How to ทิ้ง... 'เราไม่ทิ้งกัน' ผลกระทบ 'โควิด-19' ต่อคนจนเมือง

How to ทิ้ง... 'เราไม่ทิ้งกัน' ผลกระทบ 'โควิด-19' ต่อคนจนเมือง

เปิดเผยผลสำรวจ 'คนจนเมือง' ในภาวะวิกฤต 'โควิด-19' สแกนจุดบอดของการลงทะเบียน 'เราไม่ทิ้งกัน' ที่กำลังทิ้งความเดือดร้อนของคนกลุ่มเปราะบางไว้ข้างหลัง

 

นับตั้งแต่วันที่กรุงเทพมหานครประกาศปิดสถานที่ 26 ประเภท ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2563 ต่อด้วย รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในอีก 4 วันต่อมา ชีวิตของคนไทยก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แม้จะเข้าใจกันได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือ โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างน่ากลัวและรุนแรง แต่ด้วยมาตรการที่เข้มงวดได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะคนจนเมืองที่หาเช้ากินค่ำ เมื่อต้องหยุดงาน ก็ขาดรายได้เลี้ยงชีพ ส่วนที่ยังพอจะมีอะไรทำได้บ้าง ก็มีรายได้ลดลง

จากการเปิดเผยผลสำรวจ 'คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19' ภายใต้โครงการวิจัย 'คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง' ซึ่งเป็นความร่วมมือของคณาจารย์จาก 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าชุดโครงการ ทำการสำรวจเครือข่ายองค์กรคนจนเมือง เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชนแออัดคลองเตย และพื้นที่อื่นๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 18 จังหวัด

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงผลสำรวจในครั้งนี้ว่า เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ คนจนเมืองมีการใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน อย่างไรก็ตามหากต้องจัดแจงแบ่งส่วนที่พักเมื่อมีการกักตัวคนในครอบครัวที่มีความเสี่ยงนั้น ทำไม่ได้ เพราะที่อยู่อาศัยมีลักษณะห้องเดี่ยวขนาดเล็ก ไม่มีความพร้อม

ผลกระทบจากมาตรการอันเข้มงวด โดยเฉพาะอาชีพ พบว่า กรณีนายจ้างแจ้งหยุดงานและลดเวลาทำงาน ทำให้รายได้ลดลง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยไม่สามารถค้าขายได้ เพราะถูกจำกัดพื้นที่ ส่วนกลุ่มประกอบอาชีพอิสระ เช่น ช่าง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับรถรับจ้าง รถตู้ ก็มีผู้ว่าจ้างน้อยลงหรือไม่มีเลย ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความเดือนร้อนเท่าๆ กัน ไม่ห่างกันมากนักที่ 18 เปอร์เซ็นต์

“ส่วนเรื่องของรายได้ที่ลดลงนั้น พบว่า จากรายได้เฉลี่ยโดยทั่วไปที่ได้รับตกเดือนละประมาณ 13,000-14,000 บาท ลดลงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ คือเงินหายไป 9,500 บาท ส่งผลต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก เพราะมีภาระหนี้สิน ค่างวดรถ และไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย บางคนต้องเอาของไปจำนำจนไม่เหลืออะไรให้เอาไปจำนำอีกแล้ว ที่ยังดำรงชีพอยู่ด้วยก็เป็นเพราะการช่วยเหลือจากภาคประชาชนด้วยกัน แต่ก็ช่วยอยู่รอดได้แบบวันต่อวันเท่านั้น"

 

20200403184955987

 

  • หยุดเชื้อเพื่อชาติ อยู่บ้าน... ขาดใจ

ขณะเดียวกันแม้จะมีการแจกถุงยังชีพอยู่บ้าง แต่ก็พบปัญหา เพราะไม่เข้าใจความเป็นนอกระบบ กล่าวคือคำว่า 'ชุมชน' มักตีความกันว่าต้องมี 100 หลังคาเรือนขึ้นไปและต้องจดทะเบียนจึงจะได้รับของยังชีพ แต่กับชุมชนที่อยู่นอกระบบก็จะตกสำรวจไม่ได้รับการช่วยเหลือ

“เช่นเดียวกันคนที่อาศัยห้องเช่าก็จะไม่ได้รับ เพราะให้แต่เจ้าของที่มีบ้านเลขที่เท่านั้น นั่นจึงทำให้กลุ่มคนจนเมืองดำรงชีพได้ยากลำบาก” อาจารย์บุญเลิศ กล่าว

ภายใต้การรณรงค์ที่มีถ้อยคำสวยหรู อย่าง 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ' หรือ ทำงานบ้าน work from home เพื่อลดการเคลื่อนที่และการชุมนุม ตัดวงจรการแพร่เชื่อจากคนสู่คนไปถึงคนหมู่มาก ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่านี่คือไม้เด็ดในการยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19

แน่นอนว่าเป็นแคมเปญที่ดี แต่สำหรับคนจนเมืองแล้ว การที่ต้องหยุดทำงาน ขาดรายได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือนนั้น นี่อาจจะเป็นการตัดแข้ง ตัดขา ในขณะที่กำลังหายใจรวยรินใกล้ตาย

ผศ.ดร.บุญเลิศ เผยในส่วนนี้ว่า คนจนเมืองส่วนใหญ่ เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ เพราะกลุ่มคนจนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินสำรอง และยังทำงานแบบให้บริการและขายแรงงาน การอยู่ที่บ้านจึงไม่มีรายได้ ขณะเดียวกันหลายรายพยายามลงทะเบียนการเยียวยา 'เราไม่ทิ้งกัน' แต่ขั้นตอนการพิจารณาล่าช้าไม่ทันการ และส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึง เพราะไม่มีความรู้เทคโนโลยี และรู้สถานะตัวเองว่าขาดคุณสมบัติ

ผลกระทบจากความเดือดร้อนทุกคนย่อมต้องการให้ภาครัฐช่วยเยียวยา ผ่อนหนักให้เป็นเบา อย่างน้อยให้สามารถดำรงชีพ มีเงินซื้อข้าวซื้ออาหารประคองชีวิตเพื่อรอวันที่จะสามารถกลับมาทำงานหาเงิน ใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง

 

20200422122019888 (1)

 

  • เราไม่ทิ้งกัน แต่ 'เอไอ' คัดทิ้ง

ทันทีที่มีการเปิดให้ลงทะเบียน 'เราไม่ทิ้งกัน' เพื่อรับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท คนก็แห่ไปลงทะเบียนกันจนเกินสิทธิที่จะได้รับ คนจนที่ลงทะเบียนสำเร็จต่างเฝ้ารออย่างมีความหวังว่าจะได้เงินมาต่อลมหายใจ แต่เมื่อมีข้อความแจ้งที่โทรศัพท์ว่า ท่านขาดคุณสมบัติจึงไม่ได้รับสิทธิ์ ความรู้สึกคือล้มทั้งยืน พร้อมกับตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดกรองที่บกพร่อง ล้มเหลว จนเกิดความไม่พอใจ ดังเห็นได้จากการที่มีกลุ่มคนบุกประท้วงที่กระทรวงการคลัง เพราะได้รับความเดือดร้อนจากการถูกตัดสิทธิ์

บางคนอยู่ในกลุ่มอาชีพที่รับจ้างรายวัน มีรายได้รวมเดือนละ 5,000-6,000 บาท จะต้องได้รับสิทธิ์ เพราะคนกลุ่มนี้แทบจะไม่เหลือรายได้ อีกส่วนคืออาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอยได้วันละ 200-300 บาท แต่ตลาดปิดจึงขาดรายได้ แต่ระบบเอไอกลับประมวลว่ายังพอหากินได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เปิดขายไม่ได้เลย บางรายก็ถูกประมวลผลว่าเป็นเกษตรกรหรือนักศึกษา นี่คือข้อผิดพลาดหนึ่งของ 'เราไม่ทิ้งกัน'

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ต้องถามถึงความชัดเจนในระบบฐานข้อมูล เห็นได้ว่าลูกจ้างศูนย์การค้า หรือมัคคุเทศก์ ได้รับการเยียวยา แต่กับคนจนรายได้ต่ำกลับไม่ได้รับการชดเชย เพราะไม่มีความชัดเจนในระบบ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเยียวยาอย่างไม่มีเงื่อนไข เร่งด่วน แต่กลับไม่อยู่ในสายตา

“แทนที่จะเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือคน กลับเป็นนโยบายที่ซ้ำเติมคนจน” อาจารย์ประภาส ย้ำ

สอดรับกับความเห็นของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ระบุว่า รัฐต้องกระจายเงินเยียวยาให้กว้างมากที่สุด ทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงเทคโนโลยี ข่าวสาร รวมไปถึงปัญหาใหญ่ของการใช้เอไอ คัดกรองข้อมูล เพราะไม่รู้ว่ามีการตั้งเกณฑ์อย่างไร และมันฉลาดจนพลาดจากความจริง ดังเราจะพบข้อมูลบางอย่างที่น่าประหลาดใจ เช่น อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างแต่อยากมีความรู้จึงไปเรียน กศน. พอลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน เอไอก็จัดให้เป็นนักศึกษา ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์รับสิทธิ์

ดังนั้นการที่รัฐบาลพยายามเชื่อการคัดกรองจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ 'เอไอ' แต่ยังไม่มีข้อมูลความจริงที่ละเอียดมากพอ มันจึงเกิดผลกระทบกับคนจนเมืองหลายๆ คน

 

20160301141659363

 

  • หลัง 'โควิด' เหลื่อมล้ำและยากจน

การหยุดชะงักของสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าการจะฟื้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้อาจจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิม ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนตกงาน ว่างงาน จนอาจส่งผลให้คนจนมีมากขึ้น

ศ.ดร.อรรถจักร์ เชื่อว่า จะมีคนจนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โควิด-19 จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นรัฐจะต้องบริหารงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 4 แสนล้านบาท สร้างความเข้มแข็งให้เร็วที่สุดและกระจายอย่างทั่วถึง

ขณะที่ ผศ.ดร.บุญเลิศ มั่นใจว่า จะมีทั้งคนจนหน้าใหม่ และคนจนลงกว่าเดิมอย่างแน่นอน พร้อมยกตัวอย่าง เช่น แม่ค้า การจะกลับไปค้าขายได้อีกครั้ง เป็นต้องมีทุนก้อนใหญ่ ซึ่งการทำให้คนเหล่านี้กลับมาเริ่มวงจรค้าขายได้ เป็นสิ่งจำเป็นมาก การที่สั่งปิดนั่นปิดนี่ ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตไม่ปกติ พวกเขาจึงต้องการเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่บางคนกลับไม่ได้

ดังนั้นการให้คนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รัฐก็ต้องช่วยเหลือให้อยู่ได้ ไม่ใช่ปล่อยเผชิญตามยถากรรม หรือย่างน้อยรัฐต้องทบทวนการผ่อนปรน คลายล็อคดาวน์บ้างถ้าเงินเยียวยังไม่มา ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้ 'การปิดเมืองแบบมีการจัดการ' คือสามารถดำเนินชีวิตในเชิงเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้คณะนักวิจัยโครงการวิจัย 'คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง' ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลพิจารณการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จำนวน 5 ข้อ ได้แก่

1. รัฐควรปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการบรรเทาความเดือนร้อนจาก 'การสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน' เป็น 'การให้สวัสดิการถ้วนหน้า' เปลี่ยนวิธีการ 'คัดคนเข้า' เป็น 'คัดคนออก' ซึ่งจะช่วยกระจายทรัพยากรได้ทั่วถึง เพราะคนการใช้เกณฑ์ คัดคนเข้า มีปัญหาฐานข้อมูลไม่ชัดเจน จึงเกิดปัญหาอย่างที่เห็น แต่ถ้าเป็นการ คัดคนออก ฐานข้อมูลของคนที่ไม่เดือนร้อนคิดว่ารัฐมีมากพอ การบริหารจัดการจึงง่ายกว่า

2. รัฐจะกระจายเงินงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 4 แสนล้านบาท โดยใช้กลไกที่มีอยู่ให้กว้างขวางมากที่สุด ทั้งส่วนท้องถิ่น และสถาบันทางสังคม การกระจายทรัพยากรจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะถ้าใช้แต่หน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียว งบประมาณก็อาจตกหล่นกลางทาง ไม่ถึงมือชาวบ้าน

3. เสนอแนะให้สำนักงานประกันสังคม ต้องคืนเงินแก่ผู้ประกันตนในกลุ่มใช้แรงงานทันทีไม่ให้เดือดร้อนไปมากกว่านี้ เพราะเวลาเวลาหักเงินตรงเวลา แต่เวลาเดือดร้อนการช่วยเหลือกลับเป็นไปอย่างล่าช้า

4. เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงแล้ว รัฐควรผ่อนปรนพื้นที่ค้าขาย และพื้นที่สาธารณะ ให้เปิดได้โดยสามารถบริหารจัดการได้ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือ อสม.

5. รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุจาก 600-800 บาท เป็น 2,000 บาท เพราะถือเป็นกลุ่มเปราะบาง การเพิ่มเงินก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือนต่างๆ ได้

ในยามนี้เราจะต้องผ่านพ้นวิกฤตให้ได้ทุกคน ไม่ใช่ผ่านพ้นแบบคนที่ลำบาก ขณะที่บางคนไม่ลำบาก ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะบริหารจัดการได้ดีเพียงใด