ไขข้อสงสัย “โควิด รีบาวด์” หลัง “โจ ไบเดน” ยังเจอเชื้อ แม้รับยาต้านไวรัสครบ

ไขข้อสงสัย “โควิด รีบาวด์” หลัง “โจ ไบเดน” ยังเจอเชื้อ แม้รับยาต้านไวรัสครบ

 ปรากฎการณ์ใหม่ “โควิด รีบาวด์” หลัง “โจ ไบเดน” เจอเชื้อใหม่ แม้รับยาต้านไวรัสครบ สธ.เตือนผู้ติดโควิด 19 อย่าซื้อยาต้านไวรัสกินเอง เสี่ยงดื้อยา ขอให้เป็นการตรวจและสั่งจ่ายยาตามดุลยพินิจแพทย์ที่ทำการรักษา

    เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  สถานการณ์วันที่ 1 ส.ค.2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยอาการปอดอักเสบ 879 รายที่รักษาในโรงพยาบาล(รพ.) และผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 457 รายซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจาก 2 วันที่แล้ว ส่วนผู้เสียชีวิต 19 รายก็ลดลงต่อเนื่องจากที่เคยพบวันละ 30 รายติดต่อกัน สอดคล้องกับภาพรวมโควิดทั่วโลกที่สัปดาห์นี้เริ่มคงที่ แต่ด้วยระบบการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ บางประเทศไม่ได้ตรวจผู้ติดเชื้อทุกคนแล้ว

       การติดตามข้อมูลตัวเลขรายใหม่ต้องแปลผลด้วยความระวัง แต่ตัวเลขที่ติดตามสถานการณ์ได้ดีคือ ผู้เสียชีวิต ซึ่งแนวโน้มของไทย ค่อนข้างคงที่และแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก(OPD) ยังค่อนข้างมากอยู่ สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานจากระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 201,554 ราย

         ผู้เสียชีวิต 19 รายใหม่ ยังเป็นกลุ่ม 608 อยู่ 100% โดยเป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิดแม้แต่เข็มแรกถึง 9 รายคิดเป็น 47% ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 6 รายคิดเป็น 32% และรับเข็มกระตุ้นแต่นานมากกว่า 3 เดือนอีก 4 รายคิดเป็น 21% ฉะนั้น การฉีดเข็มกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งต่อไปนี้การฉีดเข็ม 3 4 หรือ 5 เราจะเรียกว่าเข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 หรือ 4 เดือน ก็สามารถติดต่อขอรับเข็มกระตุ้นได้” นพ.โอภาสกล่าว

    ฉากทัศน์การระบาดโควิด-19 ตามที่คาดการณ์ผู้ป่วยใหม่รายวัน ตอนนี้ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์เส้นสีเขียว แปลว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้ค่อนข้างดี หลายหน่วยงานให้ข้อมูลตรงกันว่า เตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ เนื่องจากจำนวนไม่ได้ตามจำนวนติดเชื้อใหม่เพราะการฉีดวัคซีนค่อนข้างมากแล้ว จึงคาดว่าสถานการณ์จะคงที่และค่อยๆ ลดลง แต่ในช่วงวันหยุดยาวมีพี่น้องที่เดินทางไปต่างจังหวัดมาก จึงต้องติดตามสถานการณ์ในต่างจังหวัดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ พบสัญญาณของจำนวนผู้ป่วยรักษาในรพ. ผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดรอง ขณะที่กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยหนักคงตัว ฉะนั้น ขอให้ประชาชนดำเนินตามมาตรการ 2U คือ Universal Prevention and Vaccination คือป้องกันตัวเองสูงสุดและการฉีดวัคซีน

   สำหรับแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันโควิด-19 สำเร็จรูป (LAAB) บางคนอยากเรียกว่า ยามากกว่าวัคซีน ข้อดีคือฉีดเข้าร่างกายเพื่อสร้างภูมิฯ ต่อเชื้อโรคโดยตรง อยู่ได้นานถึง 6 เดือนน ฉะนั้น ประโยชน์ของ LAAB เหมาะกับผู้ที่ร่างกายสร้างภูมิฯ ไม่ดี โดย 1 กล่องจะมียา 2 ขวดฉีดพร้อมกันทีเดียวบริเวณสะโพก ข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ภูมิฯ ไม่ดี และเปิดกว้างไว้สำหรับแพทย์ใช้ดุลยพินิจในการให้ยากับผู้ป่วยบางกรณี เบื้องต้น ใช้ในผู้อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป น้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป โดยเป้าหมายใน 1.กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือด 2.ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ได้รับยากดภูมิฯ อย่างไรก็ตาม การให้ยาดังกล่าวให้ขึ้นตามพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ซึ่งยาจะถึงพื้นที่อย่างช้าในสัปดาห์นี้ 7 พันโดส โดยกำหนดทางผู้ผลิตจะส่งมอบยา 2.5 แสนโดสภายใน 2 เดือน ส่วนกลางก็จะกระจายตามระยะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สามารถติดต่อกับแพทย์ที่ดูแลการป่วยเพื่อรับยาได้

        ผู้สื่อข่าวถามถึงอันตรายที่ผู้ติดเชื้อจะหาซื้อยาต้านไวรัสมารับประทานเอง  นพ.โอภาส กล่าวว่า ยาต้านไวรัสเป็นวิธีหนึ่งในการรักษา แต่คนที่แข็งแรง รับวัคซีนครบส่วนใหญ่อาการน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส วิธีรักษาจะอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และย้ำว่ายาต้านไวรัสเป็นสารเคมีที่ผลดี และผลเสีย หากใช้ไม่ถูกก็เกิดผลเสียระยะยาวได้

     “การให้ยาต้านไวรัสที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะกับคน แทนที่จะให้ข้อดี แต่ให้ข้อเสียในเรื่องการดื้อยา ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ฉะนั้น การพิจารณาเลือกยาขอให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ และคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องกินยาทุกคน”นพ.โอภาสกล่าว 

    นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้เจอปรากฎการณ์ใหม่ คือ การรีบาวด์ (Rebound) ตามข่าวที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ติดโควิด 19 ได้รับยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิด แล้วเหมือนจะหายดี แต่ก็กลับมาเป็นไข้ใหม่ได้ แล้วพบเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการรีบาวด์การเกิดเชื้อ สมมติฐานว่าอาจเกิดจากการที่รับยาต้านไวรัส แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อในร่างกายให้หมดไป พอหยุดยาไป เชื้อก็กลับแบ่งตัวขึ้นใหม่ แต่รายละเอียดต้องติดตามต่อไป

      “ยังไม่มีการสรุปว่ากรณีนี้เป็นการดื้อยาหรือไม่ แต่โดยหลักการการที่ยาต้านไวรัสไม่สามารถ กำจัดเชื้อไวรัสได้หมด ก็อาจจะเป็นผลจากการดื้อยา  แต่ต้องติดตามต่อไปถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เพิ่งพบ “นพ.โอภาสกล่าว