แนะข้อควรระวังการใช้ “บันไดเลื่อน” เลี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุ

แนะข้อควรระวังการใช้ “บันไดเลื่อน” เลี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุ

จากเหตุการณ์อุบัติเหตุคนพลัดตกบันไดเลื่อนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงอยากแนะข้อควรระวังการใช้บันไดเลื่อน เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

วานนี้ (20 ส.ค.) มีรายงานว่า เกิดอุบัติเหตุคนพลัดตกบันไดเลื่อนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสุรศักดิ์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความขัดข้องของบันไดเลื่อนแต่อย่างใด 

จากการรายงานการตรวจสอบเหตุการณ์ของบีทีเอส พบว่า อุบัติเหตุในครั้งนี้เกิดขึ้นจาก ในช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกหนัก ทำให้มีผู้เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และมีผู้โดยสารเสียหลักสะดุดล้มบริเวณหัวบันไดเลื่อน จึงเป็นเหตุให้ผู้โดยสารที่กำลังออกันขึ้นบันไดเลื่อนเสียหลักล้มทับกัน ทั้งนี้ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่มีแผลถลอกตามร่างกาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงรวบรวมวิธีการใช้บันไดเลื่อนอย่างปลอดภัย เพื่อเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจนทำให้ได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ 

  • ก่อนขึ้นบันไดเลื่อน
  1. ไม่ควรขึ้นบันไดเลื่อนขณะเท้าเปล่า
  2. หากถือสิ่งของอยู่ควรเปลี่ยนมาถือรวมไว้มือเดียว ส่วนอีกมือควรจับราวบันไดไว้ป้องกันไม่ให้หงายหน้าหรือหกล้ม 
  3. ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ เดินขึ้นบันไดเลื่อนตามลำพัง
  4. ไม่ควรวิ่งขึ้นบันไดเลื่อน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
  5. ระวังปลายกางเกง / กระโปรง และเชือกรองเท้า เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกดูดในช่องขั้นบันได
  • ขณะอยู่บนบันไดเลื่อน 
  1. ยืนชิดขวาของบันไดเลื่อน และไม่เดินขึ้นลงบันไดเลื่อน
  2. จับราวบันไดเลื่อนให้มั่น
  3. หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์ขณะใช้บันไดเลื่อน
  4. ไม่ควรนั่งบนขั้นบันไดเลื่อนหรือยืนพิงราวบันได เพราะอาจพลัดตกลงไปได้
  5. ไม่วางเท้าบนเส้นเหลืองเพราะเป็นตำแหน่งของชั้นบันไดเลื่อนที่แยกออกจากกัน
  • เมื่อก้าวลงจากบันไดเลื่อน 
  1. มีสติพร้อมที่จะก้าวลงบันไดอยู่เสมอ ไม่ควรเล่นโทรศัพท์ หรือคุยเล่นกัน เพราะอาจสะดุด หรือโดนบันไดเลื่อนหนีบเอาได้
  2. ขณะก้าวลงไม่ควรลังเลเพราะอาจสะดุด ชนกับคนอื่น ๆ จนเกิดอุบัติเหตุได้

อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุบัติเหตุขณะใช้บันไดเลื่อนหรืออยู่ในเหตุการณ์ ให้กดปุ่มอี-สต็อป สีแดง ซึ่งอยู่ตรงบริเวณต้นและปลายบันไดเลื่อนให้ไวที่สุด หากกดเองไม่ได้ให้ตะโกนบอกผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงให้กดให้ พร้อมแจ้งฝ่ายซ่อมบำรุงอาคาร โดยระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือไม่ควรขยับร่างกาย เพื่อให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด 

นอกจากนั้น นายธเนศ ยงรัตนมงคล นายกสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย ได้เคยให้ความเห็นในประเด็นการป้องกันอุบัติเหตุว่า เจ้าของอาคารสถานที่ควรติดป้ายเตือนและข้อควรระวังในการใช้บันไดเลื่อนบริเวณทางขึ้นและลงบันไดเลื่อน หรือบริเวณกำแพงบันได ทั้งนี้ก็เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

---------------------------------------

อ้างอิง

ซิคเคอร์ ชไนเดอร์ (Sicor Schneider) , สำนักข่าวไทยพีบีเอส