ชี้คนแก่ขโมยของ อาจเกิดจาก'โรคอยากขโมย'

ชี้คนแก่ขโมยของ อาจเกิดจาก'โรคอยากขโมย'

จิตแพทย์ชี้คนแก่ขโมยอาจป่่วยเป็น "โรคอยากขโมย" เหตุสารในสมองทำงานผิดปกติ

จากกรณีที่ตำรวจญี่ปุ่นจับกุมข้าราชการไทยระดับรองอธิบดี สังกัดกระทรวงพาณิชย์ในข้อหาขโมยภาพของโรงแรม จำนวน 3 ภาพ มูลค่ารวม 15,000 เยน หรือราว 4,500 บาท

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เหตุการที่มีการขโมยเกิดขึ้นทั่วไปนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบถึงสาเหตุเป็นรายบุคคลในการลักขโมยว่า เกิดจากสาเหตุใดเกิดจากภาวะสมองเสื่อมในวัยที่สูงอายุหรือไม่ เนื่องจากอาจเข้าใจว่าสิ่งของที่นำมาเป็นของตัวเองจริง หรือเกิดจากภาวการณ์ป่วยเป็นโรคที่มีปัญหาในการควบคุมการขโมย หรือโรคอยากขโมย (Kleptomania)จากสาเหตุจากการทำงานของสารในสมองทำงานผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมสะสมที่ขาดการรับรู้ผิดชอบชั่วดี เพราะไม่มีผู้ชี้แนะมาตั้งแต่วัยเด็กหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกระทำผิดก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมายซึ่งต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาแยกออกจากกัน

“บุคคลในกลุ่มนี้จะมีลักษณะอาการเกิดขึ้นทันทีที่เห็นสิ่งของที่อยากได้ และจะรู้สึกทุกข์ทรมานใจ หากไม่ได้นำของผู้อื่นไป ซึ่งเมื่อหยิบไปแล้วความทุกข์ทรมานในใจจะหายไป และอาจนำสิ่งของที่หยิบไปมาคืน หรืออาจนำมาแอบซ่อนไว้เป็นของตัวเองก็ได้ แต่พฤติกรรมนี้จะแตกต่างกับผู้มีนิสัยชอบขโมย ที่จะมีการวางแผนล่วงหน้าไม่รู้สึกทุกข์ทรมานใจหากไม่ได้ ขโมย และต้องการสิ่งของบบุคคลอื่นเพื่อตอบสนองการนำมาใช้ประโยชน์ ของตัวเอง เช่น ขโมยสิ่งของเพื่อนำไปขายและนำเงิน มาใช้จ่าย” นพ.อภิชาติ กล่าว

นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า วิธีการสังเกตและป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมลักขโมยสิ่งของผู้อื่น สามารถสังเกตอาการของตัวเองได้ หากเพียงแค่มีความคิดอยากได้ของผู้อื่นมาครอบครองโดยเจ้าของไม่รับรู้เพียงแค่ครั้งเดียว ต้องห้ามมองข้ามสัญญาณเตือนนี้ และต้องไม่ลงกระทำ เพราะหากปล่อยไปและเกิดการลงมือกระทำแล้ว อาจทำให้กลายเป็นบุคคลที่มีนิสัยและพฤติกรรมการลักขโมย ได้ในที่สุด และเมื่อสำรวจว่าตัวเองมีพฤติกรรมอยากได้ของผู้อื่นโดยเจ้าของไม่ยินยอมรับรู้ ควรไปพบจิตแพทย์หรือบอกบุคคลใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ ซึ่งบุคคลใกล้ชิดต้องตั้งสติให้ดี ไม่ต่อว่าซ้ำเติม กล่าวชื่นชมผู้มีปัญหาให้รู้สึกมีความภาคภูมิใจที่กล้าบอกปัญหานี้ และค่อยดำเนินการชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ถูกต้อง

นพ.อภิชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคที่มีปัญหาในการควบคุมการขโมย พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ และสามารถรักษาได้ โดยการใช้ยาเพื่อสร้างสมดุลของสารในสมองลดความวิตกกังวล และใช้พฤติกรรมบำบัด รวมทั้ง หลีกเลี่ยงไม่ไปสถานที่ชอบไปก่อพฤติกรรมหยิบของผู้อื่นโดยไม่บอกกล่าว เช่น ห้างสรรพสินค้า , ร้านค้า และไม่อยู่ใกล้สิ่งของเป้าหมายที่ทำให้ รู้สึก อยากนำมาเป็นของตัวเอง หรือหากมีญาติที่ไว้ใจใกล้ชิด ก็สามารถติดตาม สอดส่องพฤติกรรมทำหน้าที่คอยห้ามปรามได้ด้วย