คนงานไทยในอิสราเอลฮิตเสพยา ส่อกระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คนงานไทยในอิสราเอลฮิตเสพยา ส่อกระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(รายงาน) หากคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอิสราเอลจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ : ธงชัย ชาสวัสดิ์

ขึ้นชื่อว่า "ปัญหาแรงงานไทย" แล้วมีมากมายหลายด้านที่เชื่อมโยงและทับซ้อนกันอยู่จนทำให้ทางรัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ทว่าล่าสุดก็มีปัญหาใหม่ผุดขึ้นซ้ำเติมอีก เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานถึงปัญหาของแรงงานไทยที่ไปทำงานยังประเทศอิสราเอลว่า แรงงานไทยที่นั่นมีปัญหาเรื่องยาเสพติด โดยขณะนี้พบว่า นิยมเสพ "ยาบ้า" ขณะทำงาน

นายธงชัย ชาสวัสดิ์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมศุลกากร กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามขบวนการค้าและเสพยาบ้าในกลุ่มแรงงานไทยขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้สืบเนื่องจากตรวจสอบพบว่า ยาบ้าแพร่ระบาดอย่างหนักในกลุ่มแรงงานไทยในต่างแดน อาทิ อิสราเอล ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยคณะทำงานจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มจากกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอลเป็นแห่งแรก

นายธงชัย บอกว่า แรงงานไทยในประเทศอิสราเอลเป็นกลุ่มที่มีการเสพยาบ้ามากที่สุด จากที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศอิสราเอล ได้สะท้อนปัญหารายงานมายังกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในชุมชนโมชาฟ และชุมชนคิบบุตส์ (หมู่บ้านหรือชุมชนที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์การเกษตร) ทั่วประเทศอิสราเอลกว่าครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 15,000 คน จากจำนวนแรงงานไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 27,000 คน พบว่า นิยมเสพยาบ้า

"เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่อาจลุกลามบานปลายต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิสราเอลเสียหายได้"

อธิบดีกรมการกงสุล ยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับแรงงานไทยที่มีปัญหายาเสพติดเป็นตัวอย่าง โดยก่อนหน้านี้เคยมีการส่งตัวแรงงานไทยในอิสราเอล 3 คนที่เสพยาบ้าจนเกิดอาการจิตหลอนกลับประเทศและเฝ้าดูพฤติกรรม

"นี่เป็นกรณีตัวอย่าง ถ้าหากแรงงานไทยรายใดเสพยาบ้าแล้ว เกิดการคลุ้มคลั่งก่อเหตุทำร้ายร่างกายคนอิสราเอลในพื้นจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ และภาพรวมอนาคตแรงงานไทยในอิสราเอลด้วย"

ด้าน นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) บอกว่า หลังได้รับการประสานงานมา เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. สถานทูต พร้อมด้วยทูตแรงงาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแรงงานไทยตามแคมป์ต่างๆ เพื่อพูดคุยจนได้ข้อมูลนำไปขยายผล

เขาระบุว่า การลักลอบขนยาบ้าไปยังอิสราเอลนั้นมีด้วยกัน 2 ช่องทางหลักๆ ได้แก่ การส่งพัสดุไปรษณีย์ และการว่าจ้างคนให้ลักลอบขนไปทางเครื่องบินซึ่งทำกันเป็นขบวนการ

ก่อนหน้านี้ประเทศอิสราเอลเคยจับกุมการลักลอบขนยาบ้าได้ 100,000 เม็ด และเชื่อว่าร้อยละ 80 ส่งไปทางไปรษณีย์ ที่เหลือร้อยละ 20 ส่งไปพร้อมกับผู้โดยสารทางเครื่องบิน

"ป.ป.ส.ได้ร่วมกับตำรวจอิสราเอลมุ่งทำลายเครือข่ายการลักลอบขนยาบ้าในอิสราเอล โดยจะบล็อกการลักลอบขนยาบ้าที่ฝั่งไทย และตัดต้นตอผู้ค้ายาบ้าที่อิสราเอล เชื่อว่า เป็นกลุ่มคนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในอิสราเอล แอบนำยาบ้ามาจำหน่ายในหมู่แรงงานไทย"

รองเลขาธิการ ป.ป.ส. บอกอีกว่า ส่วนใหญ่แรงงานไทยนิยมเสพยาบ้าเพื่อให้สนุกสนาน ผ่อนคลาย และไม่ให้เหงา ขณะเดียวกันนายจ้างก็เห็นว่า การเสพยาบ้าเป็นยาช่วยให้แรงงานขยันทำงานมากขึ้น

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ร่วมที่ตั้งขึ้นได้มีมาตรการป้องกันและปราบขบวนการยาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทย โดย มาตรการระยะสั้น จะตรวจสอบพัสดุทางไปรษณีย์ทุกชิ้นที่จัดส่งไปยังอิสราเอลอย่างเข้มงวด ตั้งแต่สำนักงานไปรษณีย์ในท้องที่ และไปรษณีย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยผู้ส่งจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อระบุชื่อผู้ส่งและที่อยู่ให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมา มีการปลอมแปลงชื่อและที่อยู่ผู้ส่งทำให้ยากต่อการเอาผิดตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับ ป.ป.ส.ของอิสราเอล ในการเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้บริษัทและนายจ้างของอิสราเอล และแรงงานไทย ตระหนักถึงโทษของการเสพยาบ้า และสูญเสียรายได้ไปแบบเปล่าประโยชน์ ซึ่งในปีหนึ่งๆ แรงงานไทยในอิสราเอล สามารถนำรายได้เข้าประเทศ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

แต่ผลการสำรวจพบว่า หากแรงงานไทยเสพยาบ้าคนละ 2 ต่อวัน ราคาเม็ดละ 2,000 บาท อาจจะทำให้สูญรายได้เข้าประเทศไทย ประมาณปีละ 40,000 - 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ส่วน มาตรการระยะยาว คณะทำงานฯ ได้ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอล และ ป.ป.ส.อิสราเอลอย่างใกล้ชิด โดยจะสืบสวนดำเนินคดีกับเครือข่ายทั้งขบวนการ

ด้านเจ้าหน้าที่แรงงานไทย ในกรุงเทอาวีฟ ประเทศอิสราเอล แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าหรือผลิตยาเสพติด ว่า จากการสอบถามไปยังบริษัทจัดหางานอิสราเอลหรือผู้จัดการที่โมชาฟ และคิบบุตส์ที่มีคนไทยทำงาน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับแรงงานไทย ทราบว่า มีการส่งทางไปรษณีย์ถึงแรงงานไทย ทั้งในโมชาฟทางภาคใต้ ได้แก่ โมชาฟโซฟาร์ คัทเซวา ฟาราน ภาคเหนือที่โมชาฟลีมัน และภาคกลางมีทั่วไป โดยแรงงานมักจะรวมกลุ่มในวันหยุดตอนเย็นวันศุกร์และวันเสาร์ หรือที่รู้กันในกลุ่มคนงานว่า "เปิดซองผ้าป่า" ซึ่งจะมีทั้งเล่นการพนัน ขายและเสพยาเสพติด

แรงงานไทยที่หนีจากกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันผู้สั่งการและบังคับให้แรงงานไทยผลิตยาเสพติดได้ถูกตำรวจจับกุมและถูกดำเนินคดีแล้ว ให้ข้อมูลว่า ถูกบังคับให้ผลิตยาบ้าและนำส่วนผสมเข้ามาผลิตเอง เช่น แป้ง สีผสมอาหาร ถูกแยกส่งมาทางไปรษณีย์จากประเทศไทย หรืออาจนำเข้าทางสนามบินหรือนำมาพร้อมกับการเดินทางเข้ามาทำงานของแรงงานไทยก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี อุปสรรคในการแก้ปัญหาที่สำคัญมี 2 ส่วน คือ กลุ่มนายจ้างหรือบริษัทจัดหางานมักไม่ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแส นอกจากนี้ตำรวจอิสราเอล ไม่ได้ให้ความสำคัญในการปราบปราม และบทลงโทษผู้ครอบครองและผู้ค้าไม่รุนแรงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว

สำหรับบทลงโทษตามกฎหมายอิสราเอลในข้อหาความผิดด้านยาเสพติด กรณีที่ครอบครองและใช้ยาเสพติด ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับ 25 เท่า ถ้าจำคุกมากกว่า 3 ปี ให้ปรับถึง 202,000 เชคเกล แต่ในกรณีของยาบ้านั้นที่อิสราเอลไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดร้ายแรงจึงมีโทษจำคุกเพียง 6 เดือนเท่านั้น แตกต่างกับการครอบครองและเสพยาไอซ์ และกัญชา จะมีบทลงโทษหนักกว่า

อนึ่ง ในระหว่างปี 2555 - มิ.ย.2556 มีแรงงานไทยถูกจับกุมคดียาบ้า 17 คน ปัจจุบันได้รับโทษพิพากษาให้จำคุก 6 คน โทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ที่เหลืออยู่ในกระบวนการของศาล 11 คน