ฝึกสมองซีกขวา...ให้อะไรมากกว่าที่คิด

ฝึกสมองซีกขวา...ให้อะไรมากกว่าที่คิด

การบริหารสมองที่โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นนำมาใช้ฝึกสอนเด็ก ๆ ของเขา ทั้งวิธีสอนให้เด็กได้ฝึกใช้สมองซีกขวาได้คล่องแคล่ว

ใครเคยดูรายการ “ดูให้รู้” จาก Thai PBS คงเคยผ่านตาเรื่องการบริหารสมองที่โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นนำมาใช้ฝึกสอนเด็ก ๆ ของเขา ทั้งวิธีสอนให้เด็กได้ฝึกใช้สมองซีกขวาได้คล่องแคล่ว

การสอนเพื่อให้เด็กมีระเบียบวินัย รู้จักวางเป้าหมายชีวิต และมีความอดทนมุ่งมั่น ซึ่งจากการศึกษาเกี่ยวกับคนที่มี resilience สูง ๆ (คือคนที่สามารถฟื้นใจให้เข้าสู่สมดุลและดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติได้หลังจากประสบวิกฤตร้ายแรงในชีวิต) พบว่าคนเหล่านี้มีปัจจัยที่เหมือนกันคือ เป็นคนที่มีวินัยและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต

ต้องบอกว่าในเรื่องของวินัยนั้น คนไทยเรายังมีอยู่น้อยนิดจริง ๆ ค่ะ ดูได้จากความหย่อนยานในการเคารพกฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบต่าง ๆ เรายังเอาความสบายเป็นที่ตั้ง เช่น โทรศัพท์ขณะขับรถ เปลี่ยนเลนในช่วงเส้นทึบ ข้ามถนนโดยไม่ยอมขึ้นสะพานลอย ถ้ามีไฟแดงที่บ่งบอกสัญญาณว่าห้ามเดินข้ามถนน พอรถขาดช่วง ก็จะมีคนวิ่งข้ามโดยไม่ใส่ใจกับสัญญาณไฟ แอบลักไก่กลับรถบ้าง ใช้วิชามารขับแทรกโดยไม่ยอมต่อคิว สารพัดที่เราจะทำกันและมองเห็นเป็นเรื่องปกติ ยอม ๆ กันไป นี่แค่พฤติกรรมบนท้องถนนเท่านั้น ยังไม่นับการดำเนินชีวิตอื่น ๆ ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ที่พวกเราใช้ทรัพยากรร่วมกัน

ก่อนจะร่ายยาวไปถึงเรื่องวินัยและการตั้งเป้าหมายชีวิต (ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป) อยากจะเล่าเรื่องการบริหารสมองซีกขวาก่อนค่ะ นอกจากจะเป็นสมองซีกที่ใช้เพื่อจินตนาการ ซึมซับสุนทรียะของดนตรีและศิลปะแล้ว ยังเป็นส่วนที่ใช้เพื่อควบคุมอารมณ์ของคนเราด้วย เรียกว่าคนอีคิวดีต้องอาศัยการพัฒนาของสมองซีกขวาเช่นกัน

ที่ประเทศญี่ปุ่นเขาสอนด้วยวิธีการที่อาศัย “ความเร็ว ใช้เสียงดัง และให้เนื้อหาจำนวนมาก ๆ” เพื่อกระตุ้นสมองซีกขวาให้ทำงาน เพราะธรรมชาติของสมองซีกขวานั้นจะรับรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและรับรู้ได้ทีละมาก ๆ พ่อแม่บางคนก็มาเรียนตั้งแต่ยังตั้งครรภ์ก็มีค่ะ(ชอบข้อเขียนของ ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ ที่ว่า การเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ได้ดูจากการดูแลลูกหลังคลอดแล้วเพียงอย่างเดียว หากแต่คุณแม่ที่ดีจะต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ด้วย) เขาบอกว่าใช้ได้ดีตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 12 ปี และสนับสนุนให้พ่อแม่มานั่งเรียนเพื่อจะได้มีวิธีการที่ถูกต้องไปสอนลูก ๆ ที่บ้าน

รูปแบบการสอนของเขามีหลากหลาย เช่น ใช้แผ่นภาพรูปเรขาคณิตที่มีสีสันต่าง ๆ ให้เด็กดูแล้วปิด ให้เด็กระบายสีตามภาพที่ได้เห็น เป็นการฝึกให้เด็กจำสี หรือให้เด็กอายุ 3 ขวบดูภาพกลุ่มสัตว์กินเนื้อหลาย ๆ ภาพโดยให้ดูเร็ว ๆ พร้อมกับที่ครูบอกชื่อสัตว์ดัง ๆ เด็กจะสามารถจดจำได้ว่าสัตว์กินเนื้อมีอะไรบ้าง การให้เด็กดูเร็ว ๆ จะกระตุ้นให้สมองซีกขวาทำงาน เพราะสิ่งเร้าเร็ว ๆ จะไม่มีช่วงเวลาให้สมองซีกซ้ายได้คิด แต่จะทำให้สมองซีกขวาซึมซับภาพเข้าสู่จิตใต้สำนึก หรือให้เด็กดูภาพเร็ว ๆ จนเขาจำได้ว่าภาพเรียงลำดับกันอย่างไร พอครูเปิดภาพเด็กจะพูดก่อนได้เห็นภาพด้วยซ้ำ

อีกวิธีหนึ่งคือครูจะให้หนังสือเด็กคนละเล่ม ให้เด็กกรีดหนังสือเร็ว ๆ ในครั้งแรก(ตอนกรีดหนังสือก็ให้อ่านไปด้วย อ่านเท่าที่เห็น) ครั้งที่สองให้กรีดหนังสือช้ากว่าครั้งแรก และครั้งที่สามก็ให้กรีดหนังสือช้ากว่าครั้งที่สอง หลังจากครบสามครั้งเขาให้เด็กเขียนเนื้อหาจากการอ่านตอนที่กรีดหนังสือสามครั้งนั้น ซึ่งใช้เวลาไม่กี่วินาที พวกเด็ก ๆ ก็เขียนกันได้ นอกจากนั้น เขายังเน้นการออกกำลังกาย โดยให้เด็ก ๆ โหนบาร์แล้วนับเลขเพื่อดูว่าเด็กสามารถโหนบาร์ได้นานเท่าไร แต่ไม่ได้ทำเพื่อการแข่งขัน หากให้เด็กได้ฝึกกล้ามเนื้อแขน และเน้นความสนุกสนาน

แม้แต่การคิดเลข เด็กเล็ก ๆ อายุสามขวบก็สามารถบวกเลขคูณเลขได้อย่างน่าอัศจรรย์ แถมเด็ก ๆ ยังสามารถบอกชื่อภูเขาไฟในประเทศญี่ปุ่นได้ครบถ้วนถูกต้องด้วยการจำเป็นเพลง วิธีการฝึกจะใช้ภาพและเสียงของครูที่พูดดังและเร็วเป็นตัวเร้า เด็กจะรู้สึกสนุก ไม่เบื่อหน่าย ทั้งนี้ เขามีวิธีการทดสอบด้วยว่าเด็กรับรู้จากสมองซีกขวาหรือซีกซ้าย โดยให้เด็กดูภาพที่ระบายสีเร็ว ๆ ถ้าเด็กเห็นเป็นสีทองและสีเงินแสดงว่าเด็กรับรู้ด้วยสมองซีกขวา แต่ถ้าเขาเห็นเป็นสีชมพูหรือสีอื่น ๆ แสดงว่าเด็กรับรู้ด้วยสมองซีกซ้าย ด้วยวิธีการนี้เขาบอกว่าพอเด็กอายุ 6 ขวบก็จะมีพัฒนาการในการใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาได้อย่างผสมผสานเชื่อมโยงกันอย่างลงตัวเหมาะเจาะค่ะ

สำหรับพ่อแม่สิ่งที่ครูเน้นคือการบอกผู้ปกครองไม่ให้พูดเปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่น ๆ ให้รู้จักพูดชมเชยหรือปรบมือแสดงความชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดีเพื่อเป็นการเสริมแรงลูก และเน้นให้สอนศีลธรรมแก่ลูกตั้งแต่ลูกอายุย่างเข้าสองขวบ โดยเฉพาะเรื่องไม่แกล้งเพื่อน ไม่โกหก และไม่โลภ เท่ากับเป็นการปูพื้นฐานให้เด็ก ๆ มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเป็นการกล่อมเกลาให้เด็ก ๆ มีความซื่อสัตย์ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญมากทีเดียว

พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นเองก็ยินดีมารับฟังคำแนะนำจากคุณครูอย่างไร้อัตตา เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ เพราะถ้าพ่อแม่มีความรู้ในการเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้อง ลูกก็ย่อมได้รับการกล่อมเกลาที่ดีจนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศชาติในอนาคต และอย่ามุ่งให้เด็กเป็นคนเก่งเท่านั้น ควรเลี้ยงให้เขาเป็นคนดีและมีความสุขด้วย

เมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยเลิกมองคนที่ทำดี ยอมเสียเปรียบเป็นคนโง่ และมองคนที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมเอาเปรียบคนอื่นได้เป็นคนฉลาด ก็คงจะมีพ่อแม่อีกหลายคู่ที่เลิกกังวลว่าจะเลี้ยงลูกให้มีเหลี่ยมมีคมเพื่อไม่ให้เสียรู้คนอื่นได้อย่างไร