เครื่องบินดับไฟป่า สำคัญกว่าเรือดำน้ำ

เครื่องบินดับไฟป่า  สำคัญกว่าเรือดำน้ำ

ฝันร้ายของผู้คนทางภาคเหนือ ต้องเผชิญกับไฟป่าครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะมีผู้เสนอทางออก แต่ไม่มีการจัดการ

 

ไม่รู้ว่า ผู้คนทางภาคเหนือจะต้องฝันร้ายไปกับไฟป่าที่เกิดขึ้นน่ากลัวผิดปกติไปอีกนานเท่าใด

ไม่รู้ว่า คนทางเหนือจะถูกรมควันจากหมอกควันพิษไปอีกกี่ปี หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง

ไฟป่าภาคเหนือรุนแรงขึ้นทุกปีๆ

คุณภาพอากาศอันเลวร้ายจากหมอกควันพิษ ทำให้เชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายเดือนแล้ว

สาเหตุของไฟป่าที่ทำให้เกิดการรมควันพิษทั่วเมืองคืออะไรกันแน่

แน่นอนว่า ไฟป่าทั้งหมดมาจากน้ำมือมนุษย์

ด้วยปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นนับสิบปี แต่แก้ปัญหาไม่เคยสำเร็จ คือ การเผาซากพืชไร่ในพื้นที่เกษตรติดป่า แล้วลุกลามเข้าไปในป่า จนเกิดเป็นไฟป่า

ควันไฟจากการเผาซากไร่ข้าวโพดนับล้านไร่ เพื่อผลิตอาหารสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้าน และลอยเข้ามาในประเทศ

ไฟป่าจากการจุดเผาของชาวบ้านบางคน เพื่อล่าสัตว์หรือหาเห็ด

ไฟป่าจากการจุดไฟของบรรดาคนลักลอบเลี้ยงฝูงวัวควายในป่า เพื่อให้เกิดหญ้าระบัด

ไฟป่าที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานกับชาวบ้านรอบป่าหลายแห่ง อันคุกรุ่นกันมานาน และความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากปัญหาภาวะโลกร้อน ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นและเปลวไฟร้อนแรงลุกลามใหญ่โต

แต่ปีนี้มีข้อสังเกตว่า ไฟป่าจะไหม้รุนแรงในอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในจุดลึกที่ห่างไกลผู้คนบ่อยมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ

ในขณะเดียวกัน ป่าที่อยู่ติดกับชุมชนที่ให้ความร่วมมือหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ มักจะไม่ค่อยเกิดไฟป่ารุนแรงบ่อยครั้ง เพราะทั้งเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านรอบป่าจะร่วมมือกันเต็มที่ในการดับไฟ รวมทั้งจัดเวรยามคอยตรวจตรา ทำแนวกันไฟอย่างเข้มแข็ง

ความร่วมมือ การทำความเข้าใจ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนรอบๆ ป่า อาจจะเป็นกุญแจไขความสำเร็จในการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า เพราะต้องยอมรับว่า ป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพื้นที่หลายสิบล้านไร่ ลำพังเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีกำลังพอแน่นอน หากเกิดไฟป่าลุกลามขึ้นมา

แต่อีกด้านหนึ่ง วิธีการดับไฟป่าของทางราชการ ยังไม่เปลี่ยนแปลง

อย่าลืมว่า ทุกวันนี้ไฟป่าภาคเหนือที่เกิดขึ้นหลายร้อยแห่ง ความรุนแรงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ความเสียหายที่เกิดขึ้นกำลังไล่ตามไฟป่าที่ออสเตรเลีย ป่าอะเมซอน หรือป่าดิบชื้นในบอร์เนียวแล้ว

บางทีอาจจะต้องพัฒนาอุปกรณ์การดับไฟให้ทันกับความรุนแรงของไฟป่า อาทิเช่น เฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่าอาจจะเล็กเกินไป บรรทุกน้ำได้ไม่กี่พันลิตร ขณะที่ไฟป่าหลายพื้นที่จำเป็นต้องใช้วิธีทิ้งบอมม์น้ำทีละหลายหมื่นลิตร เพื่อดับไฟป่าให้สิ้นซาก

ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะต้องจัดหาเครื่องบินดับไฟป่า หรือเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ดัดแปลงมาดับไฟป่า

หากศึกษาวิธีดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย จะพบว่า ทางการออสเตรเลียใช้เครื่องบินต่าง ๆ มากมายกว่า 500 เครื่อง ประกอบด้วยเครื่องDC-10 เป็นเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ ดัดแปลงมาบรรทุกน้ำได้เที่ยวละ 44,000 ลิตร เครื่องบินดับไฟป่าโดยเฉพาะที่เรียกว่า airtanker หลายขนาด บรรทุกน้ำได้ครั้งละ 15,000 ลิตร เฮลิคอปเตอร์ชนิดต่าง ๆ บรรทุกน้ำได้ตั้งแต่เที่ยวละ 900- 7,000 ลิตร

ช่วงที่ไฟป่าโหมหนัก เครื่องบินเหล่านี้บินกันวันละนับร้อยเที่ยว

ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียระดมเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ที่ถูกฝึกมาโดยเฉพาะ 3,700 คน ทหารจากกองทัพบก กองทัพอากาศประมาณ 3,000 คน เข้าดับไฟป่าราวกับทำสงคราม

หากจะจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ยามนี้ บางทีรถถัง เรือดำน้ำ รถหุ้มเกราะอาจจะไม่จำเป็นเท่ากับ เครื่องบินดับไฟป่า airtanker

หากคิดจะปกป้องชีวิตผู้คนทางภาคเหนืออย่างจริงจัง