เส้นทางแห่งรักษ์ ‘กิ่วแม่ปาน’ วิวหลักล้านบน 'ดอยอินทนนท์'

เส้นทางแห่งรักษ์ ‘กิ่วแม่ปาน’ วิวหลักล้านบน 'ดอยอินทนนท์'

สัมผัสความงาม 'ป่าเมฆ' ของกิ่วแม่ปาน เชียงใหม่ เรียนรู้ความสัมพันธ์ของธรรมชาติในห้องเรียนสีเขียวที่มีเพียงต้นไม้ ลำธาร และสิ่งมีชีวิต

 

ท่ามกลางอุณหภูมิราว 15 องศาเซลเซียส ในช่วงปลายฤดูหนาวของบ่ายวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง ที่เราทิ้งความวุ่นวายในเมืองใหญ่ หอบร่างตุ้ยนุ้ยไปบริหารปอดกลางขุนเขา ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยเสียงร้องของป่า หันหน้าเข้าหาแสงอ่อนๆ เพื่อรับพลังงานเช่นดอกทานตะวัน แล้วฉีกยิ้มให้กับความไฉไลของหุบเขาที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกและแซมด้วยสีสันของดอกไม้ในเดือนแห่งความรัก

หลายคนเคยมาเยือนและหลายคนอาจยังไม่เคย ถ้าไม่เป็นการรบกวนก็อยากจะชวนมาตกหลุมรักธรรมชาติไปพร้อมๆ กับเรียนรู้เรื่องราวของป่าต้นน้ำที่ว่ากันว่า เป็นระบบนิเวศของป่าเมฆ 1 ใน 3 แห่งของประเทศไทย เรากำลังพาทุกคนเดินทางขึ้นสู่สูงสุดแดนสยามกับ เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

 

เส้นทางเดินป่า

 

จากอุทยานฯ ขึ้นมายังกิ่วแม่ปานราวๆ 20 กิโลเมตรได้ ฟังดูชิลๆ ทว่าตลอดเส้นทางอัดแน่นไปด้วยโค้งนับไม่ถ้วน กว่าจะถึงที่หมายแทบจะอาเจียนเอาให้ได้ แนะนำก่อนเลยว่าใครเมารถอย่าลืมไอเทมสุดคลาสสิกอย่างยาดมโดยเด็ดขาด

สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวเปิดให้นักท่องเที่ยวและเรียนรู้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนไปจนถึง 31 พฤษภาคม ของทุกปีและเปิดให้เข้าได้ทุกวันตั้งแต่ 06.00-16.00 น.

 

จุดเริ่มต้นกิโลเมตรที่ 42

แสงแรกของวันบริเวณจุดชมทิวทัศน์ กม.ที่ 42 ของถนนจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ด้านหน้าทางเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เป็นอีกหนึ่งอันซีนของสูงสุดแดนสยาม แม้จะแอบเสียดายที่ไม่ได้เห็น แต่คิดว่าป่าเมฆข้างในคงจะทดแทนความรู้สึกนี้ได้ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ 

เกษม เลายะ ประธานกลุ่มผู้นำเฉพาะถิ่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เขาคือไกด์ที่ป๊อปปูล่าที่สุดในความรู้สึกเรา เป็นผู้ที่เชื่อว่ากิ่วแม่ปานคือบ้านอีกหลัง และคอยเชื่อมชุมชนร่วมดูแลป่าต้นน้ำแห่งนี้ด้วยหัวใจ จะเป็นผู้นำเดินป่าในครั้งนี้

 

เกษม เลายะ ผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น

เกษม เลายะ ผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น 

เขาเล่าว่า พื้นดินที่เราเหยียบอยู่ขณะนี้คือป่าดิบชื้นบนภูเขาสูงกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่เขียวชอุ่มไปด้วยแมกไม้และปกคลุมด้วยเมฆหมอกเกือบทั้งปี ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสภาพอากาศของกิ่วแม่ปานจึงหนาวและมีความชื้นสูง การเติบโตของพรรณไม้มีเพียงไม้เมืองหนาวไม่กี่ชนิดที่รอดชีวิตในผืนป่าแห่งนี้ ที่นี่จึงเป็นป่าต้นน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอีกแห่งหนึ่ง เพราะนอกจากมอสและเฟินที่ขึ้นในพื้นที่ความชื้นสูงแล้ว ยังมีพันธุ์ไม้หายากที่จะพบได้ในป่าเมฆอย่างไม้ยืนต้นตระกูลไม้วงศ์ก่อ เช่น ต้นโอ๊ก ไม้ดอกตระกูลก่วม อย่าง 'ก่วมขาว' และพืชล้มลุกอย่าง 'แข้งไก่'

“กิ่วแม่ปานเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้นๆ ประมาณ 2.8 กิโลเมตร และจะใช้เวลาในการเดินประมาณ 1-2 ชั่วโมง ตามกำลังของแต่ละคน เรามีจุดพักและเรียนรู้ธรรมชาติที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ 15 จุด ด้วยความร่วมมือของเอ็กโก กรุ๊ป กับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และกลุ่มมัคคุเทศก์ท้องถิ่น” ไกด์ของเราเริ่มอธิบายเส้นทางพอหอมปากหอมคอ

เมื่อเตรียมความพร้อมกันที่จุดสตาร์ทเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาออกเดินทางตามเสียงธรรมชาติที่ร้องเรียกให้สัมผัสความงามอย่างใจจดใจจ่อ พร้อมกับร่างกายที่เต็มร้อย และไกด์ท้องถิ่นทั้งชาวม้งและปกาเกอะญอที่เนรมิตผืนป่าแห่งนี้ให้กลายเป็นห้องเรียนวิชาชีววิทยาเมื่อสมัยมัธยมปลาย พร้อมๆ กับสอดแทรกปรัชญาชีวิตได้อย่างไม่เคอะเขิน

 

เฟินเกาะต้นไม้

เหล่ามอสส์และเฟิร์น เกาะตามลำต้นของต้นไม้  

ป่าต้นน้ำ ต้นทางชีวิต

ไกด์พาเราเดินย่ำตามแนวบันไดที่สร้างขึ้นเพื่อไม่ให้เหยียบรากไม้ที่โผล่ขึ้นมาจากดินไปมากกว่านี้ เป็นการลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ซึ่งช่วยรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้ในระยะยาว

ผืนป่าปกคลุมไปด้วยต้นไม่ใหญ่ที่ให้ร่มเงา ทั้งตามลำต้นและกิ่งก้านยังมีพันธุ์ไม้เล็กๆ ขึ้นหนาแน่น ราวกับต้นไม้กำลังห่มผ้า ถัดมาไม่ไกลนักก็เริ่มได้ยินเสียงน้ำกระทบโขดหินเบาๆ นั่นคือ น้ำตกลานเสด็จ จุดที่ไกด์กำลังจะพูดถึง

“ชื่อนี้ได้มาจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จพระราชดำเนินมายังอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ทั้งหมด 9 ครั้ง จนนำไปสู่การพัฒนาอันเป็นประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกครับ”

 

น้ำตกท่าเสด็จ

น้ำตกลานเสด็จ แหล่งต้นน้ำ ต้นทางชีวิต 

ลำธารสายนี้คือสายน้ำแห่งชีวิต แม้หน้าแล้งก็จะมีน้ำไหลสำหรับกินและใช้ตลอดทั้งปี น้ำที่สะสมนอกจากจะเป็นน้ำฝนแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากหมอกที่ลอยมาเกาะต้นไม้แล้วกลายเป็นหยดน้ำตกลงสู่พื้นดิน ดินที่มีซากใบไม้ทับถมกันหนาแน่นราวกับฟองน้ำจะดูดซับและกักเก็บน้ำไว้ เสมือนถังเก็บน้ำขนาดมหึมาหล่อเลี้ยงต้นไม้ทั้งป่า และยังไหลซึมสู่หุบเขา เกิดเป็นธารน้ำใสขนาดย่อมหลายสาย รวมกันเป็นห้วยแม่ปาน หล่อเลี้ยงชีวิตคนอำเภอแม่แจ่ม, แม่วาง, จอมทอง และดอยหล่อ ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง จากนั้นส่งต่อไปยังแม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงผู้คนทั้งในเมืองและชนบท เขาจึงว่ากันว่า...กิ่วแม่ปานคือต้นน้ำและต้นทางแห่งชีวิต

 

ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ ความสวยงามในทุกฤดู

เสียงสายน้ำในความสงัดของป่าช่วยให้ผ่อนคลาย และสูดอากาศดีๆ ที่หาได้ยากในเมืองใหญ่ ครั้นเดินต่อไปสักพัก จากป่าครื้มๆ แสงแดดส่องผ่านรำไร ต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น สู่ทุ่งกว้างที่เต็มไปด้วยหญ้าสีเหลืองแห้งๆ ที่ถูกแดดเผา ราวกับว่าเป็นหนังฉากใหม่ที่กำลังจะเริ่มฉายอย่างต่อเนื่อง

ทุ่งหญ้าสีเขียวขจีแซมด้วยสีสันของดอกไม้สีขาวจากพืชสมุนไพร อย่าง 'มะแหลบ' สีเหลืองจากไม้พุ่ม 'บัวทอง' และยังมีพันธุ์ไม้ที่มักพบได้ตามตีนเขาหิมาลัย เช่น 'หนาดดอย' ขึ้นปะปนอยู่ในฤดูแล้งทุ่งหญ้าและดอกไม้จะเหี่ยวแห้งกลายเป็นสีเหลืองทองทั้งทุ่ง

และแล้วเราก็เดินมาถึงจุดชมทิวทัศน์ ที่ทำให้เราเข้าใกล้เมฆแค่เอื้อมมือ เสมือนยืนเสมอเส้นขอบฟ้า สัมผัสได้ถึงความเย็นที่กล้องตัวไหนก็ไม่อาจบันทึกได้ คลายความเหนื่อยเมื่อครู่ไปปลิดทิ้ง ซึ่งจุดนี้เรามองเห็นสันเขาแม่อวมจากไกลๆ เห็นร่องห้วยแม่ปานอยู่ไกลโพ้น และมองเห็นอำเภอแม่แจ่มกับสันเขาแม่ปาน 2 ข้างขนานกัน คำอธิบายจากของไกด์คนดีคนเดิม

 

กุหลาบพันปี

 กุหลาบพันปี

“ในธรรมชาติ ทุกชีวิตบนโลกมีความเชื่อมโยงกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติและปัจจัยที่เอื้อให้แต่ละชีวิตอาศัยอยู่ได้ หากเรามองเห็นความสัมพันธ์เหล่านั้น เราจะมองเห็นตัวเองเชื่อมโยงกับธรรมชาติและจะเห็นว่าเราเป็นส่วนสำคัญในการรักษาธรรมชาติให้สวยงามและคงอยู่ต่อไป”

เดินเลียบๆ ไปตามแนวสันเขา จุดนี้เองที่ไกด์สาวคนหนึ่งบอกว่านี่แหละคือที่มาของเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เพราะ ‘กิ่ว’ แปลว่า แคบ นั่นเอง ซึ่งสองข้างทางจะเห็นดอกสีแดงแซมอยู่กับสีเขียวของพุ่มไม้ มันคือ กุหลาบพันปี สัญลักษณ์แห่งรักนิรันดร์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 'ดอกคำแดง' หรือกุหลาบป่า เพราะมองดูเผินๆ คล้ายพุ่มกุหลาบและลำต้นมีมอสปกคลุมจนดูคล้ายมีอายุเป็นพันปี แต่แท้จริงแล้วกุหลาบพันปีหรือ Rhododendron arboreum เป็นพรรณไม้วงศ์ Ericaceae ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกุหลาบเลย แต่เป็นพืชที่หายากชนิดหนึ่งเพราะกระจายพันธุ์ในเขตหนาวเย็นบนพื้นที่ชุ่มชื้น เช่น สันเขาหรือหน้าผา ออกดอกปีละ 1 ครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ต้อนรับเดือนแห่งความรัก

 

ผ่าแง่มน้อย เคียงคู่จากความบังเอิญ

ผาแง่มน้อย เคียงคู่จากความบังเอิญ

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งพรหมลิขิตที่บันดาลชักพาให้ ผาแง่มน้อย เคียงคู่จากความบังเอิญ ไกด์เล่าว่า แท่งหินที่วางเคียงกันบนพื้นที่ลาดชันราวกับจับวางนี้ เป็นแผนการรังสรรค์ของธรรมชาติ หากสังเกตที่ฐานของแท่งหินไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดฝังลึกลงในใต้ดิน จากหลักฐานทางธรณีวิทยาคาดว่า แท่งหินผางามน้อยเป็นหินแปรที่เกิดจากการแตกหักและหลุดออกมาจากผนังหินหน้าผาของกิ่วแม่ปานกลิ้งตกลงมาตั้งอยู่จุดที่เคียงคู่กันพอดี และบริเวณฐานของผางามน้อยยังมีแผ่นหินที่ร่วงตกลงมาคล้ายรูปหัวใจวางอยู่ ด้วยความบังเอิญที่พิเศษนี้ ผาแง่มน้อย จึงเป็นหมุดหมายของคู่รักนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

 

กลับสู่ป่าดึกดำบรรพ์

แม้การเดินตามผาสูงชันจะเสี่ยงอันตรายแต่หน้าผาแห่งนี้กลับเป็นบ้านแสนสุขสำหรับการหากินของ กวางผา สัตว์ป่าสงวนของไทย หรือ 'ม้าเทวดา' หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทย เพราะมีแหล่งอาหารแหล่งน้ำจากหญ้าและไม้พุ่มทนแล้ง ไร้คู่แข่งแย่งหากินและปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่า 

“ปัจจุบันกวางป่าในประเทศไทยมีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่จากการสำรวจพบว่ากวางผาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มากกว่า 30 ตัว หากลองอดทนรอคอยอย่างสงบเราอาจได้พบกวางผาซึ่งใช้ชีวิตอิสระไปตามแนวผาแห่งนี้”

หลังจากเดินโต้ลมกันสักพักใหญ่ เราก็กลับเข้าสู่เส้นทางเดินป่าด้านในอีกครั้ง หากจะเปรียบว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์สัตว์โลกล้านปีอาจดูเกินจริง แต่ความคลาสสิกนี้ก็ทำให้เราอดนึกถึงไม่ได้ ไกด์พาเรามาลองหลับตาฟัง ‘เสียงป่า’ เสียงใบไม้หล่น เสียงลมพัดยอดไม้ เสียงสายน้ำที่ไหลผ่านซอกหิน เสียงนกร้องแมลงกรีดปีก ในความสงัดนี้ทุกสำเนียงคือดนตรีวงใหญ่ประสานเข้ากันอย่างเป็นจังหวะ

  เดินป่าศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน

เส้นทางเดินป่า กิ่วแม่ปาน

และสุดท้ายก็กลับมาที่จุด ‘เริ่มต้นที่จิตสำนึก’ สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนก่อเกิดและเกื้อกูลใต้วัฏจักรของธรรมชาติ ต้องอาศัยความเข้าใจและจิตสำนึกที่ตระหนักเห็นถึงคุณค่า ที่จะนำไปสู่ความพยายามในการรักษาไว้เพื่อประโยชน์ต่อทุกชีวิตอย่างยั่งยืน

“เราเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติ แน่นอนครับ อันดับแรกคือขยะ แต่ว่าเส้นทางนี้เรามีการรณรงค์ตลอด ถึงการดูแลการรักษาการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ เพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ที่จะส่งต่อให้ลูกหลานของเรา” ไกด์ทิ้งท้าย

เอกลักษณ์ของกิ่วแม่ปาน จึงไม่ใช่เพียงความงดงามของทัศนียภาพหรือความสูงเทียมเมฆ แต่ยังมีคุุณค่าของป่าต้นน้ำ ที่เป็นสายใยหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในป่าและคนปลายน้ำ

นักท่องเที่ยว