อย.ไฟเขียวคลินิกเวชกรรม ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มารักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้

อย.ไฟเขียวคลินิกเวชกรรม ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มารักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้

อย.ลงนามวันนี้ ประกาศให้คลินิกเวชกรรมซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มารักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้ เพิ่มช่องทางเลือกเข้าถึง สบส.เตรียมแจ้งคลินิกเอกชนกว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ ขณะที่มีผู้รับอนุญาตนำเข้า 3 ราย อภ.เพิ่มช่องทางกระจายยา ย้ำใช้โดยการสั่งจ่ายของแพทย์เท่านั้น

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่จะอนุญาตให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ตามปกติแล้วยาโมลนูพิราเวียร์ให้ผู้รับอนุญาต คือ ผู้นำเข้าหรือผลิตสามารถจำหน่ายได้ใน รพ.รัฐและเอกชน ทำให้ รพ.เอกชนสามารถซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาให้บริการเพิ่มเติมแก่ประชาชนได้ ส่วนการขยายไปยังคลินิกเอกชนนั้น
       อย.ก็จะออกประกาศเพิ่มเติมว่าให้สามารถจำหน่ายไปยังคลินิกเวชกรรมได้ด้วย เพื่อนำมาใช้รักษาประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ในการรักษาโควิด 19 เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาและการรับยา ซึ่งยังต้องเป็นการจ่ายยาโดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และต้องจ่ายยาตามข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ คาดว่าจะลงนามและออกประกาศดังกล่าวเพื่อขยายให้คลินิกเวชกรรมซื้อยาได้ในวันนี้

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า เมื่ออย.ออกประกาศ ที่จะให้การกระจายยา โดยเฉพาะยาโมลนูพิราเวียร์และยาต้านไวรัสอื่นๆ กระจายลงไปในระดับคลินิกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541แล้ว สบส.จะแจ้งสถานพยาบาลประเภทคลินิกทั่วประเทศที่มีประมาณ 1 หมื่นแห่งให้ทราบข้อกำหนดนี้ และแจ้งช่องทางการติดต่อซื้อขาย ซึ่งทราบจาก อย.ว่ามีผู้ผลิตมาขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ 3 บริษัท และทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็จะเพิ่มช่องทางการกระจายยา แต่ยืนยันว่าจะต้องใช้ยาตามข้อบ่งชี้ ไม่ได้ใช้โดยทั่วไป ก็จะทำให้ประชาชนมีช่องทางในการไปรับการรักษาและรับยาเร็วขึ้น

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคโควิด-19 มีการใช้ยาที่เกี่ยวข้องหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือกลุ่มยาต้านไวรัส ซึ่งปัจจุบันได้มีการ
ขึ้นทะเบียนกับ อย. จำนวนหลายทะเบียน โดยเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทเอกชน ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) 3 ทะเบียน ยาเรมเดซีเวียร์ (Remdesivir) 5 ทะเบียน ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) 1 ทะเบียน ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) 2 ทะเบียน และมียาที่นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข

 

      

ทั้งนี้ บริษัทเอกชนทั้งหมดที่มาขึ้นทะเบียนและเป็นผู้นำเข้ายาจะสามารถจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนได้ เช่น ยาเรมเดซีเวียร์ที่ขึ้นทะเบียนโดยบริษัทเอกชน 5 บริษัท ได้มีการจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่มีการปิดกันหรือผูกขาดการนำเข้ายาแต่อย่างใด และล่าสุด ทาง อย. ยังได้มีประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถจำหน่ายยาไปยังคลินิกเวชกรรมได้อีกด้วย เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาและการรับยาเพิ่มเติมของประชาชน

 อนึ่ง  ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 ออกโดยกรมการแพทย์ ด้วยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการใน ประเทศ และต่างประเทศ

การรักษาผู้ติดโควิด 19 แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยง 4 กรณี ดังนี้

       1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี  ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

    2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ  ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน 

     3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี  โดยหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ โดยมีลำดับการให้ยา คือ  โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์  หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด)  หรือโมลนูพิราเวียร์
        ทั้งนี้  การจัดลำดับการให้ยา พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา  ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงที่สุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง
          ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่  อายุมากกว่า  60 ปีขึ้นไป ,โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี

     และ4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกัยให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid)