สกว.ยก'แผ่นดินไหวแม่ลาว'สำคัญระดับประวัติศาสตร์

สกว.ยก'แผ่นดินไหวแม่ลาว'สำคัญระดับประวัติศาสตร์

สกว.ยก"แผ่นดินไหวแม่ลาว"สำคัญระดับประวัติศาสตร์ พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนเตรียมรับมือแผ่นดินไหวที่จะเกิดในอนาคต

กรมทรัพยากรธรณีจับมือ สวก. และสองสมาคมวิชาชีพ จัดสัมมนาถอดบทเรียนแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของไทย 5 พ.ย. อ.แม่ลาว จ.เชียงราย มุ่งรวบรวมข้อมูลรอบด้านบันทึกในสมุดเหตุการณ์สำคัญทางวิชาการ พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวที่จะเกิดในอนาคต และลดผลกระทบ-ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในงานแถลงข่าวเตรียมจัดงานประชุมสัมมนา “บทเรียนแผ่นดินไหวแม่ลาว เชียงราย ภัยพิบัติใกล้ตัว” ณ ห้องประชุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดยกรมทรัพยากรธรณี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมธรณีวิทยา โดยได้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนงบประมาณ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา มีความรุนแรงสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ในประเทศไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน อาคารบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ พังเสียหายเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวของไทย จึงได้สำรวจตรวจสอบพื้นที่และอาคารบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งศึกษาวิจัยข้อมูลด้านแผ่นดินไหววิทยา ธรณีวิทยาแผ่นดินไหว วิศวกรรมแผ่นดินไหว และผลกระทบด้านสังคม

เพื่อรวบรวมผลการสำรวจ ศึกษา วิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้เป็นสมุดบันทึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางวิชาการ จึงจำเป็นต้องมีการประชุมสัมมนาระหว่างหน่วยงานพันธมิตรด้านภัยแผ่นดินไหว และระดมความคิดเห็นของนักวิชาการอิสระต่าง ๆ รวมถึงประชาชน เพื่อถอดบทเรียนแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับให้กับประชาชนผู้สนใจเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการลดผลกระทบแผ่นดินไหว

นายสุพจน์ กล่าวว่า จากนี้ไปต้องทำงานในเชิงรุกเพราะประชาชนต่างต้องการรับทราบว่าจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอนาคตอีกหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้น ภาคส่วนต่างๆ จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ชัดเจนทั้งด้านวิชาการและเทคโนโลยี อีกทั้งต้องมีการซักซ้อมแก่ประชาชนเพื่อให้เตรียมตัวได้ทัน

ด้าน ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. กล่าวว่า จากบทเรียนที่ อ.แม่ลาว นักวิจัยกว่าครึ่งที่ทำวิจัยให้ สกว. ได้เข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว และในการประชุมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าจะเป็นการนำเสนอบทเรียนหลายเรื่อง อาทิ ความเสียหายของบ้านเรือนและอาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง การตรวจวัดแผ่นดินไหวและสำรวจอาฟเตอร์ช็อคโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งทำให้เห็นการเรียงตัวบนระนาบของการเกิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนพะเยา ผลกระทบต่อเขื่อน และอื่นๆ

ขณะที่ ผศ.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. ระบุว่า จำเป็นต้องมีการสร้างองค์ความรู้และเครือข่ายที่จะเข้ามามีบทบาทในการขยายผลความร่วมมือและเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายนักวิจัยหลากหลายสถาบัน เพื่อใช้ความรู้ที่มีอยู่มาสร้างความตระหนักและวางแผนร่วมกัน ซึ่งการประชุมสัมมนาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล เป็นโอกาสที่หน่วยงานต่างๆ จะเริ่มต้นกระชับความร่วมมือในการสร้างความเข้มแข็งในทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความสามารถในการตั้งรับภัยพิบิตให้เกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด