อย่าเป็นแค่ดราม่า“ถ้ำหลวง”

 อย่าเป็นแค่ดราม่า“ถ้ำหลวง”

การกู้ภัย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง วินาทีนั้นทั้งโลกลุ้นกันว่า จะช่วยเด็กๆ ได้ไหม แม้จะเป็นเรื่องหลัก แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยควรรู้

 ความเร็วและความแรงในการนำเสนอข่าวการกู้ภัย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย ของสื่อมวลไทยถูกตั้งคำถามมากมาย ทั้งแง่บวกและแง่ลบ

ถ้ามองในแง่ที่ต้องปรับปรุง ก็คือ ดราม่าเยอะกว่าการนำเสนอเรื่องที่เป็นความรู้ เพราะทุกสื่ออยากนำเสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ซึ่งต่างจากสื่อต่างชาติ(บางสำนัก) พวกเขาพยายามทำให้คนดูเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายที่สุด ข้อมูลที่นำเสนอ จึงต้องถูกต้อง แม่นยำ

ณ ตอนนี้ คนทั้งประเทศ รู้แล้วว่า เด็กๆ ทีมหมูป่ารอดตาย ,ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการแม่ทัพปฏิบัติการกู้ภัย13 ชีวิตติดถ้ำหลวง บัญชาการได้เก่ง,นายแพทย์ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์จากออสเตรเลีย มาช่วยตรวจสุขภาพและประเมินขั้นสุดท้าย ก่อนให้ทีมหมูป่าดำน้ำออกจากถ้ำหลวง ฯลฯ โดยสถานีข่าวช่องต่างๆ นำเสนอคล้ายๆ กัน 

ขณะที่การรายงานข่าวจากสื่อต่างชาติ อย่างญี่ปุ่น นอกจากแบบจำลองเส้นทางออกจากถ้ำ ผู้ดำเนินรายการยังจำลองสถานการณ์ให้เห็นว่า หากมีพื้นที่แคบๆ เหมือนในถ้ำ นักดำน้ำต้องแบกถังออกซิเจน ออกมาด้วย ยากลำบากเพียงใด ฯลฯ หรือสื่อจีนทำกราฟิก 3 มิติ เล่าภารกิจพาทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง

“การกู้ภัยครั้งนี้ แทนที่คนไทยจะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์หรือกระบวนการที่นำมาใช้ทั้งหมด กลายเป็นว่า แทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ถ้าเป็นสื่อต่างชาติ ไม่ว่าการรายงานข่าวจากญี่ปุ่นหรือข่าวที่ฝรั่งทำ กลับทำให้คนดูเข้าใจข้อมูลในพื้นที่มากกว่าข่าวไทย” เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่า แล้วบอกว่า  หลังจากหน่วยกู้ภัยเจอทีมหมูป่าแล้ว การนำเสนอของสื่อไทยบางส่วนเริ่มให้ความสนใจความรู้ความเห็นจากนักวิชาการกลุ่มต่างๆ และถึงที่สุดแล้ว คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องมาช่วยกันถอดบทเรียน เพื่อเป็นองค์ความรู้ใช้กับประเทศของเรา

20180703125829501 -1-

ในสถานการณ์กู้ภัย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง คงไม่ต้องอธิบายว่า ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่หลากหลายแค่ไหน ทั้งแพทย์ นักดำน้ำ นักภูมิศาสตร์ นักสำรวจถ้ำ นักเดินป่า ฯลฯ

“การกู้ภัยครั้งนี้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารค่อนข้างมาก เป็นประเด็นที่คนจับตามองเยอะมาก เพราะมีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม วิธีการทำข่าวของสื่อเอง ก็ไม่ได้เน้นไปที่เนื้อหาความรู้ เน้นที่ดราม่า ความตื่นเต้น อารมณ์ความรู้สึกมากกว่า” อาจารย์เจษฎา เล่า

ทั้งๆ ที่คนไทยเป็นเจ้าของพื้นที่ และเข้าถึงข่าวได้เร็วกว่านักข่าวต่างชาติ แต่เมื่อนำเสนอข่าวออกมา กลับไม่ได้เน้นสาระสำคัญเรื่องเทคนิคการกู้ภัยด้วยวิธีการต่างๆ เรื่องนี้  อาจารย์เจษฎา ยกตัวอย่าง การนำเสนอโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวง สื่อต่างชาติจำลองออกมาชัดเจนมาก แต่สื่อไทยไม่ค่อยมีเรื่องเหล่านี้

“ผมมองว่า เรื่องนี้มีอะไรให้เรียนรู้เยอะ โดยเฉพาะเทคนิคการกู้ภัย เทคนิคการเอาตัวรอด หรือ เทคโนโลยีมากมายที่นำมาใช้ แต่ทำไมสื่อไทยไม่ค่อยนำเสนอ”

กรณีดังกล่าว อาจารย์เจษฎา แยกออกเป็นสองส่วน คือ ก่อนจะค้นพบทีมหมูป่า 13 ชีวิต และหลังจากพบทีมหมูป่าแล้ว

“ตอนนั้นผมเองก็อยากรู้ว่า ก่อนที่นักดำน้ำจะพบเด็กๆ พวกเขาเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้อย่างไร ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ทั้งปัญหาเรื่องออกซิเจนในถ้ำ การขับถ่ายในถ้ำ การเอาตัวรอดจากเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ

ส่วนเรื่องนอกถ้ำ นักข่าวก็ไม่ค่อยรายงาน เรื่องปัญหาทางภูมิศาสตร์ น้ำที่เข้ามาท่วมในถ้ำ มาจากพื้นที่ไหน มันมาจากน้ำฝนหรือชั้นหิน ทำไมการสูบน้ำจึงยากลำบากขนาดนั้น เทคโนโลยีการสูบน้ำ เทคโนโลยีที่ใช้ตามหาเด็กๆ เรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยเห็นสื่อนำเสนอ แต่สื่อไปเน้นเรื่องความกล้าหาญของหน่วยซีล”

ในช่วงที่คนติดตามข่าวสารเรื่องนี้ทั้งประเทศ อาจารย์เจษอฎา วิเคราะห์ต่อว่า หลังจากค้นพบทีมหมูป่าแล้ว แม้จะช่วยเด็กออกมาได้ หากเด็กๆ ต้องอยู่ในถ้ำต่อไปอีกสองสามเดือนจะอยู่ยังไง มีการบอกเล่าเรื่องนี้น้อยมาก

“มีองค์ความรู้เยอะมาก (ย้ำ) เรื่องเหล่านี้ต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญสายวิศวกรรม สายวิทยาศาสตร์ สายภูมิศาสตร์ สายแพทย์ศาสตร์ มาช่วยกันเล่า แต่รายงานข่าวทีวีแต่ละช่อง ทั้งๆ ที่มีเวลาเยอะ แต่เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดราม่าบ้าง บางสำนักนำเรื่องร่างทรง ความเชื่อ ตำนาน มาเล่า ส่วนเรื่องมนุษย์จะอดอาหารได้กี่วัน ไม่มีคำอธิบายต่อว่าเพราะอะไร หรืออีกหลายเรื่องที่อยู่ในพื้นที่ ปริมาณข่าวแบบนี้ยังมีอยู่น้อย คนดูแทบจะไม่ได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และตอนนี้อารมณ์ข่าวก็มุ่งไปที่น้องๆ ทีมหมูป่า”

หลังจากเหตุการณ์นี้จบ กลับสู่สถานการณ์ปกติ อาจารย์เจษฎา ย้ำว่า จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น เพราะในอนาคต การดูแลคนเที่ยวถ้ำ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ต้องทำยังไง

“ในอังกฤษมีถ้ำเยอะกว่าไทย พวกเขามีทีมกู้ภัยแบบนี้สิบกว่าทีม แต่ประเทศไทยไม่มีสักทีม การกู้ภัยครั้งนี้จึงเป็นการเรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”

20180704140856518 -2-

หากถามว่า ทำไมคำอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องภูมิศาสตร์ ชั้นหินที่เจาะ หรือโครงสร้างถ้ำหลวง ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการนำเสนอน้อยมาก ทั้งๆ ที่จำเป็นในการกู้ภัยกู้ชีวิต

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ให้คำตอบคล้ายๆ ดร.เจษฎา ว่า สื่อไทยจำนวนมากไม่ค่อยสนใจเนื้อหาเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ไปเน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ถ้าเป็นสื่อต่างประเทศ มีการทำอินโฟกราฟฟิค มีรายละเอียดว่า ทำไมระยะทางจากปากถ้ำถึงเข้า-ออกยาก

“ครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมาก มีสองสามแง่มุม คุณคิดว่า อะไรเป็นตัวทำให้พฤติกรรมการสื่อสารของสื่อไทยกับสื่อต่างชาติแตกต่างกันขนาดนี้ แม้กระทั่งคนในวงการสื่อ ก็บอกว่า มีคนรุ่นใหม่ที่ทำอาชีพสื่อ แต่ทำไมวิธีการสื่อสารยังเหมือนเดิม

อีกประเด็นที่ผมเห็น คือ แม้สื่อไทยจะไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้ยากที่จะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ อย่างเด็กติดถ้ำ แล้วไม่ได้กินอาหารหลายวัน คนก็สงสัยว่า หลังจากพบตัวแล้ว ทำไมกินอาหารทันทีไม่ได้ เพราะอะไร ซึ่งคนที่ถามแบบนี้ แสดงถึงการขาดความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสรีระวิทยา และร่างกายมนุษย์"

ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ มองว่า ปรากฎการณ์ครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะเอาตัวความรู้มาขยายออกไปให้คนหมู่มากเข้าใจ

"ถ้าการกู้ภัยสำเร็จทั้งหมดแล้ว ผมมองว่า คนไทยก็จะสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมุมอุบัติภัยมากขึ้น ในประเทศพัฒนาแล้ว การฝึกฝนเรื่องการช่วยตัวเองเมื่อเกิดอุบัติภัย หลายเรื่อง ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ผมไม่แน่ใจว่า หน่วยงานไทยมีการฝึกฝนเรื่องการดับเพลิงเวลาเกิดเพลิงไหม้ไหม ในพื้นที่แต่ละแห่งมีความจำเพาะไม่เหมือนกัน อย่างพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ คนญี่ปุ่นจะสอนวิธีีดูแลตัวเองเมื่อเกิดภัยพิบัติตั้งแต่ประถม สอนแล้วฝึก จนมีทักษะติดตัว ถ้าเกิดเหตุ คนญี่ปุ่นก็จะทำตามที่ฝึกฝนไว้โดยอัตโนมัติ ถ้าเราไม่ได้ฝึก เราจะเสียเปรียบ ตอนที่ผมไปเรียนที่ญี่ปุ่น ตอนเกิดแผ่นดินไหวที่ห้องแล็บ เรายังยืนงง ทำอะไรถูก”

 ทั้งๆ ที่ในเมืองไทยก็มีหนังสือคู่มือการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ แต่เหตุใดองค์ความรู้เหล่านั้นไม่มีการย่อยมาสู่กระบวนการปฎิบัติ ดร.นำชัย บอกว่า เรื่องเหล่านี้ยังไม่เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กๆ 

“เมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ถ้าจะให้เด็กๆ รู้จักวิธีเอาตัวรอด เราต้องสอน โดยจัดไว้ในระบบการเรียน เด็กเล็กๆ จมน้ำตายเยอะมาก เพราะว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าเรารู้แบบนี้ ก็ควรมีหลักสูตรให้เรียนว่ายน้ำตั้งแต่เด็ก อย่างเด็กที่ประสบภัยกลุ่มนี้ ผมต้องยกย่องโค้ช วิธีรับมือของเขาคือ หนีน้ำไปเรื่อยๆ พยายามประหยัดพลังงานมากที่สุด เพราะหวังว่าจะมีคนมาช่วย เวลาประสบภัย คนเราต้องมีความคิดที่จะเอาตัวรอด เหมือนน้องๆ ทีมหมูป่า ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นความโชคดีในความโชคร้าย เพราะเด็กๆ ก็มีสภาพจิตใจเข้มแข็งมาก”

หากให้มองสถานการณ์ช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง เขามองว่า ครั้งนี้เป็นการทำงานของผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างชาติ การทำงานเป็นทีมแบบนี้ได้ ต้องมีเครือข่าย 

"ครั้งนี้เรามีนักดำน้ำ นักปีนถ้ำ ทหารที่มีความรู้เหมาะกับสถานการณ์ ในเหตุการณ์นี้ ผมคิดว่า เป็นนาทีที่สื่อน่าจะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ ทำไมทีมงานถึงตัดสินใจเอาเด็กออกในช่วงเวลานั้น ขณะที่อีลอน มัสก์ ก็เขียนแสดงความเข้าใจที่ไทยตัดสินใจเอาเด็กออกจากถ้ำด้วยวิธีการดำน้ำ แต่คนไทยบางคนไม่เข้าใจ ไม่มีพื้นฐานความรู้ตรงนี้ พูดแง่ลบออกมาอีก เป็นการทำลายกำลังใจของคนทำงาน

หรือย้อนไปตอนที่เด็กติดถ้ำหลายวัน ในเฟสบุ๊คหมอเวร แชร์ ว่า คนอดอาหาร สภาพร่างกายจะมีปฏิกิริยายังไง ถ้าเข้าไปช่วยต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เรื่องเหล่านี้เป็นความรู้ทางการแพทย์ ถ้าคนได้รู้ข้อมูลชุดนี้ และลุ้นอยู่ ก็จะคลายความกังวลได้บ้าง น่าจะมีการรวบรวมองค์ความรู้แต่ละส่วน ถ้าเราไม่บันทึกเอาไว้ หากเกิดเเหตุการณ์อีก เราก็ไม่เรียนรู้”

อาจารย์นำชัย บอกว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยต้องฝึกทักษะ เพื่อเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติ 

 “ทักษะการเอาตัวรอด ควรมีการเรียนรู้ จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อย่างการสอนเด็กว่ายน้ำจำเป็นมาก หรือการเตรียมความพร้อมเมื่อประสบภัยธรรมชาติ รวมถึงการเรียนรู้เรื่องศิลปะป้องกันตัว เวลาโดนจู่โจม”

20180627163728065