ข้อมูลสุขภาพในโซเชียลฯมั่วถึง90% 'หมอ-คนไข้'โพสต์ประจานวุ่น

ข้อมูลสุขภาพในโซเชียลฯมั่วถึง90% 'หมอ-คนไข้'โพสต์ประจานวุ่น

"หมอแล็บแพนด้า" เผยข้อมูลสุขภาพในโซเชียลฯมั่วถึง90% "จ่าพิชิต"บอกคนไทยละเมิดสิทธิผ่านโซเชียลฯเพียบ “หมอ-คนไข้”โพสต์ประจานกันไปมา

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวระหว่างเปิดเวทีเสวนา “เปลี่ยนโลกออนไลน์ ให้ปลอดการละเมิดสิทธิสุขภาพ” ว่า ไตรมาสสองของปี 2557 ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เข้าอินเทอร์เน็ตได้ 94 ล้านเครื่อง และเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2-3 ล้านเครื่องต่อไตรมาส โดยโซเชียลมีเดียที่คนนิยมใช้มากที่สุด คือเฟซบุ๊ก(facebook) 30 ล้านคน ยูทิวบ์(youtube) 26.5 ล้านคน ทวิตเตอร์(twitter) 4.5 ล้านคน และอินสตาแกรม(Instagram) 1.7 ล้านคน ที่นิยมเพิ่มขึ้นมากคือไลน์(Line) ที่น่าห่วงคือการโพสต์โดยไม่กลั่นกรอง ทำให้มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เช่น การโพสต์ผลการตรวจสุขภาพ รูปครอบครัวในห้องคลอด รูปผู้ป่วยประกอบการขอรับบริจาคต่างๆ รวมถึงการบันทึกภาพและเสียงระหว่างการรักษา อาจละเมิดสิทธิผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และสช.ได้จัดทำร่างแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ... เสนอต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ สช. เพื่อให้นำมาสู่การบังคับใช้

นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือจ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “Drama Addict” กล่าวว่า การละเมิดสิทธิในโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บางครั้งการถ่ายรูปเพียงภาพเดียวแล้วนำไปเล่าต่อเป็นตุเป็นตะหรือแต่งเรื่องขึ้นมา ก็ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมา หรือทำลายชีวิตคนๆ หนึ่งได้ ที่น่ากังวลคือทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อเองได้ การคัดกรองข้อมูลก่อนโพสต์หรือแชร์ออกไป จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากและเป็นหน้าที่ของทุกคน สำหรับการละเมิดสิทธิทางสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ถือว่ามีความเสี่ยง อย่างกรณีแพทย์โพสต์ภาพฟิล์มเอกซ์เรย์ผู้ป่วยที่มีมะม่วงติดในก้นอย่างสนุกสนานก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิ หรือกู้ภัยถ่ายภาพผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้วนำไปโพสต์ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อเป็นอุทาหรณ์ หรือบางคนทำเพื่อเรียกยอดไลค์ ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน

“ในทางกลับกันคนไข้ก็ละเมิดสิทธิของแพทย์ด้วย โดยเฉพาะการโพสต์ประจานเมื่อได้รับการรักษาแล้วไม่พอใจ เรื่องเหล่านี้ต้องมีการรณรงค์ให้ชัดเจน ซึ่งการจัดทำร่างแนวทางปฏิบัติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิทางสุขภาพได้ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ แต่ที่กังวลคือเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียส่งข้อมูลผู้ป่วย ควรมีการจำกัดการใช้งานอย่างไรบ้าง เพราะอาจทำให้แพทย์เน้นการดูข้อมูลผ่านโซเชียลฯ มากกว่าการมาตรวจด้วยตนเอง หรือการให้คำปรึกษาผ่านโซเชียลฯ ของคนที่เป็นแพทย์ เมื่อมีผู้ป่วยส่งข้อความมาปรึกษาอาการ ซึ่งจริงๆ ไม่อยากให้ตอบ เพราะไม่ได้เห็นอาการผู้ป่วยเองจริงๆ หรือหากตอบก็ควรตอบแนวทางปฏิบัติตัวให้แก่ผู้ป่วยกว้างๆ เท่านั้น ส่วนการป้องกันที่แท้จริงคือการมีจิตสำนึก ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน” นพ.วิทวัส กล่าว
ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เจ้าของเพจ “หมอแล็บแพนด้า” กล่าวว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อมูลสุขภาพจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ประมาณร้อยละ 80-90 เป็นเรื่องที่ไม่จริง และประชาชนมักจะเชื่อข้อมูลเหล่านี้ เพราะทำง่ายกว่าการไปพบแพทย์ ซึ่งบรรดาแพทย์ก็ต้องคอยหาข้อมูลมาตามแก้ข้อมูลที่ผิดๆ หรือข้อมูลจับแพะชนแกะ อาทิ ถ้าถูกงูกัดให้ตำพริกมาทา ปอดดำเพราะสูบบุหรี่แทนที่จะเลิกสูบก็ไปดื่มน้ำขิง การกินน้ำมะนาวผสมโซดารักษาโรคมะเร็ง แทนที่จะไปหาหมอ ก็ทำให้โรคลุกลาม เพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ลอบผสมสารต้องห้าม เรื่องนี้มีการสอบถามเข้ามามากทุกวัน ทำให้ต้องตอบคำถามเรื่องนี้ซ้ำๆ จนไม่ได้ให้ความรู้เรื่องอื่นเลย เรื่องนี้จึงต้องมีการปลูกฝังการเล่นโซเชียลมีเดียให้ตระหนักว่าไม่จริง ถ้ารู้สึกสงสัยแสดงว่ามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องสืบหาข้อมูลเพิ่ม เช่น กูเกิล โดยพิมพ์ต่อท้ายว่า จริงหรือไม่ ก็จะมีข้อมูลจำนวนมากให้เลือกอ่านจากหมอหรือนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ส่วนหน่วยงานภาครัฐควรบังคับใช้กฎหมายและปราบปราม จับกุมคนที่ทำผิดอย่างจริงจัง

ด้านรศ.สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของข้อมูลสุขภาพคือ จะปิดข้อมูลเพื่อรักษาสิทธิของผู้ป่วย หรือเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น กรณีโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความยาก โดยข้อมูลสุขภาพจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ข้อมูลระบุตัวตน เช่น ชื่อ นามสกุล หมายเลขประชาชน หมายเลขผู้ป่วยใน รพ. เป็นต้น

และ 2.ข้อมูลสุขภาพที่เป็นข้อมูลอาการป่วย ซึ่งหากจะเปิดเผยข้อมูลสุขภาพ ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้ความรู้ เพื่อการศึกษา การเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น หรือแม้แต่การปรึกษาหารือกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ หลักการคือต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย ไม่บอกให้รู้ถึงตัวตน แม้จะไม่บอกชื่อ นามสกุล ก็ต้องไม่ให้ข้อมูลที่จะทำให้คนโยงไปถึงตัวตนผู้ป่วยได้

“หากทำได้ควรมีการวางระบบเรื่องข้อมูลสุขภาพแบบต่างประเทศคือ แบ่งระดับของข้อมูลและระดับของผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูลว่า คนไหนเข้าถึงข้อมูลระดับใดได้บ้าง อีกประเด็นที่จะช่วยลดปัญหาระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ได้คือ ต้องมีความไว้วางใจ เพราะหากไม่มีก็จะเกิดปรากฏการณ์ถ่ายคลิปกันไปมา เพราะไม่ไว้ใจ ทั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ควรจะเป็นไปในลักษณะไว้วางใจกัน ไม่ใช่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทำให้ความสัมพันธ์แพทย์และคนไข้รุนแรงขึ้น” รศ.สุดา กล่าว