เทียบระบบ Feeder "กทม.-ลอนดอน-โตเกียว" | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เทียบระบบ Feeder "กทม.-ลอนดอน-โตเกียว" | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ฝนที่ตกอย่างหนักถล่มกรุงอันเนื่องมาจากพายุมู่หลานในช่วงสัปดาห์นี้ น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมเปิดหูเปิดตาถึงความยากลำบากในการเดินทางและการใช้ชีวิตอยู่ใน กทม.

ภาพฝนตก รถติด น้ำท่วม การต่อคิวรอรถโดยสาร ตลอดจนจำนวนรถที่จอดตายกลางถนนอันเนื่องมาจากภาวการณ์ทางธรรมชาตินั้นแท้จริงแล้วเป็นปรากฎการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ต่อไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน

เช่นเดียวกับภาพของรถติดยาวเป็นหางว่าวในงานคอนเสิร์ต หรืองานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่อิมแพคเมืองทองธานี หรือที่สนามราชมังคลากีฬาสถานในศึกแดงเดือดนัดหยุดโลกที่ฝนตกรถติด กว่าจะถึงสนามก็ว่าลำบากแล้ว แต่ขากลับบ้านนั้นยากลำบากกว่าเดิม

ระบบขนส่งมวลชนของไทยที่พึ่งพิงรถโดยสารประจำทางอย่างมากนั้น ไม่ใช่ตอบโจทย์กับเมืองขนาดใหญ่ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง กทม. เมืองที่เป็นที่อยู่ที่ทำกินของคนกว่าสิบล้านคน ไม่นับรวมนักท่องเที่ยวอีกหลายสิบล้านที่ผ่านเข้าออกกรุงเทพฯในทุก ๆ ปี

ระบบรางที่ถูกพัฒนาเพิ่มเติมและกระจายความเจริญสู่รอบนอกทำให้การเดินทางของคนกทม.นั้นมีความสะดวกสบายขึ้นก็จริงแต่ระบบขนส่งสาธารณะรอง หรือระบบ Feeder เพื่อขนคนเข้าสู่ระบบหลักอย่างรถไฟฟ้าสายหลักนั้นกลับไม่ได้ถูกพัฒนาเท่าที่ควร

นี่คือเหตุผลของภาพคนจำนวนมากกระจุกตัวรอรถอยู่ริมถนนที่สถานีหมอชิต อ่อนนุช ในช่วงเย็นและเช้า เช่นเดียวกับภาพคนรอกลับบ้านหลังจากมหกรรมกีฬา คอนเสิร์ต ซึ่งปัญหาเหล่านี้แทบจะมีให้เห็นไม่มากในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการจัดการระบบขนส่งมวลชนที่ดี อาทิ สถานีรถไฟฟ้าที่เข้าถึงสนามกีฬาขนาดใหญ่ คอนเสิร์ตฮอลล์ หรือแม้กระทั่งศูนย์ประชุมแสดงสินค้า

ความไร้บูรณาการให้การเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมสัญจร ไม่ว่าจะเป็นระบบราง ระบบ Feeder อันประกอบไปด้วย รถ เรือ มอเตอร์ไซค์นั้น ถือเป็นปัญหาที่กระทบกับคนชั้นล่างที่หาเช้ากินค่ำที่สุด ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและเวลาที่เสียไประหว่างการเดินทางนั้นแท้จริงแล้วมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯที่ว่าแย่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ในโลก กลับเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในประเทศ และดีกว่าหลาย ๆ ประเทศรอบ ๆ บ้านเรา อาทิ ย่างกุ้งของเมียนมา เวียงจันทน์ของลาว หรือพนมเปญของกัมพูชา แต่ไม่ได้ดีไปกว่ากัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย

ไม่ต้องพูดถึงลอนดอน โตเกียว ปารีสที่ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟใต้ดินนั้นเรียกได้ว่าครอบคลุมอย่างมาก โดยเฉพาะในโตเกียวที่ระบบ Feeder นั้นแทบจะไม่มีความจำเป็นอันเนื่องมาจากสถานีรถไฟใต้ดินที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง และมีรถไฟหลายสายให้เลือก ที่อยู่อาศัยและที่ทำงานตลอดจนสถานที่ต่าง ๆ จึงมักอยู่ไม่ไกลเกินสถานีนัก เรียกได้ว่าอยู่ในระยะที่เดินได้เลยทีเดียว

ขณะที่ลอนดอนถึงแม้สถานีจะยังไม่ครอบคลุมเท่าโตเกียวแต่ระบบ Feeder ก็อำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางโดยเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้ากลับบ้านโดยรถบัส แถมยังใช้ระบบโครงข่ายที่เชื่อมโยงเสมือนเป็นใยแมงมุมด้วยการคิดเงินค่าโดยสารแบบบูรณาการเพื่อไม่ให้ผู้เดินทางจ่ายเงินมากจนเกินไป ไม่เหมือนไทยที่จ่ายค่ารถไฟฟ้าที่ว่าแพงแล้ว ยังต้องมาจ่ายค่าเรือข้ามฟาก เสร็จแล้วมาจ่ายค่าวินหรือสองแถวต่อเข้าบ้านอีก

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่อย่างใด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งเขาก็แก้ไขกันไปได้ น่าอัศจรรย์ที่ไทยเรายังคงพบเจอปัญหาเดิม ๆ เหล่านี้ต่อไป