อย่าไว้ใจ...เด็กซนคือเด็กฉลาด

อย่าไว้ใจ...เด็กซนคือเด็กฉลาด

ถ้าลูกรักของคุณมีอาการอยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่ง สมาธิให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ หรือซนมากผิดปกติจนกลายเป็นปัญหาคับอกคับใจให้คุณพ่อคุณแม่

ความซนกับเด็กๆ มักเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร ดังคำกล่าวที่ว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่ถ้าลูกรักของคุณมีอาการอยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่ง สมาธิให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ หรือซนมากผิดปกติจนกลายเป็นปัญหาคับอกคับใจให้คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งกลุ้มว่า ลูกฉันเป็นลิงกลับชาติมาเกิดหรืออย่างไร ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงขอมาไขปัญหาน่าปวดหัวของคนเป็นพ่อแม่ให้ฟังกัน

โรคซนสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วงวัยเด็ก (ร้อยละ 5-15 ในเด็กวัยเรียน) ต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยเด็กจะแสดงอาการคือ ไม่สามารถจดจ่อหรือมีสมาธิในสิ่งที่ทำ (ไม่รวมถึงการเล่นเกม หรือดูทีวี) มีความยากลำบากในการควบคุมพฤติกรรมหรือหุนหันพลันแล่น และซนอยู่ไม่สุข


อาการอาจรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทั้งพฤติกรรม อารมณ์ การเรียนและการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กบางคนอาจซน อยู่ไม่นิ่ง และไม่สามารถควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชายหรือบางคนอาจมีอาการสมาธิสั้นเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย

อาการของเด็กแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ ขาดสมาธิ ซนอยู่ไม่สุข หุนหันพลันแล่น เด็กจะมีพฤติกรรมไม่มีความอดทน พูดโพล่งด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม ชอบขัดจังหวะ หรือพูดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่ แสดงความรู้สึกโดยไม่เก็บอาการ หรือทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา รอคอยไม่เป็น ชอบแซงคิว

ผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้นจะมีคนในครอบครัวคนใด คนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดู หรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลง

ในระหว่างตั้งครรภ์ มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคซนสมาธิสั้นสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิจัยในปัจจุบันยังไม่พบว่า การบริโภคน้ำตาลหรือช็อกโกแลตมากเกินไป การขาดวิตามิน โรคภูมิแพ้ การดูทีวี หรือเล่นวีดีโอเกมมากเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซนสมาธิสั้น

ทั้งนี้ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคซนสมาธิสั้น โดยอาศัยประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท และการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นหลักในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือด หรือเอกซเรย์สมองที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ในบางกรณีแพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจสายตา การตรวจการได้ยิน การตรวจคลื่นสมอง การตรวจเชาวน์ปัญญา และความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคลมชัก ความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือภาวะการเรียนบกพร่อง ออกจากโรคซนสมาธิสั้น

นอกจากนี้ โรคออทิสติก โรคจิตเภท ภาวะพัฒนาการล่าช้า และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการ หรือพฤติกรรมเหมือนกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นหรือผู้ที่มีภาวะสมาธิบกพร่องนั้นปัจจุบันนั้น วิธีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าได้ผลดี คือ การให้ยาเพิ่มสมาธิ ร่วมกับการฝึกเทคนิคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยและผู้ดูแล และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วย และผู้ปกครองต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

การรักษาเด็กซนสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน ทั้งการรักษาด้วยยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็ก และครอบครัว ตลอดจนการช่วยเหลือทางด้านการเรียน

เมื่อผ่านวัยรุ่นประมาณ 30% ของเด็กซนสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากอาการซนได้ แต่จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง และสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนักก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อการงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง