ปรับลด "โควิด-19" จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้

ปรับลด "โควิด-19" จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ มีมติปรับลด “โรคโควิด-19” จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.65   ไฟเขียวรพ.จัดหายารักษาผู้ป่วยเอง เริ่ม 1 ก.ย.65

       เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า  คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการพิจารณา 4 เรื่อง คือ 1.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องยกเลิกชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย ฉบับที่..พ.ศ. และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยได้ปรับโรคโควิด19 จากโรคติดต่ออันตรายให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน

       "การลดระดับเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง เมื่อคณะกรรมการวิชาการมีมติ และเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อฯ น่าจะมีผลวันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไปในที่ประชุมยังมีการพูดถึงว่า ในอนาคตอันใกล้อาจมีวัคซีนโควิดรวมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนยาก็อาจมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ย้ำว่าโควิดจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่ใช่โรคประจำถิ่น ทุกอย่างขึ้นกับคำนิยาม แต่ต้องย้ำว่า เรายังเฝ้าระวัง มีระบบรองรับทางการแพทย์เช่นเดิม และเรื่องนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ยังรับบริการได้เช่นเดิม “นายอนุทิน กล่าว

  2. เห็นชอบกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19  เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการหลังการระบาดใหญ่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในการบริหารจัดการยาในรพ.ต่างๆ จะมีการอนุญาตให้รพ.ต่างๆ สามารถจัดหายาต้านไวรัสเองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2565 เป็นต้นไป ส่วนค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยยังสามารถเบิกกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่นๆ โดยประชาชนรักษาได้ตามสิทธิ์

          3.รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 และการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยมีแนวโน้มพบติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนเริ่มเข้าใจว่าโรคไม่รุนแรง สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ ซึ่งทุกวันนี้สามารถให้การรักษาพยาบาลประชาชนที่ติดโควิด-19 ตามดุลพินิจของแพทย์ โดยได้เตรียมยารักษาโรค เตรียมวัคซีน และเตรียมภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป


              “ไม่ได้ขาดยา ใครที่บอกว่าขาดยา ต้องไปดูว่า แพทย์ที่สั่งจ่ายท่านมีดุลพินิจอย่างไร ไม่ใช่ทุกคนต้องรับยาต้านไวรัส อย่างการประชุมวิชาการของกรมการแพทย์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ภูเก็ต ได้พิจารณาเรื่องนี้  ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรมยืนยันไม่ได้ขาดยา และได้จัดส่งยาตามเขตสุขภาพ และส่งต่อไปตามจังหวัด หากมีปัญหาที่รพ.ใด ขอให้แจ้งมาเป็นรพ. จะได้ติดตามถูก เพราะแต่ละเขตสุขภาพก็มีการสต็อกยาตามเขตอยู่แล้ว  ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยังใช้อยู่ เพราะยาโมลนูพิราเวียร์ ตามข้อบ่งชี้ให้แก่คนอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ผู้ป่วยติดเชื้อที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจึงให้ไม่ได้ ต้องให้ฟาวิพิราเวียร์ ทางการแพทย์ยังยืนยันว่า ยาทั้งคู่รักษาโควิดได้" นายอนุทิน กล่าว

     และ4.รับทราบสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง(Monkeypox) มีความเห็นว่าไทยยังควบคุมสถานการณ์ได้ มีการสั่งซื้อวัคซีนป้องกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง ตลอดจนผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่ได้ฉีดวัคซีนฝีดาษอย่างแพร่หลายเหมือนกับโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ ยังใช้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามความเสี่ยง โดยผู้ป่วยทั้ง 4 รายของไทยมีประวัติเสี่ยงชัดเจน จากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ยังมีผลเป็นลบอยู่

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ให้รพ.ซื้อยาต้านไวรัสฯเอง คือรัฐและเอกชน หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า  รพ.ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งสมัยก่อนสธ.จะเป็นผู้ดำเนินการและกระจาย แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ก็จะขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยาที่มาขึ้นทะเบียนถูกต้อง หากจะขายโดยตรงให้กับรพ.ก็ดำเนินการได้ หรือแม้กระทั่งมาร้านขายยาก็ได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะขายได้ แต่ก็ขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยาว่าจะส่งระดับไหน ก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ระดับโรคโควิด-19  ส่วนกรณีรพ.รัฐ การจัดซื้อยาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จะมีการดำเนินการพิจารณาราคากลาง หรือราคาอ้างอิง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่หากยามีราคาแพงมากเกินไป กรณีไปซื้อขายโดยตรง ก็ให้มาแจ้งกระทรวงสาธารณสุข จัดซื้อและกระจายให้เหมือนเดิม

       ต่อข้อถาม สธ.เปิดให้รพ.ซื้อขายยาเอง ถือว่าช้าไปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน หากฟังคนโน้นทีคนนี้ทีแล้ววิ่งตาม คงไม่ได้ เราต้องมีองค์ความรู้ มีการตัดสินใจของเรา ซึ่งผ่านคณะกรรมการที่ถูกต้องตามกฎหมาย การรักษา การใช้ยา เรามีคณะกรรมการวิชาการ นโยบายในการบริหารจัดการโรคระบาดเรามีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรามีคนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณา