กรมควบคุมโรค แนะนำการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนสำหรับรถรับ-ส่งนักเรียน

กรมควบคุมโรค แนะนำการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนสำหรับรถรับ-ส่งนักเรียน

กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบสภาพรถยนต์ ความพร้อมของร่างกายก่อนการขับขี่ยานยนต์ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด พร้อมแนะนำการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนสำหรับรถรับ-ส่งนักเรียน เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเยาวชน 

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับรถรับ-ส่งนักเรียน  เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เยาวชนบาดเจ็บพร้อมกันจำนวนมากและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 พบการเกิดอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียนรวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บไปแล้ว มากกว่า 165 ราย ข้อมูลสถิติย้อนหลัง 5 ปี จะมีเหตุการณ์ เฉลี่ย 2 ครั้งต่อ 1 เดือน หรือ 1 ปีจะมีอุบัติเหตุประมาณ 30 ครั้ง แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ที่พบว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 พบการเกิดอุบัติเหตุมากถึง 13 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเปิดเรียนหลังจากปิดโรงเรียนมาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี

คำแนะนำสำหรับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับ-ส่งนักเรียน ดังนี้

1) เลือกใช้บริการรถที่ได้มาตรฐานตามกรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น ที่นั่งโดยสารต้องยึดแน่น อย่างมั่นคงแข็งแรง ห้ามนักเรียนยืนโดยสาร รถทุกคันต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำ “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและท้ายรถ มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือไฟสีแดงเปิด-ปิดเป็นระยะ มีเครื่องมือจำเป็นกรณีฉุกเฉินติดตั้งในรถ เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก และมีผู้ดูแลนักเรียนประจำอยู่ในรถตลอดเวลา

 2) รถที่นำมาใช้ต้องได้รับการตรวจสภาพรถและซ่อมบำรุงรักษา ให้ได้มาตรฐานสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดหรือตรวจสภาพรถทันทีเมื่อพบว่าสภาพรถมีปัญหา  

3) ไม่ใช้รถรับ-ส่งนักเรียนที่ดัดแปลงสภาพ หรือกลุ่มรถกระบะต่อเติมหลังคา  

4) ห้ามบรรทุกนักเรียนเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนรถ  

5) มีการตรวจสอบชื่อเด็กนักเรียนขณะขึ้น-ลง และอย่าปล่อยเด็กขึ้นลงรถโดยลำพังเด็ดขาด 

6) ต้องมีหนังสือรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษาให้รับ-ส่งนักเรียน  

7) ผู้ขับขี่ต้องได้รับใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาหรือสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

นอกจากนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ  อาจทำให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนหรือเกิดความพิการของผู้บาดเจ็บได้ ขอให้โทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422