สธ. เผย "ฝีดาษวานร" ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง

สธ. เผย "ฝีดาษวานร" ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถาการณ์ "ฝีดาษวานร" พบผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ หายได้เอง ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง หรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย แนะพฤติกรรมการป้องกันโรคเคร่งครัดลดเสี่ยง โรคฝีดาษวานรและโควิด 19 ได้

วันนี้ (7 สิงหาคม 2565) นายแพทย์โสภณ  เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์ในประเทศไทยเวลานี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร จำนวน 4 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย และสัญชาติไทย 2 ราย จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วยพบอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ และไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ

 

ความเสี่ยงที่จะติดโรคฝีดาษวานร

  • ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง
  • หรือสัมผัสใกล้ชิดมากๆ กับผู้ป่วย หรือบาดแผลของผู้ป่วย
  • รวมทั้งการติดต่อผ่านทางละอองทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น หน้าแนบหน้า

 

ด้านการป้องกันควบคุมโรคฝีดาษวานร

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
  • ซึ่งสิ่งที่สำคัญอันดับแรก คือ การป้องกันโรคโดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า
  • หรือไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด

แม้ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ แล้วแต่ยังต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษไปแล้ว และคาดว่าจะนำเข้ามาประมาณปลายเดือนหลังสิงหาคม 2565

 

กลุ่มไหนที่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษ

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่ออีกว่า กลุ่มเป้าหมายของวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย จะต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค การระมัดระวังผลข้างเคียงต่างๆ การพิจารณาจากสถานการณ์การระบาด ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ประชุมหารือแล้วและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure) ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

2.กลุ่ม Post-exposure คือฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วันซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

แนะพฤติกรรมป้องกันโรคป้องกันฝีดาษ

“ขอแนะนำประชาชนว่าวัคซีนเป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือในการป้องกันโรค ไม่มีวัคซีนใดที่จะสามารถป้องกันโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วัคซีนมีหน้าที่ช่วยลดอาการรุนแรงของโรค ลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่เคร่งครัด ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้ง โรคฝีดาษวานร และโควิด 19 เน้นย้ำการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า คนที่ไม่รู้ประวัติหรืออาการป่วยมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น"

 

"หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเอง มีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน  กรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โสภณกล่าว