4-4-4 สัญญาณอันตราย “โควิด" ระบาดระลอกเล็ก

4-4-4 สัญญาณอันตราย  “โควิด" ระบาดระลอกเล็ก

การติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) เป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมา สัปดาห์นี้ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันหลายวัน ประชาชนอาจมีการไปท่องเที่ยว รวมกลุ่มทำกิจกรรมจำนวนมาก มีความเสี่ยงอาจทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ อาจนำเชื้อมาติดกลุ่มเสี่ยง

สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) จากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) เหมือนอย่างโรคอื่นๆ อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) เป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมา จากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึง ก.ย.นี้ที่จะเป็นช่วงพีคสุด แต่คงไม่สูงเท่าโอมิครอนช่วงต้นปี เนื่องจากฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว

ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ใน23 จังหวัด มีขาขึ้นแบบระลอกเล็กๆ ได้แก่ กทม. ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต เชียงใหม่ ระยอง ตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สงขลา กระบี่ พังงา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และยะลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงวานนี้ (11 ก.ค.) ยอมรับว่าประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่กทม. มีสัดส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เพิ่มสูงขึ้น ส่วนความรุนแรงยังสรุปไม่ได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศ แต่เบื้องต้นพบสัดส่วนในผู้ป่วยอาการหนักสูงกว่า BA.2 แต่ยังต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีการประสานโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ส่งตรวจมากขึ้น

เห็นได้จากการเฝ้าระวังช่วงวันที่ 2-8 ก.ค. จำนวน 570 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 รวมกันเกือบครึ่งหนึ่ง 280 ราย โดยพบสัดส่วนในผู้เดินทางจากต่างประเทศสูงทรงตัว 77-78% ราว 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ส่วนในประเทศไทย พื้นที่ กทม.พบ BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์จาก 12% เป็น 50% 68% และ 72% ส่วนภูมิภาคค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 17% และ 34% ตามลำดับ ถือว่าแพร่เร็วและจะเริ่มแซง BA.2 กับ BA.1 ซึ่งสัปดาห์หน้าจะเปิดเผยประสิทธิผลการศึกษาภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสูตรต่างๆ ที่ทดลองกับ BA.5

สัปดาห์นี้ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันหลายวัน ประชาชนอาจมีการไปท่องเที่ยว รวมกลุ่มทำกิจกรรมจำนวนมาก มีความเสี่ยงอาจทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ อาจนำเชื้อมาติดกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาจทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ อาจจะเหมือนกับระลอกที่ผ่านมา ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกทม.และปริมณฑล รวมถึง จังหวัดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ และกระจายไปจังหวัดต่างๆ จากเมืองไปชนบท ซึ่งในช่วงวันหยุดยาวนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้แพร่ไปต่างจังหวัดเร็วขึ้น

ดังนั้น ไทยทุกคนต้องร่วมมือกันคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคล 2 U ติดเชื้อป่วยหนักไม่ให้ขึ้นเร็วเกินไป เว้นระยะห่าง รวมกลุ่มทำได้ แต่อย่าใกล้ชิดเกินไป สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เวลาใช้บริการขนส่งสาธารณะ เลี่ยงไปสถานบันเทิง หากมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ สงสัยติดเชื้อให้ตรวจ ATK หากเป็นขีดเดียว สวมหน้ากากอนามัย ไม่หาย ตรวจซ้ำ 24-48 ชม. หากเจอ 2 ขีด ติดเชื้อ ให้กักตัวที่บ้านอย่างน้อย 7 วัน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สวมหน้ากากตลอดเวลา สังเกตอาการป่วยตัวเอง 10 วัน เพราะหากมีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในรพ. เกิน 4,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เกิน 400-500 รายต่อวันผู้เสียชีวิต เกิน 40 รายต่อวันจะต้องมีการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็วนซ้ำกลับมาอีก