‘Kona Typica’ เกาะสวรรค์ กาแฟฮาวาย

‘Kona Typica’ เกาะสวรรค์ กาแฟฮาวาย

ย้อนตำนานความพิเศษของ 1 ใน 10 กาแฟที่แพงที่สุดในโลก ซึ่งมีแหล่งปลูกบริเวณภูเขาไฟในเขต ‘โคน่า ดิสทริกต์’ อีกหนึ่งหมุดหมายของคอกาแฟ

หนึ่งในสองมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่สามารถปลูกกาแฟขายในเชิงพาณิชย์ คือรัฐฮาวายและรัฐแคลิฟอร์เนีย อีกพื้นที่หนึ่งก็คือ เปอร์โตริโก ซึ่งถึงแม้จะไม่ถือเป็นมลรัฐของสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองหลังจากทำสงครามรบชนะสเปนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1898 เปอร์โตริโก้นั้นเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน เช่นเดียวกับกาแฟจากเกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก

‘เกาะสวรรค์’ เป็นสมญาที่นักท่องเที่ยวมอบให้หมู่เกาะฮาวาย ด้วยธรรมชาติอันงดงามปานเนรมิต ขณะที่กาแฟจากแหล่งผลิตก็ได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วโลก แทบจะติดอันดับหนึ่งในสิบกาแฟสุดแพงโหดของโลกเป็นประจำทุกปี ก็คือ กาแฟโคน่า (Kona coffee) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในบ้านเรา เพราะมีการนำเข้ามาจำหน่ายในรูปแบบกาแฟสำเร็จรูปมานานนับสิบๆ ปีแล้ว เพิ่งจะมีกาแฟคั่วบดนำเข้ามาขายตามร้าน หรือตามเว็บกาแฟออนไลน์ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

เอาเข้าจริงๆ กาแฟต่างประเทศที่ผมมีโอกาสชิมเป็นครั้งแรกหลังจากสมัครเป็นคอกาแฟกับเขาอย่างเต็มตัว ก็เป็นกาแฟจากดินแดนภูเขาไฟกลางทะเลสุดมหัศจรรย์อย่างเกาะฮาวายนี่แหละ

FARM1 ไร่กาแฟโคน่าบนเกาะฮาวาย ภาพ : www.konacoffeeandtea.com/farm

ชื่อในภาษาสากลของ ‘Kona coffee’ เป็นชื่อการตลาดของ กาแฟทิปปิก้า (Typica) หนึ่งในสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าซึ่งปลูกและเติบโตตามที่ลาดชันเชิงเขาบนภูเขาไฟฮูอาลาไล และภูเขาไฟเมานาโลอา ในเขต ‘โคน่า ดิสทริกต์’ ซึ่งตั้งอยู่บน Big Island อันเป็นเกาะหลักของฮาวาย แถบถิ่นนี้เรียกกันว่า Kona Coffee Belt มีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 30 ไมล์ กว้างประมาณ 2-3 ไมล์

5_1 ภาพจากกูเกิ้ลแสดงแหล่งปลูกกาแฟโคน่าบนเกาะฮาวาย, ภาพ : www.konacoffeeandtea.com/farm

‘Kona Typica’ เป็นที่แสวงหากันมากของร้านกาแฟที่คัดสรรคุณภาพ เนื่องจากมีกรดเปรี้ยวต่ำ รสชาตินุ่มนวล มีบอดี้หรือเนื้อกาแฟค่อนข้างหนักแน่น มีการแบ่งเกรดและคุณภาพเมล็ดกาแฟออกเป็น 2 ประเภท คือ Type I เป็นเมล็ดกาแฟที่มี 2 ซีกตามปกติ กับ Type II เป็นกาแฟเมล็ดโทน เรียกว่า Peaberry

ว่ากันว่า กาแฟทิปปิก้านั้นเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของกาแฟอาราบิก้า เริ่มต้นปลูกกันที่เยเมน แหล่งปลูกกาแฟเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกเมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งมีการนำต้นกาแฟป่ามาจากเอธิโอเปียอีกทอดหนึ่ง

ที่ฮาวาย ก็ไม่ต่างไปจากแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพอื่นๆ การแบ่งเกรดคุณภาพของเมล็ดกาแฟแต่ละชนิดนั้น มีกติกากำหนดไว้ มีการพิจารณาคัดสรรกันทั้งขนาด ความชื้น และความสมบูรณ์ของเมล็ด ซึ่งต้องไม่มีการแตกหัก

ตามตัวบทกฎหมายของมลรัฐฮาวาย มีเพียงกาแฟที่ปลูกในเขตโคน่าในบางพื้นที่เท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิ์ให้ติดหรือปั๊มคำว่า ‘100% Kona Coffee’ ลงไปบนแพจเกจจิ้งหรือขวดบรรจุ เป็นแบรนด์แสดงสัญลักษณ์ว่าคือกาแฟที่เก็บเกี่ยวจากหนึ่งในแหล่งปลูกที่ดีที่สุดของโลก

1 (8)

หนึ่งในกาแฟขายดีติดอันดับของฮาวาย Koa Coffee, ภาพ : koacoffee.com

เนื่องจากหายากและมีราคาสูง ผู้ผลิตกาแฟบางเจ้าก็จำหน่ายกาแฟในชื่อ ‘Kona Blends’ โดยมีการนำกาแฟโคน่าไปเบลนด์ผสมกับกาแฟจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น โคลอมเบียหรือบราซิล ปกติจะใช้สัดส่วนกาแฟโคน่า 10 เปอร์เซ็นต์ กับกาแฟที่มีราคาถูกกว่าอีก 90 เปอร์เซ็นต์

จากภูเขาไฟที่มีระดับความสูงหลดหลั่นกันไปตั้งแต่ 700 จนถึง 2,500 ฟุตจากระดับน้ำทะเล กอปรด้วยสภาพภูมิประเทศและอากาศอันเป็นที่ชื่นชอบของต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้ายิ่งนัก แดดออกจ้ายามเช้า เมฆปกคลุมหรือฝนตกในช่วงบ่าย ลมไม่แรงแม้กลางคืน ผสมเข้ากับดินภูเขาไฟที่อุดมด้วยแร่ธาตุ

‘ดอกสีขาว’ ของต้นกาแฟโคน่า จะผลิบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดอกสีขาวเล็กๆ นี้มีการตั้งชื่อกันอย่างโรแมนติกว่า ‘Kona snow’ เปรียบดอกกาแฟเป็นเสมือนหิมะที่โปรยปรายลงสู่พื้นดิน ขณะที่ต้นกาแฟในย่านโคน่า จะถูกตัดแต่งเป็นพุ่มในลักษณะที่ไม่สูงเกินไป เนื่องจากการเก็บเกี่ยวยังคงใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก เพื่อเป็นหลักประกันว่า ในกาแฟแต่ละต้นที่ให้ผลสุกไม่ตรงเวลากันนั้น จะมีการเก็บเฉพาะผลเชอรี่สีแดงจริงๆ เท่านั้น

ตามปูมประวัติกาแฟบนเกาะฮาวายนั้น ต้องย้อนหลังไปถึงเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1813 นับจากวันที่ดอน ฟรานซิสโก้ เปาโล มาริน หมอชาวสเปน อันเป็นสหายของกษัตริย์คาเมฮาเมฮาที่ 1 แห่งฮาวาย ได้นำเมล็ดกาแฟมาปลูกบนเกาะโออาฮู เป็นครั้งแรกร่วมกับพืชพันธุ์ต่างๆ ทว่าไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นกาแฟจากที่ไหน สายพันธุ์อะไร แต่ที่เสริมมาก็คือ ไม่มีใครรู้โชคชะตาของต้นกาแฟที่ปลูกบนเกาะฮาวายเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด มันตายหรือหรือเติบโตต่อไปได้...ยังคงเป็นปริศนา

จากนั้นในปี ค.ศ. 1825 จอห์น วิลกินสัน นักพฤกษศาสตร์ผู้ซึ่งเดินทางมาถึงฮาวายพร้อมกับเรือรบ HMS Blonde แห่งราชนาวีอังกฤษ ได้ซื้อต้นกาแฟจำนวนหนึ่งมาจากบราซิล และได้รับมอบที่ดินบนหุบเขามานัว บนเกาะโออาฮู จากหัวหน้าโบกิ ผู้ว่าการเกาะโออาฮูในขณะนั้น ให้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟ อย่างไรก็ดี วิลคินสันตายในปีค.ศ. 1827 อันเป็นปีเดียวกับที่้ต้นกาแฟเติบโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว

ในปี ค.ศ. 1828 ทนายความจากนิวยอร์กชื่อ แซมมวล รุคเกิลส์ ได้นำกิ่งตอนกาแฟจากบราซิลมาปลูกบริเวณย่านโคน่า แม้จะใช้เวลานานกว่าที่ไร่กาแฟจะลงหลักปักฐานได้ในย่านนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นพื้นที่แรกๆ ของฮาวายที่ประสบผลสำเร็จในการทำไร่กาแฟ ขณะที่การทำไร่กาแฟเพื่อการค้าอย่างจริงจังเริ่มขึ้นบนเกาะคาไวในปี ค.ศ.1836 แต่ก็พบกับความล้มเหลว ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก

3 (7) ผลสุกสีแดงของต้นกาแฟบนเกาะฮาวาย, ภาพ : Ekrem Canli

การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่กาแฟบนเกาะฮาวายและเกาะคาไว มีการบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1845 ให้ผลผลิตเพียงร้อยกว่ากิโลกรัมเท่านั้น

อีก 3 ปีต่อมา กษัตริย์คาเมฮาเมฮาที่ 3 แห่งฮาวาย ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้เอกชนถือครองที่ดินได้เป็นครั้งแรก นำไปสู่การทำไร่กาแฟกันยกใหญ่บนเกาะเมาวี แต่ต่อมาก็ถูกแทนที่ด้วยอ้อยและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หลังจากนั้น ไร่กาแฟก็ได้รับความเสียหายจากแมลงศัตรูพืชที่เข้าทำลาย มีเพียงพื้นที่เดียวที่หลงรอดมาได้และยังคงรักษาต้นกาแฟชุดดั้งเดิมเอาไว้ คือ เขตโคน่า บนเกาะใหญ่ Big Island ซึ่งกลายมาเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกาแฟฮาวายในปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 1873 ก็มาถึงจุดพลิกผันที่สำคัญของกาแฟฮาวายในตลาดโลก เมื่อกาแฟโคน่าของนายวาณิชชาวอังกฤษชื่อ เฮนรี่ นิโคลัส กรีนเวลล์ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากมหกรรมกาแฟโลกที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ส่งผลให้ชื่อ ‘โคน่า’ เป็นที่รู้จักของวงการกาแฟระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก

ต่อมา ไร่กาแฟของครอบครัวกรีนเวลล์ ได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับ ‘must see’ ที่ต้องตามไปชมกัน ซึ่งไร่กาแฟแห่งนี้ เป็นเสมือนตัวแทนบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การทำไร่กาแฟของเกาะฮาวายเอาไว้แทบจะทั้งหมด ปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ Kona Coffee Living History Farm

ราวปี ค.ศ. 1880 จอห์น กัสปาร์ มาคิโด้ ก็เปิดโรงงานบดกาแฟขึ้นเป็นครั้งแรกบนเกาะฮาวาย เพื่อสนองตอบความต้องการกาแฟที่เพิ่มขึ้นในที่สุด

จากนั้น พระเอกของเราก็เดินทางมาถึง เมื่อกาแฟสายพันธุ์ทิปปิก้าจากกัวเตมาลา ถูกนำเข้ามาปลูกบนเกาะฮาวายโดยชาวเยอรมันชื่อ เฮอร์มาร ไวด์มานน์ ในปีค.ศ. 1892 ต่อมารู้จักกันในชื่อ ‘Kona Typica’ ซึ่งได้กลายเป็นกาแฟที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของหมู่เกาะฮาวาย

ในปี ค.ศ. 1898 ฮาวายได้รับการอนุมัติว่าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ มีการลดกำแพงภาษีสินค้าหลายตัว ทำให้การส่งออกน้ำตาลมีกำไรค่อนข้างงาม นำไปสู่การทิ้งไร่กาแฟเพื่อปลูกอ้อยกันแทน ราคากาแฟในฮาวายจึงตกฮวบลง ถึงในปี ค.ศ. 1916 ผลผลิตทั่วทั้งเกาะเก็บเกี่ยวได้เพียง 1.3 ล้านกิโลกรัม ขณะที่การปลูกอ้อยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ทว่าโชคร้ายก็ผ่านไป ราคากาแฟเริ่มขยับตัวขึ้น หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และปัญหาน้ำค้างแข็งทำลายไร่กาแฟในบราซิล ทำให้กาแฟขาดตลาดไปทั่วโลก

4 (7) ไร่กาแฟเก่าแก่ของเกาะ "Kona Coffee Living History Farm" เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ภาพ : Kona Historical Society

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไร่กาแฟขนาดใหญ่ก็ผุดขึ้นทั่วหมู่เกาะฮาวาย แต่ในปี ค.ศ. 1899 ด้วยเกิดปัญหาตลาดกาแฟตกต่ำไปทั่วโลก ฮาวายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เจ้าของไร่กาแฟส่วนใหญ่เริ่มนำที่ดินออกมาให้แรงงานต่างชาติเช่า ส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมายังฮาวายเพื่อทำงานในโรงงานน้ำตาลในยุคเฟื่องฟู

อีกไม่กี่สิบปีต่อมา แรงงานอพยพชาวญี่ปุ่นก็เริ่มออกไปทำไร่กาแฟขนาดเล็กในโคน่า หลังจากสัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง ในปัจจุบันจึงพบเห็นชาวญี่ปุ่นในรุ่นต่อๆ มาซึ่งกลายเป็นชาวฮาวายไปแล้ว เป็นเจ้าของไร่กาแฟชื่อดังหลายแห่งทีเดียว นอกจากนั้น ก็มีชาวฟิลิปปินส์ คนยุโรป และชาวอเมริกันจากแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐ ทำไร่กาแฟอยู่เช่นกัน

ในช่วงปี ค.ศ. 1922 นั้น การผลิตกาแฟตามพื้นที่ต่างๆ ของหมู่เกาะฮาวายแทบจะหดหายไปหมดแล้ว จะเหลือก็แต่เพียงย่านโคน่าเท่านั้น จนกลายเป็นพื้นที่เดียวบนเกาะฮาวายที่ผลิตกาแฟและส่งออกไปยังตลาดโลก ขณะที่ส่วนต่างๆ ของหมู่เกาะเริ่มหันกลับมาทำไร่กาแฟกันอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง หลังจากทิ้งไปนาน

kona-coffee-tour-greenwell ทัวร์ชิมกาแฟที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว, ภาพ: www.lovebigisland.com/kona-coffee-tasting

ปัจจุบัน ย่านโคน่ามีไร่กาแฟขนาดเล็กประมาณ 600 แห่ง แต่ละแห่งมีขนาดเฉลี่ย 1-5 เอเคอร์ แต่ก็มีเหมือนกันที่เป็นไร่ขนาดใหญ่ตกราว 100-400 เอเคอร์ แต่มีจำนวนน้อย มีพื้นที่ปลูกกาแฟโดยรวม 8,000 เอเคอร์ ปริมาณการผลิตเฉลี่ยปีละ 12 ล้านกิโลกรัม ถือว่าน้อยมาก มีสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตกาแฟทั่วโลก

ต่อยอดและเชื่อมโยง...นอกจากปลูกกาแฟขายแล้ว เจ้าของไร่บางแห่งบนเกาะสวรรค์แห่งนี้ ยังเปิดพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำทัวร์ชิมกาแฟกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นโมเดลธุรกิจที่น่านำไปปรับใช้ยิ่งสำหรับเจ้าของไร่กาแฟในบ้านเรา