"สามเณร" ไทย อ้วน 22% เหตุ ฉันน้ำหวานมาก ขาดสื่อความรู้โภชนาการ

"สามเณร" ไทย อ้วน 22% เหตุ ฉันน้ำหวานมาก ขาดสื่อความรู้โภชนาการ

เณรไทยอ้วน 22% สูงกว่าเด็กชายวัยเดียวกัน เหตุ ฉันน้ำหวานมาก-ผักน้อยเกิน คาด ขาดสื่อความรู้ด้านโภชนาการ สสส.-สช.-ม.บูรพา เตรียมลุยบรรจุหลักสูตร “เณรกล้า โภชนาดี” นำร่องปรับพฤติกรรม "สามเณร" ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม 33,000 รูป ธ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จ.นครปฐม นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สช. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย 7 องค์กร จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มุ่งสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาวะ พระสงฆ์

 

โดยเฉพาะสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่มีภาวะ โภชนาการเกิน ขาดความเอาใจใส่สุขอนามัยส่วนบุคคล และองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งสร้างความตระหนักถึงปัญหา และแนวโน้มที่ผลกระทบส่งผลต่อสุขภาวะ เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียนพระปริยัติธรรมให้มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนต่อไป

 

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพสามเณรทั่วประเทศ พบสามเณรมีภาวะโภชนาการเกิน (ท้วม เริ่มอ้วน และอ้วน) 22% มากกว่าเด็กชายไทยที่มีภาวะโภชนาการเกินอยู่ที่ 18% เนื่องจากเลือกฉันอาหารประเภทผัด ทอด และขนมหวานจำนวนมาก

ที่สำคัญ ยังพบว่า ส่วนใหญ่เลือกฉันน้ำปานะที่มีน้ำตาลปริมาณสูง เช่น นมเปรี้ยว น้ำอัดลม ชาเขียว สะท้อนแนวโน้มปัญหาสุขภาพในระยะยาว สสส. ร่วมกับ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาและภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการการพัฒนาสื่อโภชนาการสามเณรสมวัย พัฒนานวัตกรรมสื่อองค์ความรู้ แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหารของสามเณรที่เสริมสร้างสุขภาพที่ดี นำไปสู่การเป็นแกนนำความรู้ในการดูแลสุขภาวะเผยแพร่แก่ชุมชนและสังคมในวงกว้าง

 

“นวัตกรรมสื่อโภชนาการสามเณรสมวัย มี 4 รูปแบบ 1. ภาพนิ่ง (Infographic) 2. ภาพเคลื่อนไหว (Gifographic) 3. หนังสือชุดความรู้โภชนาการและการออกกำลังกาย 10 เล่ม 4. เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้า โภชนาดี ที่จะนำร่องใช้ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่มีสามเณรศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษากว่า 33,000 รูป ภายใน ธ.ค. นี้" 

 

"โดยมีพระพี่เลี้ยงเป็นโค้ชเสริมการเรียนรู้ในวิชาสุขศึกษานอกห้องเรียน ถือเป็นหลักสูตรเสริมการเรียนการสอนควบคู่กับวิชาสายสามัญตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้กับการจัดการศึกษาแผนกธรรมและแผนกบาลี ช่วยให้มีความรู้ มีทักษะในการดูแลโภชนาการเพื่อให้สามเณรมีสุขภาวะที่ดี” ดร.ประกาศิต กล่าว

ศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการการพัฒนาสื่อโภชนาการ สามเณร สมวัย สสส. กล่าวว่า ทีมงาน ได้ร่วมกับ สสส. ริเริ่มโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา ดำเนินโครงการ 6 โครงการ มีภาคีเครือข่าย 34 องค์กร โครงการการพัฒนาสื่อโภชนาการสามเณรสมวัยนั้นมีการทำงานกับคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ถือเป็นอีก 1 โครงการที่สำคัญ เว็บแอปพลิเคชัน “เณรกล้า โภชนาดี” เป็นกึ่งเกมการแข่งขัน สามเณรสามารถใช้เว็บแอปพลิเคชันช่วยบันทึกพฤติกรรมการฉันอาหารและออกกำลังกายของตนเอง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ภาคการศึกษา โดยมีสื่อให้ความรู้ แรงบันดาลใจ และระบุเป้าหมายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีคะแนนสะสม ให้ความชื่นชมด้วยเหรียญและโล่รางวัลออนไลน์ ภายใต้การติดตาม ดูแล ประเมินผลโดยพระพี่เลี้ยง