ปลูกป่า 10 ล้านต้นในพื้นที่ไฟไหม้ หรือปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาดีกว่า?

ปลูกป่า 10 ล้านต้นในพื้นที่ไฟไหม้ หรือปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาดีกว่า?

ถามตรงถึง'กรมป่าไม้' กับโครงการปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้น ในพื้นที่ป่าภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้เสียหาย อะไรคือเงื่อนปมที่อยู่เบื้องหลัง มีหลักวิชาการรองรับหรือไม่ และสุดท้ายใครจะเป็นคนตรวจสอบ

 

กรมป่าไม้กำลังจะมีโครงการปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้นในพื้นที่ป่าภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้เสียหาย เพจกรมป่าไม้รายงานว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภาคเหนือ 9 จังหวัดตอนบนที่ถูกไฟไหม้รอบนี้ 55,266 ไร่ มากที่สุดคือพื้นที่เชียงใหม่ 17,771 ไร่ โดยจะเริ่มปลูกในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ทั้งนี้จะเปิดให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมฟื้นฟูป่าในภาคเหนือด้วย

น่าเสียดายที่เพจกรมป่าไม้ไม่ได้ให้รายละเอียดของโครงการนี้เพิ่มเติมว่า ใช้งบประมาณเป็นจำนวนเท่าไหร่ จะปลูกแบบไหน อย่างไร ไร่ละกี่ต้นในรายละเอียด จึงได้แต่คำนวณเอาเองจากจำนวนเป้าหมาย 10 ล้านต้นในพื้นที่ประมาณ 55,000 ไร่ คำนวณหยาบๆ ออกมาได้ว่า จะต้องปลูกอย่างน้อยไร่ละ 180 ต้นเต็มจำนวนพื้นที่ 55,000 ไร่ดังกล่าว

ทันทีที่มีข่าวนี้ออกมาก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทันที เสียงที่มีน้ำหนักน่าฟังเสียงหนึ่งมาจากปากของอดีตคนในกรมป่าไม้ที่ลาออกตั้งพรรคการเมืองชื่อว่าพรรคกรีน นามว่า ‘นายพงศา ชูแนม’

เขาวิจารณ์โครงการนี้ว่าผลาญงบประมาณ ที่ผ่านมาไม่เคยมีโครงการปลูกป่าสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งยังยืนยันในฐานะที่เคยรับราชการกรมป่าไม้ว่า การปลูกป่ามักจะมีเปอร์เซ็นต์หัวคิวและมีการทุจริต ฯลฯ

ฟังข้อวิจารณ์จากอดีตลูกหม้อคนในชวนให้ฉุกคิดขึ้นมา ก็มีเค้าความเป็นไปได้ตามข้อวิจารณ์นั้นเพราะการปลูกต้นไม้ ‘ในป่า’ ย่อมแตกต่างจากการปลูกในพื้นที่เขตเมือง ยิ่งพื้นที่ป่าเป็นหมื่นๆ ไร่ ใครเคยเดินป่าย่อมรู้ว่ามันยากลำบากขนาดไหน 'กิโลแม้ว' ไม่เหมือน 'กิโลเมตร' การตรวจสอบจำนวนต้น พิกัดที่ปลูกจริงไม่ง่าย

ลองจินตนาการว่าเกิดมีเจ้าหน้าที่สตง.อยากจะตรวจสอบโครงการนี้ เขาจะเข้าไปนับจำนวนต้นที่ปลูกได้อย่างไรหากไม่มีเจ้าถิ่นนำทางเข้าไป พื้นที่ 55,000 ไร่ มีขนาดประมาณ 88 ตร.กม. ส่วนใหญ่ก็เดินเท้าด้วยนะ และต่อให้สามารถเข้าไปถึงพิกัดในป่าหลังจากการปลูก 2-3 เดือน ตอนนั้นต้นไม้มันก็เหมือนๆ กันหมด จะไปรู้ได้อย่างไรว่าต้นไหนปลูก ต้นไหนไม้ธรรมชาติ

ยิ่งมีเสียงวิจารณ์ก็ยิ่งเกิดข้อสงสัย เอ๊ะ ป่าสงวนภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้ดังกล่าวมันไหม้ราบเลี่ยนเตียนโล่งหรือแค่ไฟผิวดินที่ไม่ได้ทำอันตรายไม้ใหญ่ มันเป็นไปไม่ได้ที่ไฟไหม้ใหญ่สูญหมดป่าทั้ง 55,000 ไร่ เพราะตามปกติของป่าผลัดใบหรือป่าเต็งรังซึ่งมีมากในภาคเหนือมักจะทนไฟ ไม้เปลือกหนา ในทางวิชาการบางสำนักยังบอกด้วยว่าป่าเต็งรังที่มีเชื้อเพลิงมากก็อาจจะมีไฟขนาดปานกลางเพื่อกำจัดเชื้อเพลิงนั้นเป็นครั้งคราว จึงเป็นไปไม่ได้ที่พื้นที่ไฟไหม้ดังกล่าวจะกลายเป็นที่หัวโล้นไปทั้งกระบิ

การคำนวณจำนวนต้นกล้าไม้ 10 ล้านต้นเพื่อปลูกให้ได้ไร่ละประมาณ 180 ต้นสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงแค่ไหนเพียงไร?

สังคมยังมีข้อมูลน้อยเกินไป สมควรที่กรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เปิดเผยรายละเอียดโครงการเสียก่อน ปัญหาป่าไม้ในภาคเหนือเรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาทป่าทับชุมชน-ชุมชนรุกป่า เอาเฉพาะเชียงใหม่มีชุมชนที่มีวิวาทะข้อปัญหานี้เกิน 1,000 หมู่บ้าน ได้ยินมาว่าชุมชนบางแห่งเริ่มระแวงโครงการนี้จะอ้างโครงการปลูกป่าเกิดไปปลูกบนพื้นที่ขัดแย้งที่กำลังเจรจา ปัญหาเรื้อรังก็จะยังลุกลามเรื้อรังไม่จบ เพราะจำนวน 55,000ไร่ ที่มีการไหม้ไปเมื่อแล้ง ที่ผ่านมาก็มีไหม้ในเขตป่าชุมชนหรือที่ทำกินในเขตป่าที่กำลังเจรจากันเขตกันอยู่

โดยส่วนตัวผู้เขียนมองไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการนี้ เพราะเท่าที่ทราบมาป่าผลัดใบทางภาคเหนือทนไฟและฟื้นตัวได้เองแค่ปล่อยไว้ท่ามกลางฤดูฝน โครงการนี้เร่งด่วนมากจนขาดรายละเอียด อันที่จริงควรมีการจำแนกพื้นที่ไฟไหม้ทั้ง 5 หมื่นกว่าไร่ให้ชัด ว่าเป็นพื้นที่เสียหายหนักมากต้องฟื้นฟูด้วยวิธีปลูกใหม่พร้อมโครงการดูแลต่อเนื่องสักเท่าไหร่ มีพื้นที่ป่าประเภทผลัดใบที่สามารถปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาจำนวนเท่าไหร่ และมีพื้นที่ขัดแย้งที่หากลงมือทำไปรังแต่จะสะกิดปัญหาขัดแย้งตามมา เช่น ป่าชุมชนของชาวบ้านเท่าไหร่เสียก่อนเป็นปฐม

จำนวนตัวเลขกล้า 10 ล้านต้นที่กำหนดขึ้นมาก็คืองบประมาณแผ่นดิน หากจะจ่ายควรจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาติบ้านเมือง ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รัฐต้องใช้เงินทุกเม็ดให้คุ้มค่าที่สุด

การปลูกต้นไม้น่ะดีแน่นอน ดีกว่าไม่ปลูก หลายปีมานี้กรมป่าไม้แจกต้นกล้าฟรีให้ชาวบ้านชาวช่องไปปลูกเป็นโครงการที่ดีมาก แต่การปลูกควรจะมั่นใจว่าปลูกจริง มีโอกาสรอดสูง มีระบบดูแลตามหลังจนไม้แข็งแรงพอ

ปัญหาของโครงการปลูกป่าที่ผ่านๆ มาแทบไม่มีตัวอย่างรูปธรรมของความสำเร็จเลย มีแต่ตัวเลขงบประมาณที่ใช้ไป ก็อย่างที่บอกพื้นที่ป่ากับพื้นที่เมืองไม่เหมือนกัน คนในเมืองปลูกต้นไม้ยังรู้พิกัดที่ทางมีคนดูแล แต่ไม้ในป่าขนาดเป็นหมื่นๆ ไร่ มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้สักกี่คนที่ตามไปดูแลได้ ปัญหาเหล่านี้ควรจะเอามาชั่งน้ำหนักเสียก่อน

ผู้เขียนชอบไอเดียชาวบ้านยุคโควิด เขาบอกว่า กรมป่าไม้เตรียมกล้าและคิวอาร์โค้ดติดประจำต้น เพื่อให้คนลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นการปลูกที่รัฐมีอยู่แล้ว แทนที่รัฐบาลจะแจกเงินช่วยเหลือโควิดฟรีๆ ทำไมไม่แจกให้กับคนที่ลงมือปลูกต้นไม้และดูแลจนกล้าไม้พิกัดนั้นต้นนั้นเติบโตและอยู่รอด รัฐบาลก็จ่ายเงินให้กับต้นไม้รายต้น เช่นต้นละ 500 บาท แต่รวมกันไม่เกินคนละ 3,000 บาท (6 ต้น) และรัฐจะจ่ายให้อีกเมื่อครบ 1 ปี หากต้นไม้ยังมีชีวิต วิธีการนี้จะทำให้ประเทศเรามีต้นไม้สีเขียวเพิ่มขึ้น มีคนดูแลต้นไม้ และได้ประโยชน์แทนที่จะแจกเงินฟรีๆ

ไอเดียบนบรรเจิดแบบนี้จับต้องได้ คือได้ทั้งการช่วยบรรเทาปัญหาโรคระบาดและได้ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม น่าสนใจมาก

ปัญหาของระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศเราแบ่งอาณาจักรภาระหน้าที่กันตายตัว กรมป่าไม้ต้องปลูกในพื้นที่ป่าของตัวเอง ไปปลูกในที่กรมอุทยานฯก็ไม่ได้ คนละพื้นที่รับผิดชอบ การจะผนวกไอเดียบรรเจิดเรื่องการช่วยเหลือประชาชนยุคโรคระบาดโควิดจึงเป็นไปได้ยากเพราะต้องบูรณาการข้ามกระทรวง ประชาชนได้กล้าไม้อยากปลูกที่ดินตัวเองก็คงไม่เข้าข่ายเป็นการฟื้นฟูป่าตามโครงการด้วยหรือเปล่า

กรมป่าไม้ก็ต้องปลูกป่า ระบบบ้านเราไม่อนุญาตให้บูรณาการคิดข้ามภารกิจให้ยุ่งยากซะเปล่าๆ ...ปัญหาคือป่าที่อยากไปปลูกมันจำเป็นต้องปลูกหรือเปล่า หรือแค่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูก็ได้

มองๆ ไปแล้วโครงการปลูกต้นไม้ 10 ล้านเพื่อฟื้นฟูป่าภาคเหนือรอบนี้คงไม่แคล้วถูกวิจารณ์ต่ออีกหลายระลอก คิดทำกันดีๆ ให้รอบคอบเถิดครับ สังคมจับตาดูอยู่!