ธุรกิจ 'เรือสำราญ' กลางมรสุม 'COVID-19'

ธุรกิจ 'เรือสำราญ' กลางมรสุม 'COVID-19'

การเดินทางด้วยเรือสำราญที่เคยถูกวางให้เป็น 'ดาวรุ่ง' ในแวดวงการท่องเที่ยวไทย จะฝ่ากระแสความตื่นกลัว 'ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่' ได้หรือไม่ ผู้ประกอบการมีมาตรการเพื่อรับมือสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง

 

ภาพความหรูหราของเรือสำราญที่เคยเป็นการเดินทางในฝันของใครหลายคน แปรเปลี่ยนเป็นฝันร้ายทันทีเมื่อมีข่าว 'เรือไดมอนด์ ปรินเซส' สัญชาติอังกฤษ ซึ่งนำผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 3,000 คน ล่องไปในหลายประเทศแถบเอเชีย กลับมายังท่าเรือโยโกฮามาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับข่าวร้ายว่า มีผู้ติดเชื้อ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่’ ถึง 705 คน

นั่นทำให้หลายประเทศ รวมถึง ‘ไทย’ ปฏิเสธการเข้าเทียบท่าของ ‘เรือสำราญ’ ลำอื่นๆ ด้วย นำมาซึ่งผลกระทบที่ค่อนข้างหนักหน่วงกับธุรกิจเรือสำราญที่เคยถูกวางตำแหน่งให้เป็นดาวรุ่งในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570 พร้อมตั้งเป้าว่า ภายในปี 2570 ประเทศจะไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล

  800 ภาพ: เอพี

 

  • ธุรกิจเรือสำราญไทย

แม้คนไทยจะไม่ใช่นักเดินทางกลุ่มหลักที่นิยมท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ แต่บ้านเราก็มีการให้บริการเรือสำราญมากว่า 30 ปีแล้ว และถ้าพิจารณาจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยหรือ CAGR (Compound Annual Growth Rate) ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 ไทยเติบโตขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในเอเชียมีการเติบโตที่ 14 เปอร์เซ็นต์ ขีดวงเฉพาะเอเชียตะวันเฉียงใต้ก็อยู่ที่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์

สำหรับท่าเรือหลักๆ ที่ให้บริการเรือสำราญในเมืองไทย ได้แก่ ภูเก็ต เกาะสมุย แหลมฉบัง และคลองเตย ท่าเรือเหล่านี้จะให้บริการทั้งสายเรือในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประมาณพฤศจิกายนถึงเมษายน สายเรือในภูมิภาค (Regional Cruise Line) ไปจนถึงสายเรือนานาชาติ (International Cruise Line) โดยข้อมูลจาก Travelonline ระบุว่า ตามแผนเดิมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2564 จะมีเรือสำราญเข้ามาเทียบท่าในประเทศไทยทั้งแบบท่าเรือหลักและแวะพักเป็นจำนวนมากกว่า 228 ลำ

ในจำนวนนี้ ข้อมูลในปี 2562 ระบุว่าท่าเรือที่มีเรือสำราญเข้ามาใช้บริการมากที่สุดคือ ท่าเรือป่าตอง ภูเก็ต จำนวน 188 ลำ แบ่งเป็น แวะพัก 151 ลำ ตามมาด้วยการเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของทริป 22 ลำ และ ค้างคืน 15 ลำ รองลงมาเป็นท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ จำนวน 147 ลำ แบ่งเป็น แวะพัก 61 ลำ เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของทริป 21 ลำ และค้างคืน 65 ลำ ส่วนท่าเรือสมุย ท่าเรือพังงาเบย์ และท่าเรือเกาะห้อง มีจำนวนเรือสำราญเข้ามาใช้บริการ 59, 29 และ 28 ลำ ตามลำดับ โดยเป็นการมาเพื่อแวะพักทั้งหมด

พรรษา สิงห์โตแก้ว (กรรมการผู้จัดการ) บริษัท อารมณ์ดี ทัวร์ แอนด์ ครูซ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญ ที่เปิดให้บริการมากว่า 18 ปี บอกว่า บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรงของทุกสายเรือในประเทศไทย และยังประกอบไปด้วยบริษัทพันธมิตรอีกหลายสิบบริษัท เช่น Big Word Holiday, Holidays In The Cruise, The Key Tour และอีกมากมาย ทั้งหมดทำการตลาดในชื่อ ‘Cruise One’

ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า และประมาณเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ทางบริษัทมีแผนจะนำเรือสำราญขนาดใหญ่ลำใหม่ ‘Costa Firenze’ จากอิตาลี มาเปิดตัวในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยได้เป็นผู้โดยสารชุดแรก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 บริษัทเริ่มได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการจองในระยะนี้

“ลูกค้าที่จองและต้องเดินทางในระยะที่มีการระบาดของไวรัส ทางบริษัทจะช่วยเหลือในการดำเนินการยกเลิกและติดตามค่าใช้จ่ายคืนจากทางเรือ ความยุ่งยากอาจจะเป็นเรื่องขั้นตอน เรือบางแบรนด์อยู่ต่างประเทศอาจมีความล่าช้าบ้าง ซึ่งบางทีค่อนข้างยากที่จะอธิบายและทำความเข้าใจกับลูกค้าในบางราย

และช่วงที่เกิดนี้เป็นช่วงก่อนวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ซึ่งคนไทยจะออกเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมากโดยปกติ ทำให้มีเคสที่จองแล้วต้องยกเลิก หรือขอคืนเงินเป็นจำนวนมาก แต่ทางบริษัทก็พยายามดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ เพราะเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสุดวิสัย”

นอกจากผลกระทบจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการแล้ว คนไทยที่ทำงานบนเรือสำราญก็มีไม่น้อย พรรษาให้ข้อมูลว่า ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้น่าจะไม่น้อยกว่าหลักหมื่น ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการตลาด ส่วนภาคบริการที่ทำงานบนเรือแม้จะยังไม่มากเมื่อเทียบกับลูกเรือนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม แต่ก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน

“ความเสียหายอีกส่วนหนึ่งคือ บริษัททัวร์ต่างๆ มีการเตรียมการขายในช่วงเทศกาลไว้เป็นจำนวนมาก มันคือการลงทุนมหาศาล ความเสียหายตรงนี้ไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้ สายการบินบางสายสามารถเจรจาได้บางส่วน บางสายเจรจาลำบาก ในขณะที่บางสาย หรือบางบริการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถยกเลิกได้ทัน ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นภาระอันหนักหน่วงของผู้ประกอบการในตอนนี้ค่ะ"

 

wonder-of-the-seas-name-reveal ภาพ: www.royalcaribbean.com

 

  • ธุรกิจเรือสำราญโลก

ฉากใหญ่ของงานเลี้ยง เสียงดนตรี และชีวิตสำราญบนเรือ ‘ไททานิค’ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือภาพจำของคนทั่วไปเกี่ยวกับเรือสำราญ แม้เรื่องราวนั้นจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่ทุกคนเข้าใจดีว่าพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีช่วยรับประกันความปลอดภัยในการเดินเรือได้อย่างไม่ต้องสงสัย

จนถึงทศวรรษนี้ กล่าวได้ว่าเทรนด์การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญกำลังมาแรง ไม่นานมานี้ สมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (Cruise Lines International Association : CLIA) ได้จัดทำแนวโน้มอุตสาหกรรมการล่องเรือสำราญ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณนักท่องเที่ยวในธุรกิจเรือสำราญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้โดยสารเรือสำราญในช่วง 5 ปีหลัง สูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2558 มีจำนวน 23.06 ล้านคน และในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคน

สำหรับ 3 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศที่นิยมล่องเรือสำราญ นำหน้าด้วยชาวอเมริกัน กับตัวเลขกลมๆ 12 ล้านคนต่อปี ตามด้วยจีน 2.4 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ ใกล้เคียงกันคือ ชาวเยอรมัน ที่ปีที่แล้วใช้บริการเรือสำราญถึง 2.19 ล้านคน

ในส่วนของสายเรือหลักๆ ในโลก มีอยู่ 4 บริษัทใหญ่ คือ 1. Carnival Corporation & Plc. มีส่วนแบ่งในตลาด 44.1 เปอร์เซ็นต์ 2. Royal Caribbean Cruises Ltd. มีส่วนแบ่งในตลาด 23.9 เปอร์เซ็นต์ 3. Norwegian Cruise Line Holdings Ltd. มีส่วนแบ่งในตลาด 8.8 เปอร์เซ็นต์ และ 4. MSC Cruises (บริษัทลูกของ MSC Mediterranean Shipping ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าของอิตาลี ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก) มีส่วนแบ่งในตลาด 7 เปอร์เซ็นต์

“แต่ละสายก็จะแตกออกเป็นแบรนด์ย่อยๆ อีกกว่า 30 แบรนด์ทั่วโลก ในประเทศไทยจะมีตัวแทนของแต่ละแบรนด์แบบเป็นทางการ หรือเป็น GSA ซึ่งจะมีตัวแทนจำหน่ายอีกหนึ่งชั้น คือ บริษัททัวร์และ Agency ต่างๆ หรือเรียกว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายนั่นเอง” พรรษา อธิบาย

และแม้ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยจะยังมีสัดส่วนการใช้บริการไม่มากนัก แต่แนวโน้มกำลังสดใส หากไม่มีสถานการณ์ COVID-19 มาบดบัง ซึ่งพรรษามองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นตามห้วงเวลาของการระบาด และธุรกิจเรือสำราญจะฟื้นกลับมาได้ด้วยมาตรการที่รัดกุมในการดูแลเรื่องสุขอนามัยของผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ สมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (Cruise Lines International Association: CLIA) ได้ประกาศมาตรการคัดกรองผู้โดยสารและลูกเรือหรือ ‘โปรโตคอล’ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้สมาชิกเรือสำราญในกลุ่ม CLIA ที่คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของเรือสำราญทั่วโลกนำไปปฏิบัติสร้างความมั่นใจให้กับนักเดินทาง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

เริ่มจากการคัดกรองผู้โดยสารจากการตอบแบบสอบถามด้านสุขภาพตั้งแต่ก่อนวันเดินทาง การวางด่านตรวจวัดอุณหภูมิและสกรีนผู้โดยสารก่อนขึ้นเรือ ไปจนถึงการบรรจุทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำเรือและการเทรนนิ่งลูกเรือเกี่ยวกับโรค เพื่อให้สามารถดูแลผู้โดยสารและป้องกันตนเองได้อย่างปลอดภัย โดยสมาชิกกลุ่มเรือสำราญจำนวน 272 ลำ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

CLIA กล่าวว่า “อุตสาหกรรมล่องเรือสำราญมีระเบียบด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เข้มงวดมากที่สุดอยู่แล้ว จากประสบการณ์พบว่าความกังวลเรื่องไวรัสมักอยู่ในระดับภูมิภาค ผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือการยกเลิกการเดินเรือในภาคพื้นเอเชีย โดย Royal Caribbean ยกเลิกการเดินเรือจีนถึง 8 เที่ยวไปจนถึงวันที่ 4 มีนาคม, Princess Cruises ยกเลิกการเดินเรือในเอเชีย 12 เที่ยวถึงวันที่ 20 มีนาคม, หลายลำเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ เช่น ทริปเดินเรือ 24 วันของ Norwegain เดิมทีเดินทางออกจากแอฟริกาในวันที่ 22 มีนาคมแล้วเทียบท่าที่สิงคโปร์ ได้เปลี่ยนเส้นทางเดินเรือมาสิ้นสุดที่ประเทศกรีซ ใช้เวลาเดินเรือทั้งหมด 27 วัน”

อย่างไรก็ตาม เอเชียไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักในการเดินทางโดยเรือสำราญ ปีนี้มีเรือสำราญเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มีแผนเดินทางมายังฝั่งเอเชีย บริษัทเดินเรืออาจได้รับผลกระทบจากปริมาณผู้โดยสารเอเชียที่ลดจำนวนลงบ้าง จากเดิมสมาคมคาดว่าจะมีผู้โดยสารเอเชียใช้บริการเรือสำราญถึง 4.2 ล้านคนตลอดทั้งปี คิดเป็น 12.5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

ทว่า ในมุมของผู้ประกอบการไทย พรรษากล่าวถึงการรับมือกับสถานการณ์ ‘COVID-19’ ว่า บริษัทเน้นการให้ความรู้กับลูกค้าก่อนเที่ยวด้วยเรือสำราญ เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและมาตรการดูแลสุขอนามัยบนเรือ เรือทุกลำมีมาตรฐานความปลอดภัยในการดูแลผู้โดยสารสูง ไม่น้อยไปกว่าเครื่องบิน หรือการเดินทางชนิดอื่น

“เราอยากให้ทุกคนเข้าใจและเห็นใจ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ปรากฏการณ์ของการติดเชื้อจำนวนมากเกิดจากปัญหาในการไม่ยอมรับผู้โดยสารสู่ภาคพื้นของแต่ละประเทศมากกว่า” เธอย้ำว่า แม้ในขณะที่ไม่มีไวรัสโคโรนา เรือยังต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อทุกอย่างซึ่งมีขั้นตอนพร้อมอยู่แล้ว

“อยากให้มั่นใจว่า การติดเชื้อบนเรือดังกล่าวที่เกิดขึ้น ถ้าเทียบกับปริมาณเรือสำราญจำนวนมหาศาลรอบโลก ยังถือว่าควบคุมได้ดีและยังมั่นใจได้ค่ะ”

อย่างไรก็ดีในฐานะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ พรรษาเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้พิจารณาเรื่องการให้ความช่วยเหลือและความชัดเจนในเชิงนโยบาย

“ตรงไหนไม่ปลอดภัย ห้ามเดินทาง อยากให้ประกาศชี้ชัด เพื่อผู้ให้บริการในส่วนต่างๆ เช่น เรือสำราญ สายการบิน ที่พักและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะได้มีข้อมูลหรือความเด็ดขาดที่จะยอมให้ลูกค้าได้ทำการยกเลิกและคืนเงินผู้โดยสารให้ได้รวดเร็ว อยากให้แถลงหรือชี้แจงโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้ชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างแถลงทำให้เกิดความสับสน นอกจากนี้อยากได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น เงินทุน หรือมาตรการลดหย่อนทางภาษี”

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มรสุมผ่านพ้นไป ธุรกิจเรือสำราญจะได้กลับมาสดใส เป็นความหวังของธุรกิจท่องเที่ยวไทยอีกครั้งหนึ่ง