กรมสุขภาพจิตเผย คนเหนือฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น

กรมสุขภาพจิตเผย คนเหนือฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น

กรมสุขภาพจิต เผย รอบ 3 ปี คนเหนืออัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ช่วงอายุ 35-39 ปีมากสุด ตำรวจทำสำเร็จมากกว่าอาชีพเหตุมีอาวุธในมือ

นพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ นำเสนอปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย เพื่อสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฆ่าตัวตาย รวมถึงแนวทางการป้องกัน ภายในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 จัดโดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆนี้ว่า มีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายทั่วโลก ว่า ในช่วง 20-30 ปีนี้ โรคมะเร็ง หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่เป็นสาเหตุทำให้มีการเสียชีวิตสูงจะลดความรุนแรงลง เนื่องจากความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า แต่ปัญหาสุขภาพจิตและการทำร้ายตัวเองจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน สำหรับประเทศไทย การคาดการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะผู้คนในสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการรักษาสุขภาพจิตมากเท่ากับการรักษาสุขภาพกาย​​

ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวอีกว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2558 จังหวัดในภาคเหนือ ยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ทั้งนี้ ในปี 2558 พบว่า ช่วงอายุ 30-54 ปี มีการฆ่าตัวตายมากกว่าช่วงอายุอื่น โดยเฉพาะ ช่วงอายุ 35-39 ปี มีการฆ่าตัวตายสูงสุด เพศชายยังคงฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญนำไปสู่การฆ่าตัวตายมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัยที่ควรร่วมมือกันเฝ้าระวังและป้องกันอย่างจริงจัง ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ เช่น การน้อยใจ ถูกดุด่า โดนตำหนิ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด หุนหันพลันแล่น ถูกนอกใจ อกหักรักคุด รวมไปถึง มีปัญหาติดสุรา ยาเสพติด ทรมานจากโรคเรื้อรัง เป็นโรคจิต โรคซึมเศร้าอยู่เดิม เคยทำร้ายตัวเองมาก่อน ตลอดจนมีปัญหาเศรษฐกิจ ยากจน ขัดสน เงินไม่พอใช้ เสียทรัพย์จากการพนัน เป็นต้น

“ขอย้ำว่าการฆ่าตัวตาย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยซึ่งอยากให้มองว่าการฆ่าตัวตาย เป็นเหมือนโรคๆ หนึ่ง ที่รักษาได้ และ ป้องกันได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้กำหนดมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายให้ประเทศทั่วโลกได้ยึดถือปฏิบัติ กำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละประเทศ ให้ลดลงจากเดิม10%ภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 6.5 ต่อแสนประชากร”นพ.ประภาสกล่าว

ด้านนพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังถูกภัยร้ายนี้คุกคาม แต่ทั่วโลกเองก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน เพราะการมองข้ามความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิต ที่เห็นได้จากงบลงทุนในการดูแลสุขภาพจิตทั่วโลก มีเพียงร้อยละ 2.8 และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเพียงร้อยละ 0.44 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อัตราการฆ่าตัวตายของไทยยังจัดอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายที่สำคัญ คือ ต้องขับเคลื่อนด้วยผู้กำหนดนโยบายอย่างจริงจังพร้อมมีข้อมูลหลักฐานวิชาการที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขับเคลื่อนไปได้

กลวิธีสำคัญในการดำเนินงานเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในแต่ละประเทศ ได้แก่ การมีวิสัยทัศน์ แผนงาน กลยุทธ์ ที่ชัดเจน การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการแก้ไขปัญหาใน ทุกรูปแบบ มีการประเมินอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงการดูแลสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชที่เกี่ยวข้อง ลดการเข้าถึงอาวุธ สารเคมี และแอลกอฮอล์ ตลอดจน ความร่วมมือที่ดีจากสื่อมวลชนในการนำเสนอปัญหาการฆ่าตัวตายที่มีความถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ลดและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย

พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์ประจำกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตำรวจและอดีตรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ความจริงแล้ว อัตราการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจไม่ได้สูงกว่าอาชีพอื่นเลย แต่ด้วยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จที่สูงกว่าคนทั่วไปถึง2-3เท่า ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงกว่าอาชีพอื่น เนื่องจากมีอาวุธปืนในครอบครองนั่นเอง การที่มีอัตราการปลิดชีพตัวเองสูงมีสาเหตุจากลักษณะงานที่มีความเสี่ยงสูง ภาระงานมาก มีปัญหาด้านการเงิน ภาระหนี้สิน ส่งผลให้เกิดความเครียด รวมทั้ง ยังพบว่าบางรายมีอาการทางจิตและโรคซึมเศร้า ยิ่งกว่านั้น สังคมภายนอกยังมองตำรวจในแง่ลบมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ คือ ชนวนที่นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย

สำหรับมาตรการป้องกันในหน่วยงาน คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตายและโรคทางจิตเวชต่างๆ การสังเกต เฝ้าระวัง เพื่อนร่วมงานที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือต่อไป ส่วนคนที่เคยมีอาการแล้วดีขึ้น จะมีการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตาย สามารถป้องกันได้ ทั้งจากคนใกล้ชิดและเพื่อนร่วมงาน โดยพบว่า การให้กำลังใจ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้