พีรพงศ์ ดาวพิเศษ ลูกเศรษฐีเอาถ่าน

พีรพงศ์ ดาวพิเศษ  ลูกเศรษฐีเอาถ่าน

เติบโตมาท่ามกลางสินค้าสุขภัณฑ์ซึ่งเป็นกิจการในครอบครัว แต่เขาเลือกที่จะก้าวสู่สายงานโรงแรม ด้วยความรักที่จะเห็น‘ความสุข’ ของผู้รับบริการ

๐ เริ่มดูแลกิจการโรงแรมเมื่อไหร่?
ช่วงที่ทำโรงแรม ลาฟอลร่า เขาหลัก ผมเรียนปริญญาตรีด้านบัญชี ชั้นปีที่ 3 ซึ่งโรงแรมเปิดมาได้ 3 เดือนก็เผชิญมรสุมลูกใหญ่คือ สึนามิ
หลังผ่านสึนามิไป เราซ่อมสร้างโรงแรมใหม่เสร็จ ผมเริ่มเข้ามาดูแลงานโรงแรมในฐานะผู้ช่วยประธานกรรมการ ดูแลเรื่องการเงินและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ช่วงนั้นไม่รู้อะไร ไปไหนก็มีแต่คนรังเกียจ เพราะเหตุการณ์ เขาไม่คิดว่ามันจะกลับมาดี แต่ผมมองว่า สึนามิไม่ได้เกิดกันบ่อยๆ สำหรับเราไม่ได้ถือเป็นสาระสำคัญ จึงซื้อที่เพิ่ม สร้างเพิ่ม พัฒนาโรงแรมของเราไป จนตอนนี้มียอดผู้เข้าพักดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก ทั้งหมดเพราะเรามีความตั้งใจ มีความโดดเด่นเรื่องของสถานที่และทำเล
ผมมองว่า ภัยธรรมชาติเกิดทุกที่ ทั้งกระบี่ ภูเก็ต แม้ที่เขาหลัก พังงานี่จะโดนหนัก แต่เราร่วมกันพัฒนาให้ดีขึ้น ชูจุดเด่นเรื่องของความเป็นส่วนตัวและความเป็นธรรมชาติ ทำให้ที่นี่ห้ามวางเตียงชายหาด ห้ามเรื่องมอเตอร์สปอร์ต ดังนั้น กลุ่มลูกค้าคือคนที่อยากมาพักผ่อนจริงๆ จากนั้นก็เป็นการพูดแบบปากต่อปาก หรือการบอกต่อ
กระทั่งปี 2553 ธุรกิจโรงแรมในพังงานโตมาก บริษัทจึงมอบหมายให้ดูแลโครงการ คาซ่า เดอ ลาฟลอร่า บูทีครีสอร์ทระดับไฮเอนด์ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท สตาร์ โฮม บีช รีสอร์ท ที่ดูแลทั้งโรงแรมลาฟลอร่าและคาซ่า เดอ ลาฟลอร่า
ผมรับผิดชอบในส่วนของร้านอาหารและโรงแรม ส่วนเทรดดิ้งเป็นพี่ชาย (ธิติพงศ์) ดูแล คุณพ่อ (สมพงศ์) ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจว่าใครจะดูส่วนไหน แต่ผมเลือกเองเพราะเป็นอนาคตของผม สาเหตุที่เลือกงานในส่วนนี้เพราะไม่ชอบอยู่ออฟฟิศ ครั้งแรกที่มาเขาหลัก มันน่าเบื่อมาก เงียบๆ แต่ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนผมไม่มั่นใจในตัวเอง และถามตลอด แต่พอดูแล้ว บางเรื่องความคิดของเราดีกว่า


๐ ห้องเรียนหลังใหม่?
ตัวผมเองไม่ได้เรียนมาทางด้านการโรงแรม จึงเริ่มทำงานจากการเรียนรู้ เขาทำงานอย่างไร เขาติดปัญหาอะไร เราต้องดูทุกแผนก ศึกษาจากปัญหาที่พนักงานเจอ คุยกับเขา ทำไมเจอปัญหาแบบนี้ มันเป็นเพราะอะไร
ปัญหาต่างๆ นานาเหล่านั้นคือแรงผลักสำคัญที่ทำให้ได้เรียนรู้การโรงแรม ผมไปลงเรียนการโรงแรมที่ทำให้ได้ความรู้เชิงทฤษฎี แต่การเจอปัญหาจริงๆ คือสิ่งที่ทำให้เราเติบโตจริงๆ เพราะปัญหาของแต่ละคน แต่ละวัน แต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกัน วิธีการแก้ไม่เหมือนกัน
ผมเลยมีคติว่า เมื่อเจอปัญหา เราแก้ปัญหาผิดพลาด ก็ต้องมองว่า เราจะไม่พลาดอีก เมื่อแก้แล้วไม่ใช่ เราจะแก้ใหม่และจะไม่ผิดซ้ำที่เดิม แน่นอนว่า ในช่วงแรกคุณพ่อก็ยังไม่ปล่อยให้คิดเองทำเองทั้งหมด แต่คอยสนับสนุนอยู่ด้านหลัง
ปัญหาที่พบเจอมีทั้งเรื่องงาน และเรื่องทัศนคติที่หลายอย่างผมอยากทำแบบนี้ แต่คนอื่นไม่อยากทำ เราจะโน้มน้าวใจเขาอย่างไร ต้องดูไอเดียคนอื่นว่าอะไรดีที่สุด แล้วเราเรียกกระบวนการนี้ว่า Lesson Learn โดยผมจะมีสมุดเล่มหนึ่งจดทุกอย่างไว้ เจอปัญหาอะไร จะแก้อย่างไรมันมีอะไรใกล้เคียงไหม จะบอกตัวเองตลอดว่า ปัญหามันทำเราเติบโต ถ้าเราบริหารอะไร ความผิดพลาดมันอยู่กับเรา จึงต้องเรียนรู้และไม่ทำซ้ำ
การอยู่เงียบๆ ความสงบทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง เริ่มมั่นใจมากขึ้น จากเมื่อก่อนผมไม่กล้าโดยเฉพาะกับคนที่อาวุโสกว่า แต่ตอนนี้อายุเท่าไรผมคุยได้ แต่ไม่ใช่เราจะถูกเสมอ ทำให้คิดที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า การให้อำนาจ (Empower) กับพนักงาน ทุกคนต้องกล้าคิด ที่นี่จะไม่ให้ไปถามผู้จัดการ ทุกคนต้องคิดเป็นและทำเป็น เมื่อมีแก้วแตกจะทำอย่างไร ไม่ใช่ต้องวิ่งไปถามผู้จัดการทุกครั้ง
จริงๆ คนไทยชอบคิด ถ้าเราปล่อยให้เขาทำ ปล่อยให้เขาลองพลาด สิ่งอะไรที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ผมให้เขาทำแต่เนิ่นๆ ถ้าพลาดก็ค่อยๆ แก้ เราให้โอกาสเขาทำในสิ่งที่ไม่มีเงื่อนไขด้านเวลา เราสมารถเรียนรู้ได้ แต่บางกรณีที่พลาดไม่ได้ เรามีเวลาน้อย ต้องมาประชุมหาทางแก้ที่ดีที่สุด
ผมไม่ใช่คนเก่ง อาศัยว่าทำไปก่อน แม้จะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่ในมุมของผมเอง เวลาทำก่อนคิด จะเร็วกว่าคนอื่นหนึ่งก้าว มันไม่ได้หนักหนาถึงขั้นคอขาดบาดตาย เพราะบางทีเราคิดมาก มันก็ถูกตีกรอบ ทำให้ไม่สามารถเริ่มทำอะไรซักที


๐ ร้านเสวยก็เข้ามาดูแลด้วย?
หลังจากคาซ่า เดอ ลาฟลอร่า เริ่มอยู่ตัว มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแล้ว เหมือนกับผมพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ทำได้ สิ่งที่ผมสร้างมาตลอดคือ การเอ็มพาวเวอร์คนให้คนทำงานโดยที่เราไม่ต้องเข้าไปดูตลอด เป็นองค์กรที่เดินหน้าได้เอง ทำให้มีเวลาไปทำอย่างอื่น
เสวย เป็นธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เริ่ม มันไม่ได้เติบโต เราไม่ได้ออกเมนูใหม่ ไม่ทำอะไรใหม่ๆ แต่งร้านใหม่ ในขณะที่คู่แข่งโตขึ้น ทั้งที่แบรนด์อายุน้อยกว่า ผมก็มานั่งดูว่าายังจะทำเป็นงานอดิเรกอยู่หรือเปล่า หรือจะคิดเป็นธุรกิจจริงจัง ถ้าทำจริงจังจะต้องรีแบรนด์ เพราะมันมีปัญหาเรื่องช่องว่างของกลุ่มเป้าหมาย (Generation Gap) คนชอบเสวยจริงๆ คือคนที่อายุ 70-80 แล้ว เขามาไม่ไหวแล้ว เราต้องการสร้างฐานลูกค้าใหม่ วัย 20-30 ปี แต่จะให้ไปอยู่สยามเลยก็ไม่ใช่แบรนด์เรา
ในช่วงแรก กลัวว่าถ้าทำให้แบรนด์เด็กลง ฐานลูกค้าเดิมจะไม่มาที่เรา จึงเลือกใส่ความเป็นโมเดิร์นเข้าไป พยายามทำตัวเป็นเกรย์ฮาวน์ แต่ในที่สุดแล้ว มันก็ไม่ใช่ “เสวย” ถือว่าพลาดแล้ว เพราะเราเป็นเสวย เป็นตำนาน มีเรื่องราว แล้วจะเชื่อมโยงกับคนแก่ คนวัยทำงานให้มาที่ร้านได้อย่างไร
กระทั่งคิดว่า แบบเรียนมานีมานะ น่าจะตอบโจทย์ จึงนำลายเส้นแบบเรียนที่คนวัยนั้นคุ้นเคยมาใช้เป็นมู้ดแอนด์โทนของร้าน เริ่มจากเมนู ตัวร้าน ซึ่งมันออกมาดีมาก เรานำร่องใช้ที่สาขาออลซีซั่น ที่มีร้านอาหารดีๆ หลายร้าน แต่ก็ทำให้เสวยกลายเป็นร้านที่มียอดขายดีอันดับต้นๆ ได้
ลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามานั่นคือ นักท่องเที่ยวกลุ่มจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และกำลังเริ่มกลุ่มฝรั่งที่เป็นเอ็กซแพท เราก็ปรับกลยุทธ์ เริ่มโฆษณา ทำโซเชียลมีเดีย ทำโฆษณามากขึ้น ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์
หลังรีแบรนด์ก็เปิดสาขาใหม่ที่ท่ามหาราช การตอบรับดีมากจนหากไม่ได้จองไม่ได้กิน เราโดนด่าเยอะมากเรื่องคิว แต่ก็กำลังพยายามปรับปรุงอยู่ แต่ทั้งหมดนี้คือ ความสำเร็จก้าวแรกที่สามารถทำให้เสวยบางสาขาโต 25% และบางสาขาโตถึง 100%
จาก 6 สาขาของเสวย ผมกำลังจะเปิดอีก 2 สาขาที่ตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์และเซ็นทรัลเวสต์เกท ตั้งเป้า 10 สาขา และจากนั้นจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเรามีเงินทุนพร้อม แค่ต้องการหาทำเลที่เหมาะ
การนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็มีเหตุผลนะ เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจครอบครัว ผมไม่แน่ใจว่าลูกผมจะเก่งหรือเปล่า จะชอบธุรกิจนี้ไหม แต่ผมอยากให้เสวยเป็นตัวแทนอาหารไทยไปนานๆ ที่แม้ผมไม่อยู่แล้ว แต่แบรนด์ยังอยู่ตลอดไป จึงอยากให้เป็นแบรนด์ที่บริหารโดยมืออาชีพ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นครอบครัวผมบริหาร แต่ต้องพร้อมเสิร์ฟให้กับลูกค้าตามสโลแกนของเสวยคือ ครบทุกรส สุดทุกมื้อ
ในขณะเดียวกันก็มองตลาดต่างประเทศด้วย เริ่มต้นที่สิงคโปร์ที่มีความพร้อมทั้งด้านการเงิน ภาษีและอื่นๆ เช่นเดียวกับจีน ฮ่องกง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้ามากินอาหารเรา ถ้ายกร้านไปใกล้เขามากขึ้น โอกาสก็น่าจะมากขึ้น


๐ ที่ต้องทำมากขนาดนี้เพราะแรงกดดันจากครอบครัวหรือไม่?
การที่อยู่ในครอบครัวธุรกิจ ผมไม่กดดันนะ มีเครียดบ้างในการทำงาน แต่รุ่นพ่อกดดันกว่าผมเยอะ เพระเขาไม่มีอะไรเลยเริ่มต้นจากศูนย์จริงๆ ผมมาสบายแล้ว ตัวผมรักสบาย แต่ก่อนที่จะสบายก็ต้องสร้างความสบายให้คนอื่นก่อน
ผมไม่ใช่คนเก่งแต่ก็ทำธุรกิจโดยสุจริต หวังดีกับทุกคน ไม่คิดคดโกง พนักงานทำงานด้วยกันก็ต้องมีความสุข ลูกค้าก็ต้องมีความสุขไปด้วย มันเป็นหลักคิดของเรา
แม้ว่าสิ่งที่ทำในมือหลายอย่างเริ่มอยู่ตัว สิ่งที่ผมคิดคือ พยายามให้เวลากับครอบครัวมากที่สุด ตอนนี้มีลูก 2 คนให้ภรรยาดูแลเป็นหลัก แต่วิธีการเลี้ยงลูกของผมคือ ล้มเองก็ต้องลุกเอง ไม่โอ๋ ไม่ตามใจเกินไป ให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด พยายามให้ดีที่สุด อย่าให้พลาด
สำหรับตัวผม ความสนุกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผมยังไม่แน่ใจ แต่สำหรับโรงแรมและร้านอาหารที่ลงมือทำเองนี้ ความสุขของผมคือ ความสุขของลูกค้า เขาตั้งใจมาเที่ยว มาพักโรงแรมเรา แล้วมีความสุข มีรอยยิ้ม หรือเขามากินข้าวที่ร้าน อาหารอร่อย ถูกใจ เขามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย


๐ มองภาพอนาคตเป็นอย่างไร?
ถ้าถามว่า ผมในวัย 50 ปีจะเป็นอย่างไร เนื่องจากพื้นฐานคนขี้เกียจ ผมจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ผมไมได้เอาเงินเป็นที่ตั้ง ถ้ามีโอกาสและชัวร์แล้วว่าธุรกิจเดินได้เอง ที่บ้านสบาย ลูกน้องอยู่ได้ พวกเขาเป็นหนึ่งในครอบครัวผม ที่เหลือผมก็อยากมีเวลาของตัวเอง
อายุ 50 ไม่อยากมานั่งประชุม อยากพาภรรยาเที่ยวแล้ว ไปเดือนนะ 2-3 ครั้งเลย ธุรกิจที่เหลือให้ลูกดูแลไป ตัวผมเองอาจจะดูแลหรือควบคุมอะไรซักอย่างจากไกลๆ ซึ่งสมัยนั้นคงมีเทคโนโลยีให้สื่อสารเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น ผมยอมเหนื่อยตอนนี้เพื่อสบายในวันหน้า และถึงวันนั้น ผมก็จะทำงานเพื่อสังคม เป็นการให้กลับคืนสังคม ประเทศและส่วนรวม