‘ต๊ะ-พิภู’ creative news เมืองไทยทำได้

‘ต๊ะ-พิภู’ creative news เมืองไทยทำได้

แนวทางการทำข่าวยุค media disruption ในมุมของ ‘ต๊ะ พิภู’ จะเป็นแบบไหน ต้องลองอ่านดู

โลกปัจจุบันอยู่ในยุคที่เรียกว่า Technology Disruption ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร หรือใช้ชีวิตแบบไหนก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเข้าไป ป่วนชีวิตคุณ

ภาคที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุด ณ ขณะนี้คือ ภาคสื่อสารมวลชน ที่เริ่มมาตั้งแต่การที่นิตยสาร ทยอยปิดตัวลงจนตอนนี้มีเหลือให้เห็นบนแผงแค่ไม่กี่เล่ม ตามมาด้วยการส่งคืนทีวีดิจิทัลกันหลายช่อง และการผุดขึ้นของสื่อรูปแบบใหม่อย่าง แพลตฟอร์มดูหนัง ฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งที่อาจจะกลายมาเป็นสื่อกระแสหลักก็ได้ในอนาคต

แล้วคนทำสื่อที่ได้รับผลกระทบเข้าไปเต็มเปาจากการ disrupt ของเทคโนโลยีจะเอาตัวรอดอย่างไรในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเชี่ยวกราก

เราเลยชวน ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า ผู้ประกาศข่าวรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่เขามองว่าจะช่วยพัฒนาวงการข่าวบ้านเราให้ดีขึ้น มานั่งจับเข่าคุยกันในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องมุมมองในการทำข่าว สถานการณ์สื่อในปัจจุบัน และทิศทางของการทำข่าวในยุค media disruption

3.ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า

ต๊ะ พิภู คร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวมาร่วมสิบปี ปัจจุบันเขาได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากช่อง MONO29 ให้มานำทัพผู้ประกาศในรายการข่าวเช้า Good Morning Thailand แล้วหนุ่มนักเรียนนอกที่มีหัวก้าวหน้าแบบเขาอยากให้มี ข่าวแบบไหนในรายการของตัวเอง

ผมอยากทำข่าวเชิงสร้างสรรค์ แล้วก็ข่าวเชิงให้ความรู้ให้อาหารสมอง ผมรู้สึกว่าทุกเช้าทุกช่องเหมือนกันหมด มันก็ดูสนุกนะ มีข่าวชาวบ้าน ข่าวสังคม การเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาชญากรรมซะเยอะ ทุกวันที่อ่านผมก็จะนับว่าวันนี้ 10 ข่าว เลือดนองเลย ข่มขืน ฆ่า อุบัติเหตุอะไรประมาณนี้ เพราะฉะนั้นถ้าทุกสื่อเป็นแบบนี้กันหมด ต่อไปตอนเช้าไม่มีทางเลือกให้คนตื่นมารู้สึกสบายใจ วันหนึ่งเมื่อคนอิ่มตัวเรื่องแบบนี้กันหมดอาจจะทำให้คนดูไม่อยากดูข่าวรึป่าว

ส่วนเรื่องการคืนช่องทีวีดิจิทัลที่ทำให้คนตกงานกันสนั่นหวั่นไหว แล้วต่อไปคนจะดูข่าวจากไหน เรื่องนี้ ต๊ะ พิภูบอกว่าในมุมมองของเขา ข่าวทีวี และกระบวนการทำข่าวแบบเดิมยังมีข้อดีอยู่มาก ไม่ว่าจะเรื่องของกระบวนการคัดกรองทำให้มีความน่าเชื่อถือมากกว่าข่าวออนไลน์ที่ทุกอย่างไปเร็วและสุดท้ายก็พลาด โดยข่าวทีวี หนังสือพิมพ์อาจจะแพ้เรื่องช้ากว่า แต่มันก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่ดีกว่า เช่น สามารถทำกราฟฟิกที่ชัดเจน ให้รายละเอียดดีกว่า รวมถึงการพรีเซนต์ ในหลากแง่มุมมากกว่าออนไลน์

การอ่านทำได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าคนไทยแม้ว่าจะอ่านมากขึ้น แต่เขาก็ไม่อ่านอะไรยาวๆ เขาจะชอบอ่านอะไรสั้นๆ ในบางกรณีการอ่านอะไรสั้นๆ มันไม่มีโอกาสเข้าใจอะไรทุกมุม ทุกแพลตฟอร์มจะต้องไปคู่กัน

ผมเชื่อว่าในอนาคตแม้แต่ทีวีกับออนไลน์ก็อาจจะต้องออนคู่กันไปเลย เขียนก็ส่วนเขียน นันหมายความว่าทีมข่าวทีมหนึ่งเข้าไปทำข่าวข่าวหนึ่งจะต้องออกมาในหลายรูปแบบเลยแล้วกระจายมันออกไปตมแพลตฟอร์มต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคคนเสพข่าวจะเลือกแบบไหน

เขาอาจจะเริ่มต้นที่การอ่าน แล้วรู้สึกว่าอยากดูละเอียดๆ ถ้ามีเวลาค่อยกลับมาดูย้อนหลังในออนไลน์ หรือบางครั้งเขาไม่มีเวลาทั้งการอ่าน ทั้งการดู ณ ตอนนั้น เหมือนกับข่าวเช้าที่ผมบอกว่าจะไม่หายไปเพราะเขาต้องทำอย่างอื่นไปด้วย เขาเปิดฟังและอาจจะหันมาดูบ้างบางครั้งนี่คือข้อได้เปรียบ

จริงอยู่สมาร์ทโฟนอยู่กับเราตลอดเวลาแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะอาบน้ำไปดูไปได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำกับข้าวไปดูไปได้มันอันตราย หรือเราขับรถไปบางทีเราก็ใช้การฟัง ดังนั้นผมเชื่อว่ารูปแบบการนำเสนอข่าวหลายอย่างจะไม่หายไป แต่ทีเราคืนช่องกันเยอะเป็นเพราะว่าบ้านเราประชากรไม่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปในเจน (generation) หลังๆ เขามีความ individual สูง เขาค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวเอง ดังนั้นเขามีโอกาสเลือกในสิ่งที่เขาอยากจะเลือกจริงๆ แต่ถ้าเราทำข่าวหรือนำเสนอเนื้อหาสาระที่มันเฉพาะและพิเศษที่ต้องดูได้เฉพาะที่เราเท่านั้นหรือต่างจากคนอื่น ผมเชื่อว่ายังไงซะเขาก็จะดู

ในอนาคตมันจะมีทั้งรายการข่าวที่เหมือนกันหมด และในแต่ละช่องต้องหาจุดเด่นของตัวเองที่จะนำเสนอข่าวที่ไม่เหมือนกัน ผมเชื่อแบบนั้น บางทีวันหนึ่งอาจจะต้องมีการคุยกับพาร์ทเนอร์เลยว่าด้านนี้เป็นด้านของช่องคุณที่ต้องเด่นคุณเจาะไปเลย เราก็อาจจะมีการนำเสนอที่ไม่เด่นทางด้านนั้นไม่งั้นก็อาจจะตายหมู่

5.ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า

นอกจากจะเป็นผู้ประกาศข่าวภาคเช้าทางช่อง MONO29 แล้ว ต๊ะ พิภู ยังเป็นพิธีกรให้กับ The Standard Daily live ที่เป็นการคุยข่าว สัมภาษณ์คน หรือพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขาคิดว่าน่าสนใจทางออนไลน์ด้วย....แล้วเขาวางตัวเองไว้ยังไงในการทำข่าวออนไลน์

ต๊ะบอกว่าเขาเป็นคนเลือกคอนเทนต์เองว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร ต่อให้จะไม่มีคนดูเลย แต่ถ้าเขารู้สึกว่าเรื่องนี้ดี เรื่องนี้น่าสนใจ เขาก็จะทำ

สื่อคือองค์ประกอบสำคัญในการสร้างชาติ ผู้คนจะเจริญหรือไม่เจริญ จะฉลาดหรือไม่ฉลาดขึ้นอยู่ที่สื่อ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาแล้วสามารถคดเป็น สื่อไหนดีสื่อไหนไม่ดี เพราะฉะนั้นวันนี้มีทางเลือกมากขึ้นมันก็อยู่ที่ว่าสื่อไหนที่จะยังคงจรรยาบรรณไว้ และพร้อมจะนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับผู้คนจริงๆ ถ้าคุณไปตามกระแสเพื่อความอยู่รอดอย่างเดียว สุดท้ายในอนาคตคุณก็ตายอยู่ดี แค่ตายช้าหน่อย

ผมจะทำแบบนี้ต่อไป โชคดีด้วยที่ค่าใช้จ่ายยังไม่เยอะ เรารู้ทางของเรา แล้วถ้าในอนาคตยังไม่มีใครสนับสนุนผมก็อาจจะหาข้อมูลของผมเอง ตื่นเช้ามาทำ YouTube ของผมเอง เช้านี้เล่าให้ฟัง 1 ชั่วโมง ผมว่า 4- 5 เรื่องนี้ช่องอื่นไม่เล่า แต่ผมเล่า

6.ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า

ถึงแม้สื่อต่าง ๆ จะมีการปลดคนกันไปหลายระลอกแล้ว แต่นักวิเคราะห์ยังมองว่าไม่น่าจะเป็นรอบสุดท้าย ในฐานะที่เขาเป็นคนหนึ่งในวงการนี้ คนทำสื่อควรจะเอาตัวรอดอย่างไร

ต๊ะ พิภู บอกว่าก็ต้องปรับตัว จะทำตัวสบาย ๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว อย่างทีวีที่เคยมีช่องหลัก 5 ช่อง ก็มีทีวีดิจิทัลเพิ่มเข้ามาเป็น 20 กว่าช่อง การแข่งขันจึงสูงมาก แถมยังเกิด technology disruption มีโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นคู่แข่งอีก

ทุกอย่างเปลี่ยนหมด ธนาคารก็ต้องเปลี่ยน วิธีการขายของ ดีเทลต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยน หลายอาชีพขาดทุนกันหมด เราจะมัวแต่โทษรัฐบาล มันไม่ใช่ เพราะโลกมันไปหมดแล้ว ถ้าเราปรับตัวไม่ทันเราไม่พยายามปรับเปลี่ยน เราเอาแต่เรียกร้องอย่างเดียว เราไม่พยายามเรียนรู้ เราก็ไปไม่รอดก็แค่นั้นเอง

ต๊ะเชื่อว่าทีวีจะอยู่ได้ เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบไหน

ถ้าเป็นช่องข่าว บอกได้คำเดียวว่ายังไงก็ต้องแบกคอร์สขาดทุนกันต่อไป คล้ายๆ กับรัฐวิสาหกิจในเมืองไทย ช่องข่าวคงยากที่จะมีกำไร ยิ่งมีหลายช่องแบบนี้มันคงลำบาก เว้นแต่ว่ามันมีสักประมาณ 2 ช่อง ช่องหนึ่งเป็นช่องนายทุนที่เป็นข่าวไปเลย ส่วนอีกช่องหนึ่งเป็นช่องสาธารณะจริงๆ ที่คนดูบริจาคเงินเข้ามาเพื่อให้เกิดการทำงาน เหมือน The Guardian ของอังกฤษ แบบ NHK ของญี่ปุ่น แบบนั้นเขาจะมีคุณภาพเพราะว่าเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินทุน เขาจะไม่ถูกแทรกแซงโดยนโยบายบางอย่าง เขาจะสามารถทำได้เป็นกลางแล้วทำได้ถึงจริงๆ แล้วสุดท้ายก็จะมีระบบการคัดเลือกคนที่เก่งจริงๆ เพื่อมาเป็นผู้บริหารในสายงานนั้นๆ

แล้วรายการทีวีแบบไหนที่ ต๊ะ มองว่ามาถูกทางในยุคสื่อถูก disrupt?

สำหรับเรื่องนี้เขาบอกว่ามันพูดยาก เพราะรายการมีหลากหลายรูปแบบ โดยเขามองว่าเราควรจะพัฒนาตามเทคโนโลยี แล้วก็อาจจะต้องกล้าที่จะลองทำรายการบางอย่างที่เมื่อก่อนคนทีวีไม่กล้าทำ

ตอนนี้ผมก็ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นแบบไหน มันต้องลองผิดลองถูกกันอีกยกใหญ่ แต่สิ่งที่โมโนทำก็เป็นสิงที่พูดตรงๆ ว่าก็ไม่มีใครคิดว่าจะประสบความสำเร็จ การเอาหนังที่ปรกติต้องจ่ายเงิน ต้องเช่าวิดีโอหรือจ่ายเคเบิลเพื่อดู มาทำเป็นฟรีทีวี คือบางทีเราก็ต้องยัดเยียดเหมือนกัน ปลาในน้ำที่กินอาหารเดิมๆ เขาก็คิดว่านีคืออาหารที่ดี เขาชอบ แต่เมื่อวันหนึ่งเขาได้กินอาหารใหม่ๆ เขาอาจจะรู้สึกว่ามันมีทางเลือกที่ดีกว่าก็ได้

บางทีเราต้องกล้าทำอะไรใหม่ๆ เหมือนกันครับ เราอาจจะคิดว่าเอาบุฟเฟต์ให้ชาวบ้านชอบ มันคุ้ม แต่เราอาจจะถึงเวลามาทำอาหารแบบฟิวชั่น แบบโอมากาเสะ แล้วลองเสิร์ฟดู เมื่อเขาเริ่มกินไปสักพักก็จะรู้ว่าอร่อย บางทีมันก็ต้องกล้าเสี่ยง

บางทีอาจะต้องลองเรื่องใหม่ๆ ทำรายการที่เอาเรื่องจิตวิทยา เรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์เข้ามาวิเคราะห์แล้วทำให้มันสนุก เอาบางอย่างที่เป็นบันเทิงผสมกับเชิงวิชาการค่อยๆ เอาความรู้แทรกเข้าไปก่อน เดี๋ยววันหนึ่งคนจะเริ่มรู้สึกว่าจริงๆ เรื่องราวที่เมื่อก่อนที่เคยเข้าใจยาก พอดูจริงๆ ก็สนุก

ผมเชื่อว่าชาวบ้านพร้อมจะนั่งดูนะครับ สมมติทำไมผู้ชายชอบมีเมียน้อย ถ้ารายการสามารถวิเคราะห์เรื่องนี้แต่ทำให้มันสนุกแล้วก็เชิญสามีเคยมีเมียน้อย เป็นดาราบ้าง เป็นคนทางบ้านบ้างที่พร้อมจะเปิดใจแบบนี้ เป็นต้น

ผมว่าจริงๆ มันต้องลอง ถ้ามันไปต่อไม่ได้ก็แค่เลิก แต่ต้องยอมรับจริงๆ ว่าบ้านเรายังไม่มีคนที่ทำเรื่องเศรษฐกิจให้เข้าใจง่าย ทั้งที่จริงๆ ผมว่ามันมีคนเก่งๆ อีกมากที่สามารถทำได้ ปัญหาก็คือคนไทยชอบความบันเทิง ดังนั้นจะนำเสนออะไรต้องมีความสนุกแค่นั้นเอง

ส่วนสิ่งใหม่ ๆ ที่ ต๊ะ พิภู คิดจะนำเข้ามาในรายการข่าวของเขาคือการทำ creative news ที่มันมากกว่าแค่ edutainment news

คือทำให้มีทุกอย่างครบ ทั้งให้ความรู้ ดูสนุก แล้วยังได้ความจริง เราจะได้เลิกพูดเรื่องเก่าวนไปวนมา ทุกอย่างมันสามารถฉีกออกมาให้เป็นประโยชน์ได้หมด ทำไมญี่ปุ่นทำได้เราทำไม่ได้ แล้วก็มีความคิดสร้างสรรค์กับความตั้งใจจะเจาะเรื่องนั้นๆ แค่นั้นเองครับ