9000 ไมล์ ทางไกล ‘เหยี่ยวอพยพ’

ทีมวิจัยไทยติดตามเส้นทางอพยพเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและญี่ปุ่น พบเดินทางไกลถึง 14,532 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก

ชุมพรแม้จะเป็นเมืองรอง แต่ ‘จุดดูเหยี่ยว’ นั้นไม่เป็นสองรองใคร เพราะที่นี่มี เขาดินสอ’ แหล่งดูเหยี่ยวและนกอพยพดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก เป็นจุดที่เหยี่ยวอพยพนับแสนตัวบินผ่านทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ผู้ชมสามารถมองเหยี่ยวในระยะใกล้ที่สุด รวมทั้งเป็นจุดที่พบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำได้มากที่สุดในโลก จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักดูเหยี่ยวจากทั่วโลกตีตั๋วเดินทางมาเฝ้าชมทุกปี

โดยมนต์เสน่ห์ของ ‘เหยี่ยว’ นักล่าเจ้าเวหาที่ดึงดูดให้เหล่านักดูนกต่างเฝ้าคอย คงไม่พ้นความสง่างามของท่วงท่าการบินที่โดดเด่นเหนือใคร สีสันลวดลายบนปีกที่แผ่สยายทั้งงดงามและทรงพลัง ขณะที่อาวุธในการล่าเหยื่อมีครบครันทั้งนัยน์ตากลมโตแสนคมกริบ จะงอยปากงองุ้มแหลมคมดุจใบมีด และกรงเล็บที่โค้งงอดั่งตะขอที่พร้อมตะครุบเหยื่ออย่างน่าเกรงขาม สมดั่งเป็นผู้ล่าชั้นสูงสุดที่อยู่บนห่วงโซ่อาหาร

ทว่าปกติเหยี่ยวเป็นสัตว์รักความสันโดษ ชอบใช้ชีวิตเพียงลำพังหรือกับคู่ของมันภายในอาณาเขตที่แน่นอน อีกทั้งเหยี่ยวเป็นสัตว์สายตาดี ขี้ระแวง ไม่ชอบให้มนุษย์เข้าใกล้มากนัก ดังนั้นการเห็นเหยี่ยวสักตัวจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก แต่ในช่วงการอพยพถือเป็นห้วงเวลาพิเศษที่จะได้เห็นเหยี่ยวนับร้อย นับพันอย่างจุใจ และเป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาเหยี่ยวอพยพ

 

เขาดินสอ’ แหล่งดูเหยี่ยวระดับโลก

ทุกๆ ปี เมื่อซีกโลกตอนเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงกลางวันสั้นลง กลางคืนยาวนานขึ้น อากาศเริ่มหนาวเย็น และอาหารหายากขึ้น เปรียบดั่งสัญญาณเตือนให้นกนานาชนิดเตรียมเดินทางอพยพลงใต้ ซึ่งในทวีปเอเชีย นกเหยี่ยวจำนวนมหาศาลจากรัสเซียตะวันออก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะอพยพหนีหนาวมายังประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียเป็นหลัก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้ง

 

Pic นายชูเกียรติ นวลศรี

ชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ กล่าวว่า เขาดินสอ อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร คือหนึ่งในแหล่งดูเหยี่ยวและนกอพยพดีที่สุดระดับโลก เพราะตั้งอยู่ในเส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเหยี่ยวจำนวนมากเลือกใช้อพยพเส้นทางนี้เพื่อมุ่งหน้าสู่เขตร้อนทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นการเดินทางผ่านแผ่นดิน ปลอดภัยกว่าการบินข้ามมหาสมุทร ขณะเดียวกันเขาดินสอเป็นภูเขาสูงตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 350 เมตร มีพื้นที่ป่าโดยรอบกว่า 2,000 ไร่ ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ทำให้เหยี่ยวเลือกบินผ่านเข้ามาแวะพักและหาอาหารระหว่างเดินทาง

นอกจากนี้เขาดินสอยังตั้งอยู่ใกล้กับคอคอดกระซึ่งเป็นบริเวณแคบที่สุดของแผ่นดินในคาบสมุทรมลายู มีลักษณะเหมือนคอขวด ทำให้ฝูงเหยี่ยวถูกบีบให้บินผ่านพื้นที่แคบๆ จึงมองเห็นเหยี่ยวได้หลากหลายชนิดและมีจำนวนหนาแน่นกว่าจุดอื่นๆ

“ตั้งแต่ปี 2553 มูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอได้ร่วมกับอาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจนับจำนวนและจำแนกชนิดเหยี่ยวและนกอินทรี พร้อมทั้งใส่ห่วงขานกที่อพยพผ่านเขาดินสอในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีเหยี่ยวและนกอินทรีถึง 38 ชนิด โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ซึ่งบางปีมีรายงานการพบทั้ง 2 ชนิดรวมกันมากกว่า 5 แสนตัว นอกจากนี้เหยี่ยวแต่ละชนิดมีรูปแบบการอพยพเฉพาะของตัวเอง ซึ่งจากข้อมูลทำให้บอกได้ว่าเหยี่ยวแต่ละชนิดจะอพยพในช่วงเวลาใด เช่น ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจะเริ่มพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นอพยพ ตามด้วยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวผึ้ง ซึ่งจะมีจำนวนหนาแน่นมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงสัปดาห์แรกของต้นเดือนตุลาคม

 

Apasara Khao Dinso Sep16 0010-OK

ส่วน เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ซึ่งเป็นนกล่าเหยื่อที่มีความน่ารักมากที่สุดชนิดหนึ่ง ลักษณะตัวมีสีดำ อกถึงท้องมีลายพาดขวางสีน้ำตาลอมแดงสลับสีขาวเรียงลงมา บางตัวดูใกล้ๆ จะเห็นตาสีฟ้าอ่อนๆ บางตัวมีสีทับทิม เวลาเกาะกิ่งไม้จะเห็นหงอนตั้งขึ้น 2-3 เส้น โดยพวกมันจะอพยพผ่านเขาดินสอจำนวนหลายหมื่นตัวต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม (ช่วงวันปิยะมหาราช) ซึ่งเขาดินสอเป็นจุดที่พบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำได้มากที่สุดในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่พบกลุ่มเหยี่ยวนกเขามากที่สุดในโลก คือ 6 ชนิด ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบเหยี่ยวได้ในระยะใกล้ชิดไม่เกิน 10-15 เมตร”

 

เส้นทางอพยพ’ เหยี่ยวนกเขา

จากการศึกษานกล่าเหยื่อบนเขาดินสอมายาวนาน แม้จะได้ข้อมูลเหยี่ยวทั้งชนิดพันธุ์ จำนวน และช่วงเวลาการอพยพ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้ คือเหยี่ยวอพยพแต่ละสายพันธุ์นั้นมีเส้นทางบินมาจากที่ไหนและมุ่งหน้าสู่ที่ใด จุดเริ่มต้นให้ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ ร่วมกันศึกษาเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด คือ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมแบบพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

Pic นายแอนดรูว์ เจ เพียรซ Mr.Andrew J. Pierce

แอนดรูว์ เจ เพียร์ซ (Mr. Andrew J. Pierce) ผู้เชี่ยวชาญ สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ดำเนินการจับเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและญี่ปุ่นที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอโดยใช้ตาข่ายแบบพรางตา ระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม ปี 2559 และ 2560 เพื่อทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งอุปกรณ์มีน้ำหนักเบามากไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวของเหยี่ยว โดยติดที่ตัวเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว ในลักษณะสะพายหลัง ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเหยี่ยว โดยเทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำในระยะ 0.5-1.5 กิโลเมตร สามารถติดตามเส้นทางการอพยพและตำแหน่งของเหยี่ยวผ่านเว็บไซต์ http://www.argos-system.org/ หรือ แอปพลิเคชัน CLS view

“จากการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมฯ ให้กับเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว พบมีเส้นทางการอพยพจากเขาดินสอ จังหวัดชุมพร ลงใต้ไปยังบริเวณเกาะสุมาตรา เกาะนูซาเติงการาตะวันออก (Nusa Tenggara) ในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งจะอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ในช่วงฤดูหนาว ประมาณ 70-80 วัน และเมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม เหยี่ยวจะอพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน ทว่าในการติดตามมีเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่ยังสามารถจับสัญญาณการอพยพผ่านเขาดินสอได้อีกครั้งในปี 2561 ทำให้รู้เส้นทางการอพยพที่สมบูรณ์ของเหยี่ยวชนิดนี้ว่ามีการใช้ระยะทางในการอพยพทั้งสิ้น 14,532 กิโลเมตร และ 9,710 กิโลเมตร”

ในส่วนของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นอีก 4 ตัว ทีมวิจัยได้ติดตามสัญญาณไปถึงพื้นที่ของเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวและใช้เวลาอยู่บริเวณนี้ประมาณ 130-170 วัน ก่อนที่จะอพยพกลับขึ้นทางเหนือ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทีมวิจัยรับสัญญาณจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้เพียง 1 ตัวในช่วงอพยพกลับเท่านั้น โดยเหยี่ยวตัวนี้เดินทางออกจากพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวบนเกาะบังกา (Bangka) ประเทศอินโดนีเซีย ไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ (Amur) ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป ทำให้สรุปรวมระยะทางอพยพได้ทั้งสิ้น 7,699 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 50 วัน

อย่างไรก็ดี เส้นทางการอพยพของเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิดที่ถูกเปิดเผย นับเป็นความสำเร็จในการศึกษาวิจัยติดตามเหยี่ยวนกเขาครั้งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

72538972_1384516971716584_8315082433384939520_n  

 

อนุรักษ์เหยี่ยว’ สร้างการท่องเที่ยวยั่งยืน

เหยี่ยวจัดเป็นผู้ล่าชั้นสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารจึงถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่เหยี่ยวหลายชนิดกำลังถูกคุกคามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อาศัย ดังนั้นการศึกษาลักษณะพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูผสมพันธุ์และฤดูหนาว รวมถึงเส้นทางการอพยพและจุดแวะพักระหว่างทางจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

  Pic นางวิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์

วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยฝ่ายบริการวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพ เนื่องจากเหยี่ยวเป็นสัตว์ที่อพยพระยะทางไกลผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งผลการศึกษานอกจากจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิด ชัดเจนมากขึ้นแล้ว ยังพบว่าพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวหรือจุดหยุดพักที่สำคัญของเหยี่ยวทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นพื้นที่ที่มนุษย์เริ่มเข้ามาใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของเหยี่ยวในอนาคต ดังนั้นข้อมูลทางวิชาการเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำไปสู่การวางแผนอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่อย่างถูกต้องร่วมกัน เพื่อป้องกันภัยคุกคาม เช่น การสูญเสียถิ่นอาศัยและการล่า ทั้งในแหล่งหากิน แหล่งทำรังวางไข่ รวมถึงจุดพักตลอดเส้นทางการอพยพของเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิด

นอกจากนี้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยยังช่วยส่งเสริมให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญรวมถึงภัยคุกคามที่เกิดกับเหยี่ยว อีกทั้งนำไปสู่การสร้างโอกาสให้พื้นที่เขาดินสอ จังหวัดชุมพร เป็นจุดศึกษาวิจัยและจุดชมเหยี่ยวอพยพที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียและของโลก

“ที่ผ่านมา สวทช. สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันกำหนดภารกิจสำคัญที่จะส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล หรือ Smart Tambon Model โดยจังหวัดชุมพรเป็นพื้นที่นำร่องที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน 5 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดหวังว่าการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปใช้ควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน จะช่วยนำร่องให้พื้นที่เขาดินสอเป็นต้นแบบสำคัญที่จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”

ความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อศึกษาเหยี่ยวอพยพ ไม่เพียงเผยให้เห็นเส้นทางการใช้ชีวิตของเหยี่ยวนกเขาได้อย่างสมบูรณ์ แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการอนุรักษ์ร่วมกันในระดับภูมิภาค และสร้างเขาดินสอให้เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวบนฐานความรู้ ที่จะช่วยให้เหยี่ยวหลายแสนตัวยังคงบินร่อนลมผ่านน่านฟ้าไทยให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เฝ้ามองอย่างยั่งยืน