อัตราป่วยเสียชีวิต “ฝีดาษลิง” ต่ำกว่าไข้ทรพิษ 8,000 เท่า  

อัตราป่วยเสียชีวิต “ฝีดาษลิง” ต่ำกว่าไข้ทรพิษ 8,000 เท่า  

กรมการแพทย์เผยอัตราป่วยเสียชีวิต “ฝีดาษลิง”ระบาดรอบนี้ ต่ำกว่าไข้ทรพิษ 8,000 เท่า  ทั่วโลกป่วย 1.6 หมื่นราย เสียชีวิต 5 ราย ส่วนใหญ่หายได้เอง  ไทยจัดทำแนวทางรักษา เน้นกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง-ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เสี่ยงอาการรุนแรง

     เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2565 พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง(Monkeypox) ว่า โรคฝีดาษลิง ถ้าเกิดการป่วยติดเชื้อโดยตัวโรคจะสามารถหายได้เอง แต่จะต้องมาดูแลพิเศษในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมีอาการรุนแรง คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคจะใช้วิธีการรักษาตามอาการ 

      กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาล(รพ.) คลินิกผิวหนัง หารือถึง แนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 26-27 ก.ค.65 ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วและอยู่ระหว่างการทำข้อมูลเพื่อเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง หรือ EOC สธ.ในวันจันทร์ที่ 1 ส.ค.2565

   “การรักษา กรมการแพทย์ก็จะเน้นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะมีการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มียารักษาเฉพาะในตอนนี้  และ ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง สามารถหายได้ด้วยภูมิฯ ของร่างกาย ใช้เวลาราว 4 สัปดาห์” พญ.นฤมลกล่าว

       สำหรับโรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่ากันมากๆ หากเทียบข้อมูล กับไข้ทรพิษทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60% ของผู้ป่วย ส่วนฝีดาษลิง ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่รายงานในปีนี้ พบว่ามีอัตราเสียชีวิต 0.007% โดยขณะนี้ มีผู้เสียชีวิต 5 รายจากผู้ป่วย 1.6 หมื่นราย ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ถึงผู้เสียชีวิต 5 รายว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง ดังนั้น จะเห็นความแตกต่างของอัตราเสียชีวิตชัดเจน ต่างกันกว่า 8,000 เท่า  แต่ที่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เพราะ มีการติดต่อข้ามทวีป ซึ่งพบการระบาดเกิดขึ้น

    ขณะนี้มีข้อมูลเผยแพร่ว่า โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัส ติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผลของผู้ป่วย แต่ถ้าใกล้ชิดมากๆ เช่น กินข้าวหรืออยู่บ้าน นอนด้วยกัน ก็อาจติดต่อทางฝอยละอองได้ การรับเชื้อไวรัสกรณีผู้ที่ไม่มีบาดแผลที่ผิวหนังเลย เชื้อจะเข้าได้จากการสัมผัสด้วยมือแล้วไม่ได้ล้างให้สะอาด เชื้ออาจก่อให้เกิดตุ่มหนองในคอ ในปากได้ หรือเข้าทางเยื่อบุตา อย่างไรก็ตาม ไวรัสของโรคฝีดาษลิงมีเปลือกหุ้มอยู่ โดยธรรมชาติก็จะเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตายหมด แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่นั้นยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ

     ถามถึงอัตราการแพร่เชื้อต่อของผู้ป่วย หรือ R0 ของโรคฝีดาษลิง พญ.นฤมลกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ถือเป็นโรคใหม่ของยุโรปและของไทย แต่เป็นโรคที่ระบาดในแอฟริกามานานแล้ว ฉะนั้น  ประเทศไทยกดจะมีองค์ความรู้โรคฝีดาษลิงน้อย แต่ติดตามข้อมูลอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม ที่มีการระบาดออกจากแอฟริกาเพราะเชื้อมากับคน ซึ่งระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิฯ ของแต่ละคน โดยทั่วไปที่รับเชื้อมามาก ระยะฟักตัวอย่างเร็วที่สุดจะอยู่ที่ 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น

      “ภูมิฯ แต่ละคนส่งผลต่อการแสดงอาการทางคลินิก โดยภูมิฯ เกิดจากการฉีดวัคซีน คือในคนไทยที่อายุมากกว่า 40 ปีจะได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว ซึ่งภูมิฯ นี้ป้องกันการติดเชื้อถึง 80% แต่ในเด็กที่มีรายงานข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ก็พบน้อยเช่นกัน แต่ถ้าคนที่ได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว เกิดกินยากดภูมิฯ อยู่แล้วติดเชื้อ ก็อาจมีอาการรุนแรงได้ ส่วนอาการแทรกซ้อนของโรค ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โรคประจำตัว" พญ.นฤมลกล่าว