เตือนอย่าเลียนแบบ "กินไข่พยาธิตัวตืด" ไม่ช่วยลดหุ่น อาจเสี่ยงตายได้

เตือนอย่าเลียนแบบ "กินไข่พยาธิตัวตืด" ไม่ช่วยลดหุ่น อาจเสี่ยงตายได้

กรมอนามัย เตือนพฤติกรรมเลียนแบบ กรณีสาวชาวจีนรายหนึ่ง หวังลดหุ่น สั่งไข่พยาธิตืดวัวมากิน ย้ำเตือนกินพยาธิตัวตืดไม่ทำให้ลดหุ่น แต่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ อาจทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเพจหมอแล็บแพนด้า โพสต์เกี่ยวกับผู้ป่วยสาวชาวจีนรายหนึ่ง อยากผอม จึงสั่งไข่พยาธิตืดวัวมากินนั้น ถือเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรเลียนแบบหรือทำตาม เนื่องจาก "พยาธิตัวตืด" ที่เรียกว่า ซิสติเซอร์โคซิส (cysticercosis) เป็นพยาธิที่พบได้ในเนื้อหมู เนื้อวัว ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ข้างใน คนทั่วไปเรียกเม็ดสาคู

โดยกรณีสาวชาวจีนตามข่าวที่นำเสนอนั้น เลือกใช้วิธี "กินไข่พยาธิตัวตืด"  เพื่อลดน้ำหนัก เพราะเชื่อว่าพยาธิจะไปฟักตัวในกระเพาะอาหาร แล้วแย่งอาหารในลำไส้ ช่วยให้ร่างกายซูบซีด น้ำหนักลดลง จนมีรูปร่างผอมเพรียวได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องอดอาหารหรือออกกำลังกาย ซึ่งการกินไข่พยาธิเพื่อลดน้ำหนัก ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมารองรับว่าวิธีนี้จะช่วยลดหุ่นได้จริง แต่หากร่างกายมีการติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้ จะมีอาการคลื่นไส้ เหนื่อยล้า อ่อนแอ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย ผอมลง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อันตรายที่เกิดจากพยาธิตัวตืดระยะตัวเต็มวัย ได้แก่

  • การขาดสารอาหารเนื่องจากพยาธิแย่งอาหาร เกิดลำไส้อุดตัน
  • เมื่อพยาธิไชทะลุลำไส้ทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • ถ้ามีตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดหมูอยู่ในกล้ามเนื้อ จะทำให้ปวดเมื่อย
  • พยาธิตัวอ่อนที่เข้าไปในตาหรือสมอง อาจทำให้ตาบอดหรือเกิดอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ ชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้

 

ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจึงควรเลือกวิธีการที่เหมาะสม ด้วยการปรับ 4 พฤติกรรม คือ

  1. การกิน
  2. กิจกรรมทางกาย
  3. การนอน
  4. การดูแลสุขภาพช่องปาก

โดยประเมินตนเองก่อนว่าขณะนี้มีภาวะโภชนาการหรือรูปร่างเป็นอย่างไร ด้วยการวัดเส้นรอบเอว และหาค่าดัชนีมวลกาย

ส่วนการกินอาหารแต่ละมื้อ เริ่มจาก

- มื้อเช้า เป็นมื้อสำคัญควรได้อาหารที่มีคุณภาพ และหลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ ตามหลักธงโภชนาการ เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานไปใช้

- มื้อเที่ยง ไม่ควรรวบมื้อเช้ากับเที่ยงเข้าด้วยกันจนทำให้กินปริมาณมาก อาหารแต่ละมื้อควรมีสัดส่วน คุณภาพ และหลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะเช่นกัน

- มื้อเย็น เป็นมื้อที่เราใช้พลังงานน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงกินหนัก ให้จัดเป็นจานอาหารเพื่อสุขภาพ 2:1:1 คือ

  • ผัก 2 ส่วน (2 ทัพพี)
  • เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน (2-3 ช้อนกินข้าว)
  • ข้าว แป้ง 1 ส่วน (2-3 ทัพพี)

ให้เลือกอาหารที่ใช้วิธีการนึ่ง ต้ม อบ ย่าง แทนการผัดหรือทอด พร้อมผลไม้รสไม่หวานจัด 1 จานเล็ก ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้มีรูปร่างดี สุขภาพดี และไม่เสี่ยงอันตรายด้วย  อธิบดีกรมอนามัย กล่าว