Family's Tutor

'ปรียาสิริ มานะสันต์ วิฑูรชาติ' ชื่อต้นๆ ที่ได้รับการบอกต่อ ยามที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องการไขข้อข้องใจเรื่องลูกรัก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชื่อของ 'ปรียาสิริ มานะสันต์ วิฑูรชาติ' โดดเด่นขึ้นมาตามสื่อต่างๆ ที่กล่าวถึงการเลี้ยงดูเด็กพิเศษ และยังเป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่ได้รับการบอกต่อ ยามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการผู้รู้มาไขข้อข้องใจทุกเรื่องของลูกรักตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงวัยรุ่น

เธอเป็นคนหนึ่งที่ "เชื่อมั่น" ในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษให้สามารถเรียนหนังสือได้ตามปกติ อาจเพราะการศึกษาเข้มข้นตลอดวัยเรียน และด้วยบทบาทของผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสติกบวกกับความ "มุ่งมั่น" ศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้เธอ บอกว่า เกิดจากแรงสนับสนุนจากคุณแม่กว่า 90%

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปรียาสิริหรืออาจารย์แพรี่ ตัดสินใจศึกษาเฉพาะทางด้านเด็กพิเศษที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins และ University of Wisconsin-Madison คว้าปริญญาโทและเอก ตามลำดับ

จากนั้นยังศึกษาเพิ่มเติมจนได้ประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลและประเมินเด็กออทิสซึมจากสหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาแล้ว อาจารย์สาวที่มีรอยยิ้มอบอุ่นมีความตั้งใจแน่วแน่ในการนำความรู้และประสบการณ์เมื่อครั้งทำงานรักษาเด็กพิเศษที่ Kennedy Krieger Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัยการดูแล รักษาและให้ความรู้ มารักษาเด็กๆ ในบ้านเรา

"สถาบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล Johns Hopkins ส่วนใหญ่เป็นเคสรุนแรง จึงมีทีมสหสาขาเข้ามาช่วยประเมินวางแผนการรักษา ทำให้ได้เรียนรู้การดูแลคนไข้ ซึ่งบางครั้งไม่ตรงตามทฤษฎีที่เรียน ต้องรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับคนไข้แต่ละราย" อาจารย์แพรี่ กล่าว

จากนั้นมีโอกาสเข้ามาสอนที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย โรงพยาบาลรามาธิบดี ล่าสุดได้รับมอบหมายให้ไปช่วยนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ในฐานะรองผู้อำนวยศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ ทำหน้าที่ผลักดันงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ให้กลายเป็นนโยบายระดับชาติ โดยโครงการนี้เป็นงานวิจัยที่ต้องการพัฒนาเด็กออทิสติกให้ได้เรียนต่อ และจะนำไปขยายผลในวงกว้าง

งานหลักที่คณะแพทยศาสตร์นี้ นอกจากการสอนแล้วก็มีการทำวิจัยและดูแลคนไข้ออทิสติก โดยเริ่มจากการประเมิน หาวิธีบำบัดช่วยเหลือเพื่อปรับพฤติกรรมและเปลี่ยนวิธีคิด เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพได้ผ่านวิธีการต่างๆ ซึ่งก็คงไม่มีวิธีการพิเศษที่จะช่วยให้ดีขึ้นโดยทันที ทุกอย่างต้องใช้เวลา

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือพฤติกรรมเด็กทั้งเด็กดื้อ เด็กขาดวินัย เด็กสมาธิสั้น เด็กซน ฯลฯ หากมองย้อนกลับไปคิดว่าตัวเองเป็นเด็กเช่นไร

"เป็นเด็กที่ร่าเริง มองโลกในแง่ดี" คำตอบแรกที่ได้รับ เธอเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น คุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้เต็มที่ ทั้งยังได้รับการดูแลเอาใจจากพี่ชายอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เธอมองโลกในแง่ดี ขณะเดียวกันก็เป็นข้อเสียเมื่อต้องเข้าไปอยู่สังคม เพราะทุกอย่างไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างที่คิด

“ช่วงเด็กๆ เพื่อนเล่นเกมนินเทนโด้ก็บอกแม่ว่า อยากได้ วันรุ่งขึ้นแม่ซื้อสารานุกรมสำหรับเด็กให้ชุดใหญ่ตั้งอยู่บนชั้นหน้าห้องน้ำ เวลาเข้าห้องน้ำก็จะหยิบเข้าไปอ่านแทนที่จะเล่นเกม และกลายเป็นเด็กที่รักการอ่านมาจนโต ส่วนโทรทัศน์ดูได้ไม่เกิน 2 ทุ่ม ก็ต้องเข้านอน” แนวทางการเลี้ยงลูกของครอบครัวมานะสันต์ "จะไม่ตามใจลูก"

เมื่อขอซื้อของเล่นตามเพื่อน คุณแม่จะถามว่า เพื่อนมีแล้วทำไมหนูจะต้องมี จากนั้นจะพาไปสถานเลี้ยงเด็ก แล้วบอกเธอว่า น้องๆ ที่นี่ก็ยังไม่มีเลย เมื่อเธอโตอยู่ในวัยมหาวิทยาลัยเริ่มอยากได้กระเป๋าแบรนด์เนม คุณแม่จะตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าได้เกรดเฉลี่ย 3.8 ขึ้นไปแล้วค่อยมาคุยกัน

เงื่อนไขดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้ขยันอ่านหนังสือ ส่งผลดีทำให้เธอได้รับเกียรตินิยมมาเป็นของขวัญให้กับครอบครัว

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เรียนด้านความบกพร่องทางความคิดของเด็ก อาจารย์แพรี่บอกว่า ส่วนหนึ่งเพราะคุณแม่พาไปสถานสงเคราะห์บ่อยครั้ง จึงมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดเด็กที่มีความพิการซ้ำซ้อน จึงเกิดความคิดว่า นอกเหนือจากการมาเยี่ยมแล้ว จะสามารถช่วยเขาได้อย่างไร

"ที่สำคัญคือคำสอนของแม่ที่บอกว่า เราโชคดีเกิดมาครบ 32 ถ้ามีใครต้องการความช่วยเหลือและเราสามารถช่วยเหลือได้ก็ทำไป จึงตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาดังกล่าว ซึ่งคุณแม่ให้การสนับสนุนและไม่เคยบังคับให้เรียนทางด้านธุรกิจ หรือกระตุ้นโน้มน้าวให้ไปเรียนทางด้านธุรกิจเลย ทั้งๆ ที่คุณแม่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์"

อาจารย์แพรี่เปิดห้องตรวจบนชั้นสอง อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ต้อนรับการมาเยือนของคุณพ่อคุณแม่หลากหลายคู่ ที่มาพร้อมกับสารพัดปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกน้อย ทั้งที่เป็นเด็กปกติและเด็กที่เบี่ยงเบนไปจากปกติ บางคู่มาพูดคุยเพื่อรับเคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาด มีความเป็นผู้นำ ยกตัวอย่างคำถามยอดนิยมที่ถูกถามบ่อยครั้งจากเกือบทุกเวที

คุณแม่หลายคนคิดว่า การให้ลูกฟังเพลงของโมสาร์ทตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จะทำให้ลูกเกิดมาฉลาด?

อาจารย์แพรี่ตอบฟันธงว่า มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า การฟังเพลงของโมสาร์ทตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ไม่ส่งผลใดๆ ต่อความฉลาดของทารก บางทีคนเราก็มีความเชื่อผิดๆ เพราะมีเด็กสมองพิการจำนวนมากได้ฟังเพลงโมสาร์ทตั้งแต่แผ่นแรกจนจบ ถามว่าช่วยอะไรบ้างไหม แค่ทำให้พ่อแม่สบายใจระหว่างตั้งครรภ์ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงโมสาร์ท แต่เพลงอะไรก็ได้ที่แม่เป็นคนร้อง

เพราะเวลาตั้งครรภ์ช่วง 5 เดือน ทารกจะพัฒนาประสาทสัมผัสในการฟัง ฉะนั้น คุณแม่ได้ยินอะไร ลูกก็จะได้ยินแบบนั้น แม่พูดคำที่สวยงามช้าๆ ลูกก็จะจดจำถ้อยคำแบบนั้น ในขณะเดียวกัน ถ้าแม่เป็นคนพูดเร็วๆ งานวิจัยระบุว่า จะทำให้ลูกมีพัฒนาการล่าช้า เพราะไม่สามารถจับคำได้ชัดเจน เพลงที่แม่เปิดฟังไม่ควรเป็นเพลงจังหวะหนัก ซึ่งมีผลให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะได้

คำถามยอดนิยมถัดมาคือ การเลี้ยงลูกให้มีความเป็นผู้นำต้องเลี้ยงอย่างไร

การเลี้ยงลูกให้มีความกล้าแสดงออก เป็นผู้นำ คนดี ฯลฯ คุณแม่สามารถสอนตั้งแต่ขวบปีแรกโดยสอนผ่านการเล่น เพื่อให้มีพัฒนาการ 5 ด้าน หนึ่งคือการเข้าสังคม (frindiness) สองเรื่องภาษา (language) สามเรื่องการใช้นิ้วมือ (hands) สี่การเคลื่อนไหว (movement) และห้าคือการคิด (mind & cognitive) มีงานวิจัยระบุว่า ทารกแรกเกิด - 1ขวบ สามารถรับรู้สิ่งที่แม่ปลูกฝัง ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีเมตตากรุณา รู้จักแบ่งบัน

"เหล่านี้พ่อแม่จำเป็นต้องสอน เด็กไม่สามารถตระหนักรู้ได้เอง เช่นเดียวกับการเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก ต้องสอนตั้งแต่ในช่วง 6 เดือน เพราะเป็นช่วงที่เด็กควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สังเกตเห็นได้ว่า เด็กสามารถแสดงออกทางสายตา ในหนึ่งวันขอแค่หนึ่งชั่วโมงสำหรับการสอนทักษะ 5 ด้านข้างต้นผ่านกิจกรรมร่วมกัน เช่น อาบน้ำ เล่นด้วยกัน พ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูกเต็มที่ เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็น"

พ่อแม่มือใหม่จำนวนมากเปิดตำราเลี้ยงลูกตรงเป๊ะตามทฤษฎีต่างๆ อาจารย์แพรี่เตือนว่า ทฤษฎีเป็นไกด์ไลน์มากกว่า สิ่งสำคัญต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น วิธีการปรับใช้ก็จะต้องดูลูกตนเองว่า มีลักษณะนิสัยอย่างไร บางครั้งตามทฤษฎีอาจบอกว่า ช่วงเดือนนี้แม่จะต้องเข้มงวดกับลูก แต่ถ้าลูกยังไม่มีความพร้อมก็ไม่ควรทำ เพราะแทนที่จะเป็นการฝึก ก็อาจเป็นการกดดัน ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด คุณแม่จึงควรสังเกตว่า ลูกพร้อมที่เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ แล้วหรือยัง

นอกจากคุณสมบัติความเป็นผู้นำแล้ว พ่อแม่ทุกคนล้วนอยากให้ลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ คำตอบที่ได้รับคือ...

มีนักปรัชญา ชาวเยอรมันพูดไว้ว่า Talent hits the target no one else can hit; Genius hits the target no one else can see. คนที่ฉลาดสามารถทำอะไรได้ในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ แต่ว่าอัจฉริยะจะทำอะไรได้ในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นหรือคิดไม่ถึง ดังนั้น ไม่ใช่ว่าการที่พ่อแม่สอนแล้วลูกจะเป็นอัจฉริยะได้ มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันนิยมกลับกลายเป็นความฉลาดที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในท้ายที่สุดแล้วไม่ได้ส่งผลถึงความสามารถในตอนโตแต่อย่างใด

งานวิจัยฉบับหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เด็กที่ไอคิวสูงเมื่อเรียนประถมก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีไอคิวสูงเมื่อเรียนมหาวิทยาลัย แต่เด็กที่สามารถปรับรูปแบบและวิธีการคิดที่ยืดหยุ่นต่างหาก ที่ในท้ายที่สุดกลับกลายเป็นเด็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

เรากำลังถูกกล่อมโดยการประชาสัมพันธ์ การเปรียบเทียบ การเลี้ยงดูแบบที่ไม่เข้าใจตัวตนของลูกอย่างแท้จริง ซึ่ิงจริงๆแล้วพ่อแม่เลี้ยงลูกให้เต็มศักยภาพได้ แต่ไม่ต้องคิดถึงขั้นอัจฉริยะ เพราะว่าการจะเป็นอัจฉริยะได้นั้น ต้องประกอบไปด้วยยีนที่ดี ยีนตัวนี้ในท้ายที่สุดจะช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ให้สั้นลง

เหมือนดั่งไอน์สไตน์ที่โดยแท้จริงแล้ว เขาก็ไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ที่เก่งว่านักฟิสิกส์ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สิ่งที่เขาคิดได้คือการมองข้ามผ่านสิ่งที่เห็นตรงหน้า เขาไม่ใช่แก้โจทย์ตอบข้อสงสัยแล้วจบ แต่เขาสร้างสูตรต่างๆ ขึ้นมาจากความสงสัยนั้นต่างหาก

ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือการพัฒนาลูกให้เต็มศักยภาพทั้ง 5 ด้านบวกกับ 4 อย่างคือสารอาหาร น้ำ นอนหลับ และออกกำลังกาย เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกับเซลล์สมองซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกพิสูจน์มาแล้ว ถ้าแม่ให้ลูกไปเรียนพิเศษคอร์สอัจฉริยะ แต่กลับมาให้ลูกรับประทานขนมขบเคี้ยว ก็ไม่มีทางที่ทำให้ลูกพัฒนาการได้เต็มตามศักยภาพได้

เคยมีคนกล่าวว่า ถ้าครอบครัวไหนมีลูกดี ก็แสดงว่าพ่อแม่โชคดี ทั้งๆที่แต่ก่อนเราเคยคิดกันว่า ลูกโชคดีเพราะพ่อแม่ดี นั่นแสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่พึงระวังและต้องสังเกตหลายประการ เราเรียนรู้กันมากขึ้นผ่านทางงานวิจัยต่างๆว่า สิ่งที่คุณแม่ทำส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการคิดและนิสัยของเด็ก เราเคยดูโฆษณาที่แม่ตะโกนออกมาเวลาที่รถปาดหน้า แล้วลูกสาวก็ทำตาม ถามว่าสิ่งเหล่านี้สอนเราหรือไม่?

เราอยู่ในยุคที่สื่อต่างๆ ส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณแม่มากขึ้น เช่น โฆษณานมผง อาหารเสริมที่ชูจุดขายเรื่องการเพิ่มไอคิว ความฉลาดต่างๆ ทั้งที่งานวิจัยออกมาบอกว่า การที่เด็กรับประทานนมผงหรืออาหารเสริมเหล่านี้ บางส่วนกลายเป็นเด็กออทิสติก บางส่วนเป็นโรคภูมิแพ้ และบางส่วนเสียชีวิตขณะนอนหลับ สิ่งเหล่านี้คุณแม่อาจไม่ทราบเพราะอย่างที่บอกว่า เราอยู่ในสังคมแห่งการแชร์ข้อมูลที่ไม่รู้ถูกหรือไม่ผิดหรือเปล่า ขอเพียงแค่เชื่อว่า น่าจะเป็นอย่างนั้นคนก็พร้อมจะทำตาม แต่เชื่อว่าร้อยละร้อยไม่มีแม่คนไหนอยากจะซื้อยาพิษให้ลูกแน่นอน