การจากไป “Chester Bennington” กับ “โรคซึมเศร้า” ที่ฝังอยู่ในบทเพลง

การจากไป “Chester Bennington” กับ “โรคซึมเศร้า” ที่ฝังอยู่ในบทเพลง

การจากไป “Chester Bennington” แห่ง “Linkin Park” วงนูเมทัลระดับตำนาน ที่ฝากความปวดร้าวจาก “โรคซึมเศร้า” ไว้ในบทเพลง

“Who cares if one more light goes out. In the sky of a million stars. It flickers, flickers. Who cares when someone's time runs out. If a moment is all we are”

ท่อนฮุคสุดเศร้าของเพลง “One more light” จาก “Linkin Park” ซิงเกิลสุดท้ายของวง แต่งโดย “Chester Bennington” ที่ไม่ใช่แค่เพลงเศร้าเท่านั้น แต่เป็นเพลงที่มาจาก “โรคซึมเศร้า” ของผู้ขับร้อง

หากย้อนกลับไปในช่วงยุค 2000 กระแสแนวเพลง “นูเมทัล” (Nu Metal) ที่ผสมผสานของแนวดนตรี “กรันจ์” และ “อัลเทอร์เนทีฟเมทัล” รวมเข้ากับ ดนตรีฟังก์ ฮิปฮอป และ เฮฟวี่เมทัล กำลังมาแรงแซงโค้ง และครองชาร์ตเพลงในยุคนั้นได้เกือบหมด ด้วยซาวน์ดนตรีแปลกใหม่ ผสมกับการร้องที่ดุเดือดทำให้กลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นในยุคนั้นได้ไม่ยาก

หนึ่งในวงที่เรียกได้ว่าเป็นอยู่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และเป็นตำนานมาจนถึงวันนี้ คงหนีไม่พ้น “Linkin Park” วงนูเมทัลจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่มีนักร้องนำ 2 คนคือ “Mike Shinoda” มีหน้าที่ร้องแร็ป และ “Chester Bennington” ในฐานะนักร้องนำรวมถึงการว้ากในสไตล์เมทัล เจ้าของฉายา “Voice likes angle, scream likes devil.”

ด้วยความแปลกใหม่ของดนตรีและเสียงร้องของทั้งคู่ พาให้ Linkin Park เป็นวงนูเมทัลยุคบุกเบิกที่ประความสำเร็จตั้งแต่ปล่อยอัลบั้มแรก "Hybrid Theory" ในปี 2000 ได้ไม่ยาก หลังจากนั้นจนถึงปี 2017 ทางวงได้ปล่อยอัลบั้มรวมทั้งหมด 7 อัลบั้ม มีเวิลด์ทัวร์ทั้งหมด 10 ครั้ง และมาไทยถึง 3 ครั้ง ด้วยกัน ทำให้แฟนคลับหลายคนเชื่อว่าในอนาคต "Linkin Park" สามารถไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน

แต่แล้วเมื่อกลางดึกของวันที่ 20 ก.ค. 2017 ประมาณตีหนึ่งตามเวลาประเทศไทย เริ่มมีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวการเสียชีวิตของ “Chester Bennington” ในบ้านพักของตนเองด้วยการทำอัตวิบากกรรม ในช่วงแรกบรรดาแฟนคลับในโลกออนไลน์ยังมองว่าอาจจะเป็นเฟคนิวส์หรือความเข้าใจผิดบางอย่าง แต่สุดท้ายในช่วงเช้าของวันเดียวกันทั่วโลกต่างได้รับรู้ว่าข่าวยืนยันจากต้นสังกัดแล้วว่า Chester จากไปอย่างไม่มีวันกลับ สร้างความโศกเศร้าให้กับแฟนคลับทั่วโลกซึ่งบางคนเป็นแฟนคลับวงนี้มาเกือบ 20 ปี

ข้อความไว้อาลัยและคำถามต่างๆ ถาโถมไปที่เพลงหลายเพลงในช่องยูทูบของวง ซึ่งเพื่อนสนิทในวงอย่าง Mike Shinoda เองก็ไม่สามารถออกมาให้รายละเอียดอะไรได้ในตอนนั้นเนื่องจากตกอยู่ในภาวะช็อคก่อนจะออกมายืนยันในภายหลังผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง 

พิธีศพของ Chester ถูกจัดขึ้นที่แอริโซนาบ้านเกิดของเขา หลังจากนั้นสื่อต่างชาติมีรายงานเพิ่มเติมว่าการจากไปของเขาในครั้งนี้เกิดจาก “โรคซึมเศร้า” ที่เขาเผชิญมาหลายปีก่อนจะตัดสินใจจบชีวิตลงเนื่องจากไปสามารถต่อสู้กับมันได้อีกต่อไป ซึ่งหลังจากที่เขาเสียชีวิตมีรายงานออกมาว่าในช่วงวัยเด็กเขามักถูกกลั่นแกล้งและถูกล่วงละเมิดทำให้เป็นต้นเหตุของ “โรคซึมเศร้า”

การจากไปของ “Chester Bennington” ไอดอลวัยรุ่นยุค Y2K หลายคน ทำให้แฟนคลับหลายคนเริ่มเข้าใจโรคซึมเศร้าที่ Chester เผชิญมาตลอดระยะเวลาหลายปีว่า แท้จริงแล้วเขาพยายามขอความช่วยจากใครสักคนผ่านบทเพลงตั้งแต่ในอัลบั้มแรกจนถึงซิงเกิลสุดท้ายที่มีเนื้อหาว่าเขาจะจากไปอย่างชัดเจนนั่นก็คือ “One more light”

  • One more light ก่อนแสงสุดท้ายจะหายลับไปตลอดกาล

"One more light" ถือเป็นเพลงสุดท้ายของ “Linkin Park” เพราะหลังจากปล่อยเพลงนี้ออกมา “Chester Bennington” นักร้องนำก็ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ หลายคนที่ได้ฟังเพลงนี้หากฟังเพียงผิวเผินก็คือเพลงเศร้าทั่วไปไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกับเพลงอื่นๆ ของวงมากนักเพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงเศร้าอยู่แล้ว แต่หากพิจารณาเนื้อหาของเพลงให้ดีโดยเฉพาะเป็นเพลงสุดท้ายก่อนที่ Chester จะจากไป เพลงนี้เปรียบเสมือนเพลงบอกลาเนื่องจากว่าเขาต่อสู้กับอาการของโรคซึมเศร้ามานานหลายปี

“Who cares if one more light goes out. In the sky of a million stars. It flickers, flickers. Who cares when someone's time runs out. If a moment is all we are” ไม่ใช่เพียงแค่ท่อนฮุคแต่เป็นการส่งสัญญาณว่า “จะมีใครมาสนใจหากดาวดวงหนึ่งลาลับไป ท่ามกลางฟากฟ้าที่ยังมีดาวอีกเป็นล้านดวง แต่ดาวดวงนั้นกำลังกะพริบริบหรี่แล้วนะ จะมีใครเล่ามาสนใจหากเวลาของใครคนหนึ่งทยอยหมดไป ถ้าทุกอย่างนั้นล้วนอยู่ในความทรงจำ”

ซึ่งเขาไม่ได้หมายถึงใครเลย แต่หมายถึงตัวเองที่พยายามต่อสู้กับความเจ็บปวดแสนสาหัสกับโรคซึมเศร้าที่ไม่มีใครรู้ เพราะภายนอกเขาคือศิลปินที่ประสบความสำเร็จมาตลอดชีวิต มีคนรอบตัว มีเพื่อน และแฟนคลับอีกเป็นล้านที่รักเขา แต่แท้จริงแล้วท่ามกลางผู้คนมากมายเขากลับเหมือนว่ายังอยู่ตัวคนเดียว

หลังจากเขาเสียชีวิตไปไม่นาน ทางวงก็ได้ปล่อยมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ออกมา โดยเป็นการใช้ภาพเล่าเรื่องชีวิตของ Chester ที่เต็มไปด้วยร้อยยิ้มท่ามกลางแฟนคลับระหว่างการทัวร์คอนเสิร์ตจากหลายแห่ง รวมถึงช่วงเวลาที่เขาได้ใช้กับเพื่อนร่วมวง ซึ่งหลังจากปล่อยออกมาเพลงนี้ก็สามารถแตะล้านวิวได้ในเวลาไม่นาน

เนื้อหาของเพลงที่สุดแสนจะเจ็บปวดนั้นไม่ได้โดดเด่นอยู่ในเฉพาะท่อนฮุคเท่านั้น แต่เพลงทั้งเพลงคือการบอกลา เพลงเปิดมาด้วยท่อนแรกว่า “Should've stayed. Were there signs I ignored?” หมายถึง “ก็ควรจะอยู่ต่อสินะ ว่าแต่ไม่เห็นจะมีสัญญาณอะไรเลย ฉันอาจจะมองข้ามไปก็ได้”  

แค่เพียงเริ่มต้นก็เห็นได้แล้วว่าเขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่าควรอยู่ต่อหรือพอแค่นี้ 

“Can I help you, not to hurt, anymore? We saw brilliance, when the world, was asleep. There are things that we can have, but can't keep.” แต่ความเศร้าและความเจ็บปวดรวมไปถึงการตั้งคำถามแล้วว่า “ขอฉันช่วยเธอได้ไหม เธอจะได้ไม่ต้องเศร้าและเจ็บปวดอีกต่อไป เราเห็นแสงอันสุกสว่าง เมื่อทั้งโลก กำลังหลับไหล มันมีหลายอย่างนะที่เรานั้นควรจะมี แต่เราก็ดันเก็บมันไว้ไม่ได้”  

“เธอ” ในที่นี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เขาหมายถึงตัวเอง กำลังถามตัวเองว่าจะช่วยให้ตัวเองนั้นไม่ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดแบบนี้อีกต่อไป ทั้งที่ก็มองเห็นอยู่นะว่ามันมีแสงสีสว่างสดใสในขณะที่ใครหลายคนกำลังหลับใหล แต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถรักษาอะไรไว้ได้อยู่ดี 

และในท่อนสุดท้ายก็เหมือนกลับว่าเขายังคอยให้กำลังใจคนอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้อยู่เหมือนกับเขานั่นก็คือ “Who cares if one more light goes out. Well I do.” ใครจะไปสนใจล่ะถ้าหากแสงดาวแสงหนึ่งจะหายลับไป แต่ฉันเป็นห่วงนะ ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่เขาได้ฝากไว้ให้กับแฟนคลับที่เขารักว่าอย่างน้อยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ เขาก็จะยังคงอยู่ในใจแฟนคลับของเขาต่อไปเพื่อช่วยให้กำลังใจเสมอ 

ไม่ใช่แค่เพียง “One more light” เท่านั้นที่แสดงออกถึงความรู้สึกของ Chester Bennington ที่ต้องเผชิญปัญหาโรคซึมเศร้ามานานหลายปี แต่เขาพยายามแสดงออกมาตั้งแต่อัลบั้ม Hybrid Theory ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกเมื่อปี 2000 แล้ว

การจากไป “Chester Bennington” กับ “โรคซึมเศร้า” ที่ฝังอยู่ในบทเพลง ภาพ Chester Bennington จาก Thedawnrehab

  • หลากหลายบทเพลงจากความเจ็บปวดในหัวใจ

หลัง Chester จากไป ทำให้แฟนคลับหลายคนรู้ว่าเขาเคยมีปัญหาในวัยเด็กไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศทำให้เขาเริ่มมีภาวะของโรคซึมเศร้าสะสมมาเรื่อยๆ ทำให้หลายครั้งที่แฟนๆ ได้ฟังเพลงของเขาในช่วงที่กำลังหมดกำลังใจ ท้อแท้กับชีวิต รู้สึกว่าอะไรก็ดูแย่ไปหมด แต่พอได้ฟังเพลงเหล่านี้กลับทำให้รู้สึกดีขึ้น พร้อมกับมีคำถามว่า ทำไมศิลปินถึงเข้าใจปัญหาของเรา นั่นก็เป็นเพราะปัญหาเหล่านั้นก็เกิดขึ้นกับตัวศิลปินด้วยทำให้เขาถ่ายทอดมันออกมาผ่านซาวด์ดนตรีที่ดุเดือดแต่กลับมีความหมายที่เศร้าเกินกว่าจะบรรยายตั้งแต่อัลบั้มแรกจนถึงเพลงสุดท้ายของชีวิต 

เริ่มจาก เพลงในอัลบั้มเปิดตัว เมื่อปี 2000 “Hybrid Theory ” ที่ส่งให้พวกเขากลายเป็นวงนูเมทัลยุคบุกเบิกที่ดังแบบสุดโต่ง แต่เพียงแค่เพลงเปิดตัวก็มีเพลงที่เก็บซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้ ได้แก่

- Papercut ที่มองเห็นความเจ็บปวดได้ตั้งแต่ชื่อเพลง Papercut ความหมายตรงตัวนั้นหมายถึง กระดาษบาด แต่แท้จริงแล้วสำหรับเพลงนี้แปลว่า รอยกรีดที่ข้อมือ แสดงออกถึงความพยายามในการทำร้ายตัวเองเพื่อหาทางออกจากความอึดอัดและความเจ็บปวดที่ต้องพยายามเผชิญ

มีท่อนหนึ่งร้องว่า “I don't know what stressed me first. Or how the pressure was fed. But I know just what it feels like. To have a voice in the back of my head” ถ้าถอดความหมายออกมาแล้วมีความหมายโดยรวมว่า ก็ไม่รู้ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ต้องมาเครียดขนาดนี้ มันคืออะไรกันแน่ เหล่าแรงกดดันต่างๆ นี้เกิดจากอะไร ฉันแค่รู้ว่าฉันรู้สึกอย่างไร เวลามีเสียงตะโกนดังลั่นในหัวแบบนี้ 

- In The End เพลงสุดฮิตของวัยรุ่นยุคนั้นที่มีท่อนฮุคที่สามารถร้องตามได้ง่ายๆ อย่าง “I tried so hard. And got so far. But in the end. It doesn’t even matter” ถ้าเพียงแค่ฟังอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้สัมผัสถึงความล้มเหลวบางอย่าง แต่ถ้ามองลึกลงไปจะเห็นว่าเขากำลังพยายามบอกว่า ถึงแม้ว่าฉันจะพยายามแค่ไหน แต่มันก็กลับพังทลายลงมาหมด สิ่งที่มีความหมายกับฉันคงจะเป็นเพียงแค่ความทรงจำในช่วงเวลาที่ฉันพยายามแทบตาย

- Runaway ที่ไม่ได้แปลว่าวิ่งหนีแต่กลับหมายถึง อยากหลีกหนีจากคำโกหกต่างๆ และต้องการที่จะรู้ความจริง “I wanna run away. Never say goodbye. I wanna know the truth. Instead of wondering why. I wanna know the answers. No more lies. I wanna shut the door, And open up my mind.” 

เพลงนี้ แค่ฟังผ่านๆ ก็น่าจะพอเข้าใจความหมายว่า ฉันแค่อยากจะหนีไปแบบไม่ต้องบอกลา ฉันแค่อยากจะรู้ความจริงแต่ทำไมมันถึงเต็มไปด้วยเรื่องแปลกประหลาด ฉันแค่อยากรับรู้คำตอบที่แท้จริงเท่านั้น เลิกโกหกกันเสีย หรือฉันแค่ไม่อยากจะรับรู้อะไรแล้วก็แค่อยากจะตาสว่างเท่านั้น 

ต่อมาในปี 2003 “Meteora” ได้ถูกปล่อยออกมาและได้รับผลตอบรับดีเกินคาดจนทำให้วงเริ่มไปออกทัวร์ในหลายที่และแน่นอนว่าต้องมีเพลงฮิตออกมามากมายที่ขึ้นแท่นเพลงฮิตอันดับหนึ่งในบ้านเราหลายเพลง เช่น

- Numb เพลงที่แสดงออกถึงความอึดอัดที่ต้องเก็บไว้ในใจ เพราะไม่อยากจะเป็นความคาดหวังของใครอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ครอบครัวหรือใครก็ตาม ที่แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านท่อนฮุคว่า “I’ve become so numb, I can’t feel you there. Become so tired, so much more aware. I’m becoming this, all I want to do. Is be more like me and be less like you” ที่มีใจความว่า ฉันกลายเป็นคนด้านชา ไม่รู้สึกถึงตัวตนของคุณอีกต่อไปเสียแล้ว มันรู้สึกเหนื่อยล้า แล้วก็หวาดระแวงไปหมด ฉันกลายเป็นแบบนี้ไปแล้ว และสิ่งเดียวที่อยากทำก็คือ เป็นตัวเองให้มากกว่านี้ และเป็นเหมือนคุณให้น้อยที่สุด

- Somewhere I Belong ที่ไม่ได้แปลว่าที่ไหนที่ฉันควรจะไปอยู่แต่หมายถึง ที่ไหนกันนะที่จะมองเห็นคุณค่าในตัวฉัน ที่มีความหมายชัดเจนอยู่ในท่อนที่ระบุว่า “I wanna heal, I wanna feel like I’m close to something real. I wanna find something I’ve wanted all along.Somewhere I belong.” ที่หมายถึง ฉันต้องการเยียวยาความเจ็บปวด อยากจะอยู่กับความจริง อยากค้นหาบางสิ่งที่ฉันต้องการมาเนิ่นนาน ก็คงมีที่ไหนสักแห่งที่เป็นของฉัน

- Breaking the Harbit สำหรับเพลงนี้อาจจะไม่ใช่เพลงที่มีซาวน์ดนตรีหนักหน่วงมากนักหากเทียบกับเพลงอื่นๆ แต่เนื้อหาของเพลงยังคงจมดิ่งเช่นเดิม ซึ่งมีใจความสรุปโดยรวมว่า เพราะสันดานตัวเองมันไม่มีวันแก้ไขได้ เพราะงั้นก็ทำลายมันทิ้งไปเลยซะยังดีกว่า อย่างเช่นท่อนที่ร้องว่า “I don’t know what’s worth fighting for or why I have to scream. I don’t know why I instigate and say what I don’t mean. I don’t know how I got this way I know it’s not alright. So I’m breaking the habit, I’m breaking the habit. Tonight” หมายถึง ฉันไม่รู้ว่าอะไรที่มีค่าพอที่จะต่อสู้เพื่อมัน หรือแม้แต่ทำไมฉันถึงต้องกรีดร้องออกมา ฉันไม่รู้ว่าทำไมฉันถึงต้องพูดส่อเสียดคนอื่น และพูดในสิ่งที่ฉันไม่ได้ตั้งใจจะพูดออกไปด้วย ไม่รู้ว่าทำไมฉันเป็นอย่างนี้ ฉันรู้นะว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะงั้นฉันจะทำลายมันให้หมดฉันจะไปตายคืนนี้แหละ

 และสำหรับอัลบั้ม “Minutes to Midnight” ในปี 2007 ก็มีหลายเพลงฮิตติดหู โดยเฉพาะเพลง "What I've Done"  ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Transfomer แต่สำหรับเพลงที่จะยกตัวอย่างมาก็คือเพลง

- Leave out all the rest ที่แม้จะเป็นเพลงช้าแต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความเศร้า และรูปประโยคที่เหมือนกับการสั่งเสีย เช่น “When my time comes. Forget the wrong that I’ve done, help me leave behind some reasons to be missed. And don’t resent me and when you’re feeling empty keep me in your memory. Leave out all the rest.” หมายความว่า เมื่อเวลาของฉันมาถึง ช่วยลืมความผิดพลาดที่ฉันเคยทำทั้งหมดด้วยนะ ช่วยทำให้ฉันมีเหตุผลที่หลงเหลือเอาไว้ ให้ใครคิดถึงบ้าง และอย่าโกรธฉันเลยนะ หากเธอรู้สึกว่างเปล่าเมื่อใด เก็บฉันเอาไว้ในความทรงจำเธอนะ ปล่อยวางทุกอย่างไป

การจากไปของ “Chester Bennington” แห่งวง “Linkin Park” นอกจากจะเป็นการจากไปอย่างกะทันหันจนทำให้ใครหลายคนตั้งตัวไม่ทัน แต่ก็ยังเป็นการจากไปเพื่อให้ใครอีกหลายคนได้เห็นความสำคัญของ “โรคซึมเศร้า” เพราะในผู้ป่วยบางคนแม้ว่าจะมีนิสัยร่าเริงและมีสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม แต่ความจริงแล้วพวกเขาอาจจะกำลังพยายามส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อสะกิดให้คนรอบตัวเริ่มเห็นถึงความผิดปกติหรือความอันตรายของอารมณ์ผู้ป่วย

หรือถ้าใครอ่านเรื่องราวของ Chester แล้วมีความรู้สึกว่าตนเองหรือคนใกล้เข้าข่ายว่าอาจจะมีอาการของโรคซึมเศร้า เบื้องต้นสามารถโทรไปปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่ 1323 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิงข้อมูล : เสพสากล, Linkin Park, Chester และ IMDb