สมานชัย อธิพันธุ์อำไพ Sense of Wood

สมานชัย อธิพันธุ์อำไพ Sense of Wood

นักธุรกิจพันล้านเปรียบตัวเองเป็นไม้สักเนื้อแข็ง สั่งสมภูมิความรู้มาแต่วัยเยาว์เสริมแกร่งด้วยวิกฤติค่าเงินปี 40 กว่าจะยืนหยัดตั้งมั่นได้

สมานชัย อธิพันธุ์อำไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอวูด อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตวัสดุไม้แปรรูปและไม้เอ็นจีเนียร์ ผู้บริหารคนรุ่นใหม่เปิดโชว์รูมลีโอวูดย่านสรรพาวุธ(บางนา) มาพูดคุยกับเราในลุคสบายๆ ด้วยเสื้อยืดและกางเกงยีนส์ ต่างจากภาพซีอีโอพันล้านคนอื่นๆที่สวมสูทผูกไท


เขาแนะนำตัวเองว่าเติบโตมากับกองไม้ด้วยครอบครัวค้าไม้ ซื้อขายไม้ มีโรงงานแปรรูปไม้ ได้ซึมซับเกร็ดความรู้ในงานไม้โดยอัตโนมัติทีละเล็กละน้อย ตามมาด้วยความหลงใหลในเสน่ห์ความงามที่มหัศจรรย์ด้วยความเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่มีแพทเทิร์นที่ชัดเจน ลายไม้ไม่มีอะไรที่เหมือนกัน ดูอบอุ่น ไม่ต้องดีไซน์หรือออกแบบอะไรมากมาย


จวบจนเติบใหญ่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาข้อมูลไม้ครบทั้ง7 ทวีปได้แก่ แอฟริกา แอนตาร์กติกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและอเมริกาใต้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเขียนหนังสือเรื่อง Sense of Wood เสน่ห์งานไม้ ขณะที่หนังสือเกี่ยวกับไม้ส่วนใหญ่จะเขียนโดยนักวิชาการที่มีเนื้อหาไม่เหมาะกับบุคคลทั่วไป
“หนังสือของผมอ่านเข้าใจง่ายเป็นข้อมูลความรู้พื้นฐานและรูปภาพประกอบ หากใครกำลังสร้างบ้านเมื่อหยิบไปอ่านจบแล้วสามารถคุยกับช่างได้ในภาษาเดียวกัน”


ด้วยความที่สมองเหมือนถูกฝังชิปว่า เรียนจบแล้วต้องมาทำงานที่บ้าน สมานชัยจึงไม่ได้มุ่งมั่นที่เอาเกรด 4 เหมือนเพื่อนๆ เขาเรียนแค่พอผ่าน จบ 4 ปีได้เกรดเฉลี่ย 2.07 อีกทั้งระหว่างที่เรียนก็ทำงานที่บ้านควบคู่ไปด้วย
“ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ยังอยู่มัธยม 3 ติดรถเซลส์ไปชลบุรี พัทยาเยี่ยมลูกค้า ขายของ พอโตมาอีกนิดก็เข้าไปช่วยงานโรงงาน ใช้ชีวิตอยู่กับธุรกิจมาตั้งแต่เล็ก ผมรู้สึกว่าโชคดีมากที่ทำแบบนั้น เพราะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้งาน สามารถสานงานต่อจากพ่อแม่ได้ทันที”
หลังจบปริญญาตรี เขาทำธุรกิจครอบครัวอยู่ 2 ปีแล้วเรียนต่อปริญาโทด้านบริหารที่ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ตามกระแสความนิยมในยุคนั้น สิ่งที่ได้รับคือ ประสบการณ์การใช้ชีวิตด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบมากขึ้น แต่เมื่อถามว่า คุ้มไหมสำหรับการไปเรียนเมืองนอก สมานชัย ตอบว่า ไม่ เนื่องจากใช้เงินเป็นล้านเรียนจบกลับมาอย่างมากเงินได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 5,000 บาท แต่ถ้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอาจมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าไปเรียนแล้วพ่อแม่เดือดร้อนลำบาก อย่าไปเรียน ไม่คุ้มค่าการลงทุน
เปลี่ยนแปลงตามจังหวะชีวิต


กิจการที่กำลังไปได้สวยกลับต้องเผชิญวิกฤติค่าเงินปี40 หนี้สินเพิ่มขึ้น 40 ล้านดอลลาร์ ความเสียหายมโหฬาร บทเรียนครั้งนี้ทำให้เขาระมัดระวังกับการใช้ชีวิตและมีวินัยทางการเงิน ไม่กู้มาซื้อที่ เล่นหุ้นฯลฯ และต้องวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ มุมมองการใช้ชีวิตเข้าสู่โหมดความจริงมากขึ้น
“ทันทีที่ลอยตัวค่าเงินบาทครอบครัวผมมีหนี้ 40 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ค่าเงินตอนชำระหนี้จ่ายอยู่ 56 บาทต่อดอลลาร์จาก 25 บาทต่อดอลลาร์ จากนั้นชำระหนี้ไปเรื่อยจนเหลือ 20 ล้านดอลลาร์ก็ยื่นขอประนอมหนี้ ผมเข้ามารับผิดชอบใช้เวลาอยู่ 3 ปี จนคิดว่าเหมือนจบปริญญาเอกอีกหนึ่งใบ และเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดทำแบรนด์ลีโอวูดในเวลาต่อมา”


แบรนด์ลีโอวูดเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ป่าปลูกนำมาผ่านการแปรรูปด้วยด้วยวิศวกรรมขั้นสูงเพื่อใช้เป็นโครงสร้างหรืองานตกแต่ง
“เพียงแค่อยากทำอะไรเล่นๆ สนุกๆ แทนที่จะซื้อมาขายไป ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่เคยคิดว่าจะมาทดแทนธุรกิจหลักที่พ่อแม่สร้างมา ไม่เคยคิดว่าธุรกิจที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาท วันหนึ่งจะร่วงมาเหลือแค่ 100 ล้านบาท สวนทางกับลีโอวูดที่เริ่มต้นจากศูนย์ไต่ยอดขายขึ้นมาจนถึง 500 ล้านบาทในช่วง 2-3 ปี”
สมานชัย เรียนรู้จากเรื่องนี้ว่า “ทุกอย่างตามเทรนด์และจังหวะชีวิต บทเรียนที่ได้คือต้องอยู่กับความเป็นจริง ซึ่งไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อมีปัญหาต้องอยู่กับมันให้ได้ในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อหมดเวลาก็ต้องปล่อยไป โชคดีที่พ่อปล่อยให้ทำและตัดสินใจไม่ปิดกั้น ทำให้ลีโอวูด มาได้ถึงทุกวันนี้ที่วัสดุทดแทนไม้ต่างๆ เริ่มโตและเข้ามาทดแทนไม้จริงที่หายากและราคาแพง”


นอกจากเรื่องงานแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับครอบครัวในช่วงวันหยุด ส่วนวันธรรมดาจะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง สมาคม อบรมสัมมนา ซึ่งแตกต่างจากชีวิตวัยเด็กชนิดที่เพื่อนสมัยเรียนจำแทบไม่ได้ด้วยภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานเป็นผู้บริหาร ออกสื่อบ่อยๆ เรียกว่า สลัดคราบอาเจ๊กขายไม้ที่ไม่ค่อยแต่งตัว เปลี่ยนลุคเป็นผู้บริหารสวมสูทและพูดในที่สาธารณะ
ถือเป็นจุดเปลี่ยน จากการก้าวจากธุรกิจหนึ่งมาอีกธุรกิจหนึ่ง จากสินค้าที่ขายโดยไม่ต้องมีแบรนด์ มาสู่สินค้าที่ต้องมีแบรนด์และทำการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องโดยอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ลองผิดลองถูก


ณ วันนี้ สมานชัยเป็นผู้นำกลุ่มในสมาคมต่างๆ การเติบโตมาในโรงไม้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มุ่งมั่นสร้างศูนย์การการซื้อขายไม้ทุกประเภท เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มเก็บตัวอย่างไม้จำนวนมากแต่สุดท้ายไม่ได้ทำเพราะไม่คุ้มค่าการลงทุนในมุมธุรกิจ

10 ปีที่ผ่านมาทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เขาตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นเดียวกับเขาจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเมื่ออายุ 30 ปลายๆ แต่เด็กรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จอายุน้อยกว่า 30 ปี จึงวางแผนที่จะผันตัวเองไปอยู่เบื้องหลังในฐานะที่ปรึกษาในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำหน้าที่บ่มเพาะคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อ
"ผมไม่เชื่อว่าคนอายุ 50 ปีจะแข่งกันคนอายุ 30 ปีได้ เพราะเด็กสมัยนี้เก่ง หัวไว ทำอะไรเร็ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนรุ่นผมจะไปแข่ง สิ่งที่เรามีมากกว่าคือประสบการณ์และความรู้ แต่ไม่ใช่คนทำงานแล้ว ใครที่บอกว่าจะสามารถเป็นเจ้าของบริษัทจนรอให้ลูกมารับ ผมบอกได้เลยว่า รอวันเจ๊งเลยเพราะผมเชื่อว่า อายุธุรกิจสั้นแค่ห่างกันเจนเนอเรชั่นเดียวยังรับไม้ต่อกันไม่ทัน ยิ่งผมกับลูกห่างกัน 30 ปีไม่มีทางเป็นไปได้
นาทีนี้แผนระยะยาวไม่มีในโลก อีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้เลยว่า บริษัทจะเจ๊งไปหรือยังอยู่ เพราะยุคนี้ทุกธุรกิจสามารถเจ๊งได้ในปีเดียว และสามารถทำรายได้1,000 ล้านบาทภายในปีเดียวได้เช่นกัน ฉะนั้น ทำอย่างไรให้สามารถอยู่รอดจากการสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีได้"
เขาจึงบอกกับลูกๆ ว่า ตอนนี้มีหน้าที่เรียนก็ต้องใจเรียน พ่อไม่สามารถการันตีได้ว่า อีก 15 ปีที่ลูกโตขึ้นมาจะยังมีบริษัทอยู่ไหม อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น ลูกต้องโตให้เร็วกว่าคนอื่นเพราะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
แม้ว่าลูกๆ จะเรียนเก่ง แต่สำหรับสมานชัยไม่คิดว่าจะเป็นเครื่องการันตีว่าลูกจะอยู่รอดได้ วัคซีนที่เขาให้กับลูก ณ เวลานี้คือ การให้เขาได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ เพราะยุคสมัยนี้พ่อแม่ไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้ และเด็กๆ ฉลาดกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ จึงให้แม่เข้าไปดูแลใกล้ชิด เพื่อให้คำแนะนำอย่างมีเหตุและผล ไม่ใช่ออกคำสั่งให้เดินซ้ายเดินขวาเหมือนในอดีต

*ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เผยแพร่ใน กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2559