สทนช. เตรียมเสนอ ครม. ให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย

สทนช. เตรียมเสนอ ครม. ให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย

คาดหวังสร้างเครือข่ายภาคีด้านน้ำในภูมิภาคให้เข้มแข็งขึ้น

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่าในวันอังคารหน้า สทนช.จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย หลังจากข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา

สภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกําไร และเป็นเครือข่ายของสภาน้ำโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและรองรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคเอเชียอย่างยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และก่อตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในเอเชียและองค์กรนานาชาติ เชื่อมโยงภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายการ พัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) สอดคล้องกับกับภารกิจของ สทนช.

ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมจัดทำกรอบแนวคิดในการจัดตั้งสภาน้ำแห่งเอเชีย เมื่อปี 2558 เนื่องจากไทยเล็งเห็นความสำคัญของการผลักดันให้ประเทศสมาชิกในเอเชียมีองค์กรด้านน้ำระดับภูมิภาค เพื่อที่จะช่วยให้สามารถสะท้อนปัญหาความท้าทายด้านน้ำ และแนวทางแก้ไขปัญหาไปสู่เวทีระดับโลกได้

โดย ดร.สมเกียรติกล่าวว่า การเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) จะทําให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างเครือข่ายภาคีด้านน้ำในระดับภูมิภาคให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การเป็นสมาชิก ยังจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การ พัฒนาขีดความสามารถงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรม การแสดงบทบาทของไทยในการ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาด้านน้ำ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย

และประเทศไทย ยังจะมีสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหาร และการสมัครเป็นกรรมการบริหาร และกรรมการวิชาการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการต่าง ๆ อีกด้วย ดร. สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เข้าร่วมประชุมบอร์ดบริหารสภาน้ำแห่งเอเชีย หรือ Board of Council of AWC ครั้งที่ 10 เมื่อวานนี้ พร้อมกล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดีในพิธีเปิดการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนร่วมกับสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) เป็นเจ้าภาพหลัก ณ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

โดยประเทศไทยได้แสดงจุดยนและความมุ่งหวังว่า สภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) จะเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต ในฐานะของเครือข่ายด้านน้ำระดับโลก โดยเฉพาะ การเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างประเทศสมาชิก สร้างการรับรู้ด้านปัญหาน้ำในภูมิภาคเอเชียแก่นานาชาติ รวมถึงมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมอันจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่การบริการจัดการน้ำของเอเชียอย่างยั่งยืน ดร. สมเกียรติกล่าว

สิ่งสำคัญที่ได้เน้นย้ำแก่ประเทศสมาชิกในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน ที่นับว่าเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร. สมเกียรติกล่าว