คบ 11 ปีแล้วบอกไม่มีแพสชั่น งานแต่งแสนหวานสุดท้ายจบลงที่การหย่า.. ชีวิตคู่ดีๆ มีจริงไหม หรือพบได้แค่ในนิยายขายฝัน
ท่ามกลางดราม่ารักร้าวของดารา และคนดังที่ผลัดกันผุดออกมาให้โซเชียลเสพกันสนุกสนาน พร้อมๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมือง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป เรื่องเหล่านี้ นอกจากความสนุก บันเทิงปากแล้ว ยังถือเป็นบทเรียนให้เราเรียนรู้อะไรได้อีกบ้าง
‘จุดประกาย’ ได้พูดคุยกับ อนันต์ วริศนราทร นักวิชาการจิตวิทยาสังคม และ วิทยา วุฒิไกรเกรียง นักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งร่วมกับเพื่อนๆ ในแวดวงจิตวิทยาเปิดคอร์สอบรมคู่รักคู่สมรสในนามกลุ่ม Ministry of Love เพื่อช่วยเหลือคู่สมรส ให้ปรับตัวกันได้ ลดความขัดแย้ง และมีทักษะในการประคองชีวิตคู่ด้วยการสื่อสารสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาเชิงบวกร่วมกัน
“สังคมขาดภูมิเรื่องชีวิตคู่ ทุกคนเตรียมตัวเรื่องภายนอกทุกอย่าง โรงแรมไหนดี เสิร์ฟอาหารอะไร การ์ดแบบไหน ฮันนีมูนที่ไหน แต่ไม่ได้เตรียมจิตใจที่จะไปเจอเรื่องจริง” อนันต์ เริ่มต้นเปิดประเด็นถึงสิ่งที่เขาสังเกตเห็นตลอดหลายปีที่ได้ทำงานอาสาสมัครด้านการให้คำปรึกษาผู้ประสบปัญหาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นปัญหาความรักและชีวิตสมรส จนเป็นที่มาของหลักสูตร Temperature of Love
สาเหตุที่คอร์สอบรมคู่รักมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่เตรียมตัวจะแต่งงาน รวมถึงคู่สมรสทั้งที่เพิ่งแต่ง และแต่งได้ระยะหนึ่ง แต่ “ไม่เกิน 7 ปี” เพราะเป็นกลุ่มที่มองชีวิตคู่ว่า ยังมีความหมาย พร้อมปรับตัว โดยปัญหาที่เกิดกับกลุ่มนี้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นการป้องกันมากกว่าการรักษา และมีโอกาสที่จะแก้ไขหรือจัดการได้สำเร็จสูงกว่า ถ้าเทียบกับคนที่ต้องทนกับปัญหานานจนเริ่มรู้สึกว่า ไม่อยากอยู่ด้วยกันแล้ว
- เดทแล้วไปไหน
สำหรับเคส คนดังเลิกกับแฟนสาวที่คบมา 11 ปีโดยให้เหตุผลว่า หมดแพสชั่นนั้น อนันต์ให้ความเห็นว่า เมื่อผู้ชายผู้หญิง คบกัน เดทกัน จุดมุ่งหมายต้องนำไปสู่ชีวิตแต่งงาน ไม่ใช่เดทติ้งกันลอยๆ ถ้าเดทกันลอยๆ ผู้หญิงจะสูญเสียโอกาส
“ถ้าคิดว่า เขาไม่ใช่ หรือหมดแพสชั่น คุณก็ควรยืนยันให้เร็ว เพื่อเขาจะได้ไปพบคนที่ใช่ อันนี้จึงจะเป็นทัศนะที่ถูกต้อง ถ้าอย่างนั้น 11 ปีคืออะไร เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ เดทกับผู้ชาย เขาก็มีความชัดเจนว่า อยากแต่งงานเกือบทั้งนั้น ถ้าไม่ชัดแบบนี้ ก็ไม่เหมาะสม”
ในความเห็นของเขา มองว่า เรื่องเดทของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันยังเป็นปัญหา เพราะเดทอย่างไม่ได้เรียนรู้ ทำให้ประสบการณ์เกี่ยวกับความรักไม่ถูกพัฒนาและส่งผลมาจนถึงวัยผู้ใหญ่
ถ้าคิดว่า เขาไม่ใช่ หรือหมดแพสชั่น
คุณก็ควรยืนยันให้เร็ว เพื่อเขาจะได้ไปพบคนที่ใช่
อันนี้จึงจะเป็นทัศนะที่ถูกต้อง
“ถ้าจะพูดกันให้ชัด ปั๊ปปี้เลิฟในวัยรุ่น เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จที่จะคบยาวมาจนถึงแต่งงานนี่ต่ำมาก แต่มันคือขั้นตอนที่สำคัญที่เขาจะได้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติต่อกัน เขาอาจจะต้องเจอกับอีกหลายคนกว่าจะพบคนที่ใช่ แต่ระหว่างกระบวนการเรียนรู้เหล่านั้น เขาจะโตขึ้น และนำไปสู่การเติบโตที่สามารถพูดคุยด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ให้จบด้วยความรู้สึกที่ดีได้ ไม่ใช่อยากจะจบก็จบมันห้วนๆ เลย ถ้าแบบนั้น คุณค่าของ 11 ปีมันอยู่ที่ตรงไหน” อนันต์ ตั้งข้อสังเกตถึงความสำคัญของการเดท ที่แม้จะไม่ได้จบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง อย่างน้อยระหว่างทางก็คือการเรียนรู้
แต่น่าเสียดายที่หลายคนกลับไม่ได้เรียนรู้จากความรักครั้งที่ผ่านๆ มาของตัวเอง จนนำมาสู่ความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- ‘รัก’ ที่ไม่ได้มีแค่ ‘เรา’
ส่วนคู่รักที่จูงมือกันมาจนถึงวันที่ได้ร่วมหอลงโรง ก็อย่าเพิ่งดีใจจุดพลุฉลอง ด้วยคิดว่า นี่คือความสำเร็จที่สุดในชีวิต เพราะภาพคู่รักคนแก่ที่นั่งโอบกันมองอาทิตย์ตกดินแสนโรแมนติกอย่างในฝันอาจไม่เกิดขึ้นในชีวิตคุณเลยก็ได้
ท่องไว้ให้หนักว่า ชีวิตคู่ไม่เหมือนกับตอนคบกันเป็นแฟน หลายคู่คบกันมานาน คิดว่า รู้จักกันหมดทุกซอกทุกมุม แต่พอมาเป็นสามีภรรยา ก็ยังมีหลายๆ เรื่องที่ต้องเรียนรู้ แม้ในคู่ที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่ง ก็ยังอาจเจอเรื่องเซอร์ไพรส์อีกมาก
“เมื่อแต่งงานกันแล้ว มันไม่ใช่แค่ ‘เรา’ มันยังมี ‘พวกเรา’ มีคุณพ่อคุณแม่ของเรา คุณลุงคุณป้าของเรา ซึ่งจะสร้างผลกระทบที่กว้างกว่า” วิทยา ขยายความ
และยกตัวอย่างปัญหาแม่ผัว ลูกสะใภ้ ที่หลายคนอาจคิดว่า หมดสมัย แต่ความจริงยังคงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นเสมอ และถ้าไม่มีการจัดการที่ดี ก็จะเกิดความอึดอัดกับคนกลาง แต่ตรงกันข้าม ถ้าฝั่งพ่อแม่ รวมถึงทุกคนที่อยู่รอบๆ คู่สมรสรู้จักบทบาทของตนเอง ก็จะถือเป็นตัวช่วยที่สามารถซัพพอร์ตเชิงบวกได้เป็นอย่างดี
“ในครอบครัวขยาย ถ้าโกรธ หรือไม่พอใจ ก็จะเงียบไว้ก่อน ไม่ทะเลาะกันให้ผู้ใหญ่เห็น แล้วพอผ่านไป ก็จะลืม เพราะหลายเรื่องมันหยุมหยิมมาก แต่เวลาอยู่ด้วยกันสองคนในคอนโดฯ หรือบ้านเดี่ยว คุณพูด ฉันก็พูด คุณขึ้นเสียง ฉันก็ขึ้นเสียง มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยลบมาก ยิ่งถ้าไม่มีทักษะในการสื่อสารที่ดีพอ บรรยากาศก็ติดลบไปเรื่อยๆ”
- อย่าทนจนวันที่รักจาง
ก่อนที่รักจะล่ม หรือเตียงจะหัก แน่นอนว่า คู่สมรสส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นจากความรักกันก่อนทั้งนั้น จนเมื่อวันที่ตัดสินใจเลิกรา หนึ่งในเหตุผลที่ถูกพูดถึงเสมอ คือ “ความรักจืดจาง” ในมุมของผู้เชี่ยวชาญทั้งสอง เห็นว่า ความรัก ความรู้สึก เมื่อลดได้ ก็เพิ่มได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงแต่ไม่ปล่อยไปตามยถากรรม และตั้งใจที่จะประคับประคองกันและกันไปให้ตลอดทาง
“คนไทยมีเซนส์ของความอดทนสูง แต่ไปแตกตอนหลังทุกที ไม่ควรเป็นแบบนั้น เพราะแต่ละเรื่องมันปลดปล่อยได้ ก่อนจะรวมเป็นก้อนใหญ่แล้วปล่อยให้ระเบิด แต่ถ้าเรื่องบวกก็บอก เรื่องลบก็บอก ทั้งบวกทั้งลบมันจะร้อยกันเป็นเกลียว ผสมผสานกันได้ จะกลายเป็นเชือกที่แข็งแรง”
หนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในคอร์สอบรม คือ การปิดตาฝ่ายหนึ่งและให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นำพาเดิน และหลังจากนั้นให้สลับกัน หลังจบกิจกรรม จะมีการสอบถามความรู้สึกของแต่ละฝ่าย นอกจากเรื่องความไว้วางใจในคู่ของตัวเองแล้ว อีกเรื่องที่สะท้อนได้ชัดจากกิจกรรม คือ ความอึดอัดเมื่อไม่มีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต้องให้อีกคนหนึ่งจูงไปตลอดเวลา
“ถ้าชีวิตคู่จริงๆ เหมือนถูกปิดตาตลอดเวลา ก็จะทำให้คู่สมรสเกิดความอึดอัดใจ ซึ่งบางที คนจูงไม่รู้ตัว เพราะเป็นคนนำและคิดแทนตลอด” วิทยา อธิบายเพิ่มเติม
และเสริมว่า ในทางจิตวิทยา เรื่องของสารสื่อประสาท เวลาอยู่ในระยะหลงรัก ก็จะมองข้ามสิ่งไม่ดีของอีกฝ่ายได้ ซึ่งผู้ชายกับผู้หญิงจะสวนทางกัน
ผู้ชาย..เมื่ออยู่ในระยะหลงรัก แรกๆ ก็จะเต็มร้อย แล้วพอแต่งงานก็จะค่อยๆ ลดลง และจะเริ่มรู้สึกว่า บางอย่างชักจะดูไม่เพอร์เฟคต์
“ส่วนใหญ่เราจะเลือกวิธีการเก็บไว้ข้างใน ไม่สื่อสารออกมา และคิดว่า ระยะเวลาการแต่งงานที่นานขึ้น จะทำให้เราทนได้ดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะมันไม่ต่างอะไรกับลูกโป่งที่อัดแก๊สเข้าไปเรื่อยๆ และรอวันที่จะระเบิดออก เพราะมันไม่มีช่องทางปลดปล่อยออกมา การสื่อสารซึ่งกันและกันจึงจำเป็น อะไรก็ตามที่เราได้สื่อสารออกไปแล้ว มันไม่ต้องเก็บไว้ข้างใน มีการพูดคุยซึ่งกันและกัน ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจกัน เพราะของบางอย่างไม่จำเป็นต้องอดทน มันเป็นแค่เรื่องการสื่อสารง่ายๆ ถ้าเรายิ่งมีอะไรต้องอดทนเยอะ มันก็ยิ่งยาก”
ขณะที่ผู้หญิงจะชอบเคลียร์ให้จบๆ
เมื่อเจอปัญหา
แต่ผู้ชายจะขอเข้าถ้ำ
- รักแล้วต้องบอก
เพราะชีวิตคู่ต้องมีการเติบโต และที่สำคัญ คือ ต้องเป็นการเติบโตไปพร้อมกัน การเรียนรู้ และรู้จักที่จะสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ทางออกที่ทั้งคู่แนะนำ
“วันแรก ผู้หญิงอาจจะเห็นผู้ชายถอดกางเกงในเป็นเลขแปด วางอยู่กลางห้อง ซึ่งเขาอาจจะถอดแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วคุณแม่ก็เป็นคนเก็บมาตลอด ถ้าผู้หญิงรู้สึกอึดอัดที่ต้องคอยเก็บทุกวัน แต่ไม่สื่อสาร เก็บทุกวัน อึดอัดทุกวัน แล้ววันหนึ่งเขาจะระเบิดเป็นซีรีส์เกาหลีออกมาเลย แต่ถ้าลองบอกเขาล่ะ.. ว่า เราอึดอัดนะ เขาก็อาจจะเก็บ เพราะมันเป็นเรื่องเล็กน้อย เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาไม่รู้ก็เท่านั้นเอง” อนันต์ ยกตัวกย่างเรื่องเล็กน้อยที่พร้อมบานปลายได้เสมอ
แต่ทั้งนี้ เรื่องความต่างในธรรมชาติของผู้ชายและผู้หญิง ก็เป็นสิ่งที่คู่รักควรทำความเข้าใจ เพราะวิธีการจัดการกับปัญหาจะแตกต่างกัน
ขณะที่ผู้หญิงจะชอบเคลียร์ให้จบๆ เมื่อเจอปัญหา แต่ผู้ชายจะขอเข้าถ้ำ เดินหนีไปสักพัก ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงฉุนมาก หายไปสามวัน คิดไปต่างๆ นานา ว่าไปไหน มีคนอื่นใช่ไหม แต่ถ้าทั้งคู่ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างเพศ ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น
“ผู้หญิงเอง เมื่อมีปัญหา สปีดของเขาจะเพิ่มขึ้น ทั้งความเร็ว ความแรง และเรียกร้องมากมาย ผู้ชายก็ต้องเข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้หญิงต้องการ คือ ขอแค่ให้อยู่ใกล้ๆ เขา เป็นท่อนไม้อยู่ข้างๆ ก็ยังดี หรือจะดีกว่า ถ้าโอบเขา กอดเขา ให้ความมั่นใจ แสดงความเป็นห่วงให้เขาได้รับรู้ เท่านี้ก็พอแล้ว เพราะผู้หญิงเขาสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เพียงแต่ต้องการความเชื่อมั่นว่า คนที่เขาเชื่อมั่นพร้อมซัพพอร์ต ถ้าเขาแก้ไม่ได้ เขาจะถามเอง”
- รักพังเพราะมือใคร
หนึ่งในปัญหายอดฮิตที่เกิดขึ้นกับคู่สมรสจำนวนมาก แน่นอนว่า ต้องเป็นเรื่อง “มือที่สาม” ซึ่ง วิทยา บอกว่า สำหรับมือที่สามนั้น ก็มีทั้งที่เป็นจริงๆ และแบบมโน
“ปกติ เวลาคู่สมรสเกิดความสงสัยในอีกฝ่าย จะมีสองแบบ แบบแรก คือ แกล้งเงียบๆ ไป ไม่พูดอะไร แต่แอบส่งนักสืบไปแล้ว หรือบางคนก็พูดตรงๆ หรือสื่อสารไม่ดีพอ ทีแรกไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็เลยกลายเป็นความสัมพันธ์ที่บาดหมาง ระแวง สงสัยไม่รู้จบ”
หรือถ้าชีวิตสมรสมาถึงจุดที่เกิดบุคคลที่สามแทรกเข้ามาจริงๆ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามมา คือ กระบวนการพูดคุยอย่างมีสติ
“ผู้หญิง ถ้าระแคะระคายว่า ฝ่ายชายมีคนอื่น เขาก็อาจจะระบายความรู้สึกออกมา ว่า เสียใจ รู้สึกแย่ ล้มเหลวแค่ไหน อย่างไร และเอาข้อเท็จริงจากฝ่ายชายออกมา ต้องจากตัวผู้ชายเท่านั้นนะ ไม่ใช่ไปเอาจากโซเชียลมีเดีย ต้องเอาจากเขาเท่านั้น มันอาจจะไม่มีอะไรเลย หรือถ้ามี.. มีแค่ไหน แล้วคุณต้องหาโซลูชั่นร่วมกันว่า จะแก้มันอย่างไร จะจบอย่างไร จะเทคแอคชั่น จัดการปัญหาภายในกี่วัน ฯลฯ ไม่ใช่ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริง แต่ฟูมฟายมหาศาลไปก่อนแล้ว อย่างนี้ก็ไม่ทันจะแก้ มันจึงจำเป็นที่เราต้องฝึกเรื่องทักษะการสื่อสาร”
ตัวตนของทั้งคู่ต้องได้เติบโตในแบบของเขา
ชีวิตสมรสจึงจะไปได้ยาว
อย่าทิ้งความฝันของแต่ละคนไป
โดยเฉพาะอย่าลืมว่า ปัจจัยภายนอก จะยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ภายนอก ถ้าเราไม่ปล่อยให้เข้ามาแทรกแซงได้
“เรื่องบุคคลที่สาม สามารถเข้ามาตลอดช่วงอายุสมรสของคุณเลยนะ จากบุคคลที่สามอาจจะเป็นคนที่ 5, คนที่ 8 หรือคนที่ 10 ที่กำลังรออยู่ในอนาคต แต่นั่นคือปัจจัยภายนอก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความพร้อมในชีวิตคู่ของคนสองคน ว่า มันเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเสมอในทุกๆ เดือน ทุกๆ ปีในชีวิตสมรสหรือเปล่า”
“ล้มครั้งแรก บาดเจ็บ เป็นแผล ก็ประคองกันให้ยืนขึ้นมาใหม่ ล้มอีกที แผลใหญ่ขึ้นแต่ก็ยังรักษาและประคองไปด้วยกันได้ แล้วชีวิตจริง เรายังอาจต้องล้มอีกหลายครั้ง แต่สำคัญว่า ทั้งคู่พร้อมที่จะลุกไปด้วยกันไหม เพราะชีวิตไม่มีใครที่จะเพอร์เฟคต์ทุกอย่าง”
และถึงจะเรียกว่า “ชีวิตคู่” แต่อย่าลืมว่า คู่สมรสต่างก็ต้องเติบโตในทางของตัวเอง
“ถ้าต้นหนึ่งโต แล้วต้นหนึ่งเหี่ยว มันไมใช่ ตัวตนของทั้งคู่ต้องได้เติบโตในแบบของเขา ชีวิตสมรสจึงจะไปได้ยาว อย่าทิ้งความฝันของแต่ละคนไป”
คู่สมรสจึงควรซัพพอร์ต และมองเห็นการเติบโตของกันในทุกช่วงเวลา เพื่อเป็นต้นไม้สองต้นที่เติบโตไปพร้อมกัน