หนี้ครัวเรือน-กยศ. ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล

หนี้ครัวเรือน-กยศ. ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล

คนไทยเกือบ 100% มีหนี้ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน/ต่อครัวเรือน แต่รายได้ต่อครัวเรือนยังน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้การใช้ไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงเกินไป

วานนี้สองประเทศต่างซีกโลกมีข่าวคราวเกี่ยวกับหนี้ที่เห็นควรนำมาพิจารณา  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้ พบว่า คนไทยเกือบ 100% มีหนี้ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน/ต่อครัวเรือน แต่รายได้ต่อครัวเรือนยังน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้การใช้ไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงเกินไป กลุ่มตัวอย่างถึง 99.6% มีหนี้สินจากหนี้ส่วนบุคคล จากบัตรเครดิต เพื่อนำมาใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และซื้อสินค้าคงทน เช่น ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย รวมทั้งหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ

 

ที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเมื่อวันที่ (24 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เตรียมยกหนี้เพื่อการศึกษาของรัฐบาลกลางมากถึง 10,000 ดอลลาร์ ให้ชาวอเมริกันที่มีรายได้ไม่ถึง 125,000 ดอลลาร์ต่อปี ยกเลิกหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาเพลแกรนท์สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้เงินมากที่สุด 20,000 ดอลลาร์และขยายเวลาการพักชำระหนี้ชั่วคราวที่ประกาศใช้ในเดือน มี.ค.2565 ขยายไปจนถึง 31 ธ.ค. เหตุผลของผู้นำสหรัฐคือ ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง ช่วยให้ครอบครัวชนชั้นกลางและผู้ใช้แรงงาน “มีโอกาสได้หายใจหายคอมากขึ้น” สุดท้ายแล้วประชาชนจะหลุดพ้นจากหนี้สินล้นพ้นตัวได้

ไบเดนยอมรับว่าภาระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษานั้นสาหัสสากรรจ์มาก ชนิดที่เรียนจบแล้วลูกหนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงชีวิตชนชั้นกลางเหมือนคนจบวิทยาลัยสมัยก่อนได้ ไม่เพียงเท่านั้นผู้นำสหรัฐยังมีบทเรียนสมัยพ่อของตนเองเป็นเซลส์แมนขายรถต้องดิ้นรนหาเงินมาส่งลูกเรียน ได้ยินอย่างนี้ก็อดชื่นใจไปด้วยไม่ได้ที่ผู้นำเคยผ่านความยากลำบากมาก่อนเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน เรื่องหนี้ กยศ.นี้เคยเป็นประเด็นในโลกโซเชียลไทยเมื่อไม่กี่วันก่อน ชาวเน็ตให้ความเห็นแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับในสหรัฐที่มีเสียงโต้แย้งว่า ถ้าไบเดนยกหนี้แล้วใครจะเป็นคนจ่าย  ถ้าไม่ใช่คนอเมริกันทำงานหนักที่ใช้หนี้ของตนเองไปเรียบร้อยแล้ว หรือคนที่ไม่เคยกู้เลยตั้งแต่แรก

 

จะหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือหนี้ครัวเรือนล้วนเป็นภาระให้ประชาชนขยับลำบาก ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจประเทศ ขณะที่ประเด็นนายกฯ 8 ปียังไม่ได้คำตอบ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไว้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ลาออกหรือยุบสภา  ก็เข้าใจได้ว่าเรื่องของอำนาจใครได้ครอบครองแล้วก็ไม่อยากสูญเสีย แต่หากจะยื้อต่อไปก็ควรพิจารณาว่าได้ทำอะไรให้ประชาชนบ้าง หนี้สินภาคครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง เพราะหนี้ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกล้วนๆ แต่เป็นผลพวงจากระบบเศรษฐกิจอันเป็นผลงานการบริหารประเทศของรัฐบาลด้วย