"ทารก" จุดสตาร์ทนักอ่าน

"ทารก" จุดสตาร์ทนักอ่าน

ถึงจะรู้ข้อดีของ "การอ่าน" กันแล้ว แต่เพื่อตอกย้ำคุณค่าของหนังสือ เรามีนานาทัศนะของผู้รู้มาชักชวนและกระตุกต่อมสมอง ให้พ่อแม่ลองนำไปใช้

ทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสือ เป็นสื่อที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก รวมถึงการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ช่วยเสริมสร้างพื้นฐานทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม คุณธรรม และสติปัญญา ให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี

และฮีโร่ที่จะมาช่วยให้พ่อแม่และลูกเข้าใกล้กันมากขึ้น ก็คือ หนังสือนิทาน ซึ่งเป็นสื่อสำคัญที่หาได้ง่าย เด็กหยิบจับได้สะดวก ไม่อันตราย และราคาถูกเมื่อเทียบกับสื่อชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็กหลากหลายด้าน และความสัมพันธ์ความรักและความอบอุ่นระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมเด็กให้มีศักยภาพเพื่อการเรียนรู้ได้ในระยะยาว

แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น พ่อแม่ควรสื่อสารผ่านการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ เจตคติ ฯลฯ ให้แก่ลูกผ่านการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกัน และวิธีการสื่อสารที่สมบูรณ์แบบที่ควรทำให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ การสื่อสารด้วยวาจาหรือวจนภาษา (Oral communication) เช่น การพูด การร้องเพลงกล่อม ซึ่งต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว พ่อแม่ก็ควรใช้การสื่อสารที่มิใช่วาจาหรืออวจนภาษา (nonverbal communication) การแสดงสีหน้าท่าทางด้วย รวมทั้งให้ลูกได้ใช้การสื่อสารด้วยการมองเห็น (visual communication) ผ่านการสื่อสารด้วยภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นช่วงเวลาคุณภาพในครอบครัวอย่างแท้จริง

แม้จะเข้าใจในประโยชน์ของหนังสือและการอ่าน แต่พ่อแม่หลายคนยังติดคำถามว่า ควรจะเริ่มเมื่อไรจึงจะเหมาะสมที่สุด

ตอนนี้ดีที่สุด

คำถามหนึ่งที่พ่อแม่อาจสงสัยว่าควรจะเริ่มอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อายุเท่าไรดี ระพีพรรณ พัฒนเวช ผู้เขียนหนังสือ "ลูกรักกับหนังสือเล่มแรก" ให้คำตอบว่า เริ่มอ่านให้ฟังได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องแม่ กันเลย ถึงแม้ทารกจะไม่เข้าใจเนื้อหา แต่เขาจะเริ่มให้ความสนใจเสียง หัดแยกแยะระดับเสียงที่แตกต่างกัน ทารกจะชอบได้ยินเสียงของพ่อแม่ขณะอ่านหนังสือ ขณะร้องเพลง พ่อแม่ควรถือโอกาสส่งเสียงคุยตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การฟังทุกขณะ

สำหรับเด็กแรกเกิด ในวัย 4-6 เดือน ตาของเขาเริ่มมองเห็นได้ชัดแล้ว ควรนำหนังสือภาพมาเปิดให้ดู ยิ่งเป็นภาพที่เด็กรู้จัก อย่างเช่น สุนัข แมว ผลไม้ เด็กจะยิ่งสนใจ และควรเป็นภาพเสมือนจริง ไม่มีฉากหลังรุงรัง แต่เมื่อทารกเติบใหญ่เข้าสู่วัยเด็กเล็ก พ่อแม่ควรหาหนังสือภาพ แล้วชี้ชวนให้ลูกดูตามภาพไปทีละภาพ ทีละหน้า และอ่านออกเสียงด้วย บางครั้งอาจชวนให้ลูกเป็นผู้เปิดพลิกหน้าหนังสือเองก็น่าสนใจไม่น้อย

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะอีกว่า เมื่อลูกอายุ 6-8 เดือน ควรเริ่มอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เขาฟังวันละ 10-15 นาที จะอ่านก่อนนอนหรือเวลาใดก็ได้ แต่ต้องไม่บังคับเด็ก และต้องหาเรื่องที่ไม่น่าเบื่อสำหรับเด็ก อ่านเรื่องเบา ๆ สบาย ๆ เลือกเวลาที่เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ที่สำคัญพ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกเห็น ตอนไหนที่ตลกหรือน่าสนใจก็อ่านออกเสียงให้ลูกได้ยิน หรือดึงความสนใจด้วยหนังสือปริศนาคำทาย

เมื่อหนูน้อยอายุสัก 2 ขวบ เขาจะเริ่มมีความชอบที่ต่างกัน แนะนำว่าให้เลือกตามความสนใจของเด็ก และไม่บังคับ หนังสือที่เด็กชอบจะทำให้เขามีความสุขมากกว่า พอหนูอายุ 3 ขวบ เด็กๆจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีอย่างน่าทึ่ง อยากรู้อยากเห็น สนใจเรื่องเล่าง่ายๆ ถ้าชอบหนังสือหรือนิทานเล่มไหน มักจะขอให้อ่านให้ฟังซ้ำๆ และที่น่าดีใจที่สุดคือ ถ้าเด็กชอบและสนใจหนังสือในวัยนี้ เขาจะไม่ห่างหนังสือไปตลอดชีวิตเลย

ยิ่งเด็กยิ่งดี

รู้กันแล้วว่าควรปลูกฝังนิสัยการอ่านตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กทารกอยู่ที่บ้าน แต่ก็อยากให้ลองมาดูกันว่ามีทฤษฎีอะไรที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมคำกล่าวที่ว่า "ลูกของเราสามารถอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก"

ก่อนหน้านั้นในช่วงทศวรรษ 1970 มีนักวิทยาศาสตร์สองคนคือเดวิด ฮูเบิล (David Hubel) และ ทอร์สทิว วีเซิล (Torsteu Wiesel) ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบเรื่อง “หน้าต่างแห่งโอกาส” (windows of opportunity) หรือ ระยะวิกฤติของพัฒนาการของสมอง กล่าวคือมันเป็นช่วงเวลาที่สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด

เขาทั้งสองสรุปว่าเด็กวัยแรกเกิดถึง 2 ปี คือหน้าต่างแห่งโอกาสในการสร้างความผูกพันและความไว้วางใจผู้อื่น ส่วนเด็กวัย 3-5 ปี ผู้ดูแลเด็กต้องเสริมสร้างในเรื่องการรู้จักถูกผิด และการควบคุมอารมณ์ตัวเอง นี่จึงเป็นโอกาสอันแสนวิเศษที่จะใช้เครื่องมือ อย่าง การอ่านหนังสือ กระตุ้นพัฒนาการและเป็นรากฐานสำหรับวัยต่อๆไป

ในขณะที่ วิทยาศาสตร์ทางจิตใต้สำนึกยังพบว่า สิ่งที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ ความรู้สึก และจิตใจของเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ไปจนกระทั่ง 7 ขวบนั้น หล่อหลอมคุณภาพชีวิตของเขาไปตลอดชีวิต

แพม ชิลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยกล่าวย้ำให้เห็นประโยชน์ของการอ่านในท้ายที่สุดว่า ลูกของเรามีความพร้อมสูงสุดที่จะเรียนรู้ทักษะด้านการอ่านและคำศัพท์ตั้งแต่เกิดแล้ว ถ้ามัวคอยจนกว่าจะให้เด็กพูดได้หรือเมื่อเริ่มเรียนหนังสือ เท่ากับพลาดช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะสร้างพื้นฐานในด้านการอ่านและการเรียนรู้ให้กับเด็กไปแล้ว