ฟันเทียมพระราชทาน ‘กินได้ อยู่ดี มีสุข’

ฟันเทียมพระราชทาน ‘กินได้ อยู่ดี มีสุข’

“เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุขจิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” กระแสพระราชดำรัส ที่นำมาสู่โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ

“เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุขจิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” กระแสพระราชดำรัส “พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ นำมาสู่ “โครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินมาตั้งแต่ปี 2548 ส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ศ.(พิเศษ) ทญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะทันตแพทย์ส่วนพระองค์ผู้ถวายการรักษา และผู้ถวายงานด้านทันตกรรมต่อพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมูลนิธิทันตนวัตกรรม เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยต่อความทุกข์สุขของประชาชนอย่างยิ่ง

ปัญหา “ฟัน” และ “สุขภาพ” ช่องปากเป็นเรื่องหนึ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ.2513 จึงได้พระราชทานหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” เพื่อออกบริการรักษาฟันประชาชนผู้ยากไร้ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลความเจริญนับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่หน่วยแรกของประเทศไทย และนับเป็นหน่วยทันตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งยังให้การรักษาตั้งแต่ถอนฟัน รักษารากฟัน รวมถึงการใส่ฟัน เทียบเท่ากับโรงพยาบาลขนาดใหญ่

ประกอบกับครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดขอนแก่น พบชายสูงอายุคนหนึ่ง ร่างกายผอมแห้ง ไม่สบายมารอเข้าเฝ้าฯ พระองค์จึงรับสั่งถามว่าเป็นอะไร ชายสูงอายุคนดังกล่าวทูลว่า ไม่มีฟัน กินอะไรไม่ได้ พระองค์ท่านจึงรับสั่งให้ไปใส่ฟันเทียมหลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จกลับมาจังหวัดขอนแก่นอีก ชายสูงอายุคนดังกล่าวมารอเข้าเฝ้าฯและกราบทูลว่า ทรงจำเขาได้หรือไม่ ที่พระองค์แนะให้ไปใส่ฟันเทียม ทำให้กินอาหารต่างๆได้ง่าย ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

จากสองเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้ทันตแพทย์อาสาสมัครที่ตามเสด็จรู้สึกว่าต้องพัฒนาหน่วยทันตกรรมพระราชทานให้สามารถใส่ฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุได้ จึงนำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการใส่ฟันเทียมในหน่วยบริการเคลื่อนที่ขึ้น ทำให้สามารถใส่ฟันเทียมได้ด้วยการพบทันตแพทย์เพียงแค่ 2 ครั้ง จากเดิมต้องใช้เวลา 6-7 ครั้ง

ต่อมายังพัฒนาไปสู่การใส่ “รากฟันเทียม” ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดเป็นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการฟันเทียมพระราชทาน

“การฝังรากฟันเทียมเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง โครงการรากฟันเทียมฯ ถือเป็นโครงการสนองพระราชดำริ หรือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ คนยากจน หรือผู้ด้อยโอกาสได้ใส่รากฟันเทียมเช่นเดียวกับผู้ที่มีฐานะบ้าง อีกทั้งประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ” ท่านผู้หญิงเพ็ชรา กล่าว

โครงการรากฟันเทียมฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมชั้นสูง (ADTEC) กับ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ซึ่ง ADTEC ทำหน้าที่วิจัย และผลิตตัวรากเทียมที่ทำจากไทเทเนียมสามารถเข้ากับร่างกายมนุษย์ได้โดยไม่เป็นอันตราย หรือมีผลข้างเคียง โดยจำหน่ายให้แก่สถาบันทันตกรรมในราคาคู่ละ 4,000 บาท ไม่รวมค่าผ่าตัด เมื่อเปรียบเทียบกับราคารากฟันเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศคู่ละประมาณ 4 - 5 หมื่นบาท ซึ่งแพงกว่าหลายสิบเท่า จึงเป็นรากฟันเทียมแบบครบวงจรที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งสามารถผลิตได้ภายในประเทศ และเป็นการลดการนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศอีกด้วย

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียมที่ใช้ในโครงการ “รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียื่นขอพระราชทานไว้ว่า “ข้าวอร่อย”