วยการยืนหยัดให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนของนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศ แม้จะถูกต่อว่าอย่างรุนแรงว่า “บ้า ทำลายประเทศ” แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องออกมายอมรับว่าพบ “ไข้หวัดนก” ในไทย มีไก่ตายเป็นไก่ไข่ราว 10 ล้านตัว ไก่เนื้อ 160-200 ล้านตัว และเกิดมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดต่างๆตามมา

การควบคุมโรคในสัตว์มีการทำลายไก่ไปกว่า 30 ล้านตัว ขณะที่การเฝ้าระวังโรคในคน สธ.เฝ้าระวังผู้น่าจะเป็นไข้หวัดนก โดยมีอาการปอดบวม มีประวัติสัมผัสกับไก่ และส่งผลตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการว่า มีเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 หรือเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ หากติดเชื้อจะให้ยารักษา ไม่ต้องกักบริเวณคนไข้และคนใกล้ชิด เพราะไม่ติดจากคนสู่คน คนที่ติดคือ คนที่สัมผัสไก่ มูลไก่ น้ำมูก น้ำลาย น้ำเลือด น้ำเหลือง ติดคนที่อ่อนแอ

ด้วยการยืนหยัดให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนของนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศ
แม้จะถูกต่อว่าอย่างรุนแรงว่า “บ้า ทำลายประเทศ” แต่ท้ายที่สุดรัฐบาล
ก็ออกมายอมรับว่าพบ “ไข้หวัดนก” ในไทย
มีไก่ตายเป็นไก่ไข่ราว 10 ล้านตัว ไก่เนื้อ 160-200 ล้านตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะ “กินไก่” ทำให้นายกรัฐมนตรีในยุคนั้นต้องออกมา “กินไก่โชว์” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนก ตั้งแต่ปี 2547 – 2549 จำนวน 25 รายเสียชีวิต 17 ราย หลังจากปี 2549 เป็นต้นมา ไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 

  • ปี 2552 : ไข้หวัดใหญ่ 2009

เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ขึ้นในประเทศเม็กซิโก โดยองค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO) เรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ไข้หวัดหมู” หรือ สไวน์ ฟลู (Swine Flu) และ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก” ก่อนที่จะประกาศเปลี่ยนเป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1(Influenza A H1N1)” ซึ่งสธ.ไทยประกาศเปลี่ยนตามและให้เรียกย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ตามปีที่เกิดการระบาดของโรค

มาตรการสกัดโรคของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จนเมื่อรับรู้อาการของโรคและแนวทางของโรคชัดเจนขึ้น และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการรุนแรงจนทำให้เกิดการเสียชีวิต ยกเว้นผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งในเวลาเดียวกัน เริ่มพบแนวโน้มผู้ป่วยในประเทศเพิ่มขึ้นและมีรายงานการเสียชีวิต

ในช่วงเวลาที่โรคแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้หาวัคซีนได้ยาก
ประเทศไทยจึงตัดสินใจก่อสร้าง "โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก" ขึ้น
เพื่อผลิตใช้ในประเทศและส่งออก ด้วยงบประมาณราว 1,500 ล้านบาท
แต่ผ่านมาจนปัจจุบัน รวมกว่า 10 ปี โรงงานแห่งนี้
ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนในเชิงอุตสาหกรรมออกมาได้

การสกัดโรคจึงมุ่งเน้นการดำเนินการภายในประเทศ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชน “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลให้เกิดการตื่นตัวและตระหนักของคนไทยอย่างมากที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมเมื่อมีอาการป่วยด้วยการใส่หน้ากากอนามัย

รวมถึง การจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาฉีดให้กับประชาชน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวที่โรคแพร่ระบาดทั่วโลก ทำให้วัคซีนหาได้ยาก ประเทศไทยจึงตัดสินใช้ที่จะก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกขึ้นเอง เพื่อผลิตและใช้ในประเทศไทยและส่งออก ใช้งบประมาณราว 1,500 ล้านบาท

แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรวมกว่า 10 ปี โรงงานแห่งนี้ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนในเชิงอุตสาหกรรมออกมาได้ และปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของไทย

  • ปี 2557 : อีโบล่า

พบเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดในประเทศสาธารณรัฐกินี โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษา โดยเชื้อไวรัสอีโบล่าสามารถแพร่ระบาดได้จากการสัมผัสเลือด อุจจาระ หรือเหงื่อของผู้ป่วยโดยตรง หรือมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ โดยไม่มีการป้องกัน

ในส่วนของประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบล่า (Ebola) และแม้ว่าไทยจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ค่อนข้างน้อย เพราะมีระบบการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ดี และมีผู้เดินทางไปแอฟริกาน้อย แต่ช่วงเวลาดังกล่าวไทยก็ไม่ได้ประมาท ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายยังคงมีความสำคัญมาก เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการแพร่กระจายเชื้อเข้าสู่ประเทศเมื่อใดใช้ 4 มาตรการ คือ

1.ออกคำเตือนผู้ที่จะเดินทางไป และทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางไปประเทศที่พบการระบาด

2.มีระบบการตรวจคัดกรอง และให้ความรู้ประชาชนหลังเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด ภายใน 14 วัน หากมีอาการไข้ เลือดออกผิดปกติ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางกลับจากต่างประเทศแก่แพทย์ด้วย

3.การตรวจหาเชื้อ ทางห้องปฏิบัติการ โดยส่งเชื้อจากผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย ตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์

และ 4.การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล

  • ปี 2557 : โรคเมอร์ส

สถานการณ์ต่างประเทศ พบยอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี ใน 13 ประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ล่าสุดมีรายงานในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ก่อนที่ต่อมาจะเรียกชื่อว่า "โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง" หรือโรคเมอร์ส (MERS)

สธ.จัดระบบการเฝ้าระวังโรคนี้ทุกจังหวัด ในกลุ่มผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน และผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย หากพบจะให้การดูแลเป็นพิเศษ ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส และมอบให้กรมควบคุมโรควางแผนการเฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรคอย่างเข้มข้น และส่งสารคัดหลั่งและเลือดเพื่อตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกราย

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี 2558 -16 ก.ย.2562 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสงสัยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (PUI MERs) สะสมจำนวน 1,013 ราย โดยเป็นผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ได้เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร จนหายเป็นปกติและเดินทางกลับประเทศ

..และล่าสุดปี 2563 “ปอดอักเสบ” จากเมืองอู่ฮั่น ทางตอนกลางของจีน ที่ยังเป็นปริศนาว่าเกิดจากเชื้อไวรัสใด (อัพเดท-เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019) จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องออกมาตรการที่เรียกว่า “ทำเกินไว้ก่อน” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโรคภายในประเทศสู่ประชาชนเป็นวงกว้าง โดยมีการคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางจากพื้นที่ที่สนามบินทุกแห่ง หากพบอาการต้องสงสัยจะนำมารักษาที่ห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร และส่งตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติ

นอกจากนี้ ประสานสถานพยาบาลทุกระดับทั้งรับแลเอกชนให้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น และขอความร่วมมือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่พักให้ร่วมเฝ้าระวังและให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวด้วย โดยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ปัจจุบัน แม้โรคเหล่านี้จะมีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศต่างๆเป็นระยะๆ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยย่อหย่อนต่อมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค เช่นเดียวกับที่ประชาชนต้องตระหนักต่อความรับผิดชอบที่จะต้องร่วมกัน ป้องกันการแพร่ระบาดด้วย