เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ?

เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ?

เมื่อก่อนหากพูดถึงฤดูกาลเปิดเทอมของบรรดานิสิต - นศ.มหาวิทยาลัย ที่ส่วนใหญ่จะนึกถึงก็คงหนีไม่พ้นกิจกรรมรับน้อง ประกวดดาว เดือน หรือ คัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ แต่ในปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยเริ่มทยอยยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวแล้ว

ในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนการเปิดเทอมแรกของน้องปีหนึ่ง หรือ เฟรชชี จะต้องเจอกับกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่ทั้งมหาวิทยาลัยจัดให้หรือรุ่นพี่จัดกันเอง 

ไม่ว่าจะเป็น การรับน้อง การประชุมเชียร์ การจับพี่รหัส การประกวดดาว เดือน การคัดเลือกเชียร์ลีดเดอร์ประจำคณะและมหาวิทยาลัย

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ในบางมหาวิทยาลัยจะถูกนำมาคิดเป็นคะแนนการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัยด้วยเพื่อบังคับให้นิสิตหรือนักศึกษาเข้าร่วม ซึ่งถ้าหากคะแนนกิจกรรมไม่ครบก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำเรื่องจบในชั้นปีสุดท้าย ทำให้เด็กบางคนที่ไม่ประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมเหมือนถูกบังคับให้เข้าร่วมไปโดยปริยาย

กิจกรรมต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยแม้จะมีข้อดีคือทำให้รู้จักเพื่อนๆ และรุ่นพี่ ในคณะเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความสามัคคี แต่หลายครั้งที่มีข่าวการรับน้องโหดจนถึงขั้นบาดเจ็บ และ เสียชีวิต

ทำให้หลายๆ คน หลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมกิจกรรมประกอบกับทางผู้ปกครองเองก็ไม่ไว้วางใจการดูแลบุตรหลานของตนจากรุ่นพี่ที่มีอายุห่างกันเพียงไม่กี่ปี และบางคนก็ยังไม่มีความรับผิดชอบหรือวุฒิภาวะมากพอ

หรือมีการใช้ ระบบ “SOTUS” ในการรับน้องเพื่อพยายามให้รุ่นน้องยอมรับและเคารพในตัวรุ่นพี่ ซึ่งรุ่นพี่มักจะใช้อำนาจสั่งให้รุ่นน้องไปทำในเรื่องที่มีความสุ่มเสี่ยง

 

แต่มาถึงในปัจจุบันนี้ “วัฒนธรรม” การบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นกำลังทยอยหายไปเนื่องจากมติขององค์การนักศึกษา สโมสรนิสิต ในหลายสถาบันเริ่มทยอยออกมาประกาศยกเลิกกิจกรรมหลายอย่าง เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมแบบไม่เต็มใจ รวมถึงป้องกันอันตรายจากระบบ SOTUS ของเพื่อนนิสิต นักศึกษา ด้วยกันเอง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการรวบรวมประกาศขององค์การตัวแทนนิสิต-นักศึกษา ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวยกเลิกบางกิจกรรม โดยเฉพาะเรื่องระบบ SOTUS รวมถึงกิจกรรมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม อาทิ Beauty Privilege ดังนี้

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

องค์การ นศ.ธรรมศาสตร์ เปิดผลประชามติซึ่ง อมธ. ได้จัดทำแบบสำรวจประชามติของประชาคมธรรมศาสตร์ มีเพลงที่เข้ารับการคัดเลือกมีจำนวนทั้งหมด 3 เพลง คือ เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว, มาร์ช มธก. และ เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง

โดยจากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 5,168 คน ได้เลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว กว่า 51.9% จากผลโหวตดังกล่าว อมธ. จึงประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ.

เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ? ภาพจากเพจ องค์การ นศ.ธรรมศาสตร์

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ให้ความสำคัญแก่ข้อเรียกร้องของนิสิตจำนวนมากและสาธารณชนที่ตั้งคำถามกับประเด็นปัญหาทางสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง Beauty Privilege ที่มีต้นตอมาจากความไม่เท่าเทียม และก่อผลเสียต่อมหาวิทยาลัยสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

จึงขอแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกันว่าในกิจกรรมวันแรกพบนิสิตใหม่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำปี พ.ศ.2565 (CU First Date 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 จะไม่มีกิจกรรมใด ๆ จากกลุ่มผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Cheerleader) จุฬาฯ คทากร (The Drum Major of Chulalongkorn University) และกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Coronet)

เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ? ภาพจากเพจ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รวมถึงสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า Singhdam Cheerleader หรือชมรมผู้นำเชียร์คณะรัฐศาสตร์ ประกาศยุติการดำเนินชมรมตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หากนิสิตมีความสนใจด้านการเต้น สามารถร่วมสร้างสรรค์และแสดงออกผ่านกิจกรรมเองได้ โดยจะไม่มีผู้นำเชียร์ในคณะหรือการยึดโยงใดๆ กับผู้นำเชียร์จุฬาฯ อีก

โดยมีรายละเอียดว่า ชมรมผู้นำเชียร์คณะรัฐศาสตร์ ในฐานะที่เป็นนิสิตนักศึกษา ที่ต้องผูกโยงกับสังคมรอบข้างและทำประโยชน์ให้กับสังคม เล็งเห็นว่ารูปแบบกิจกรรมที่ชมรมเคยดำเนินมาตั้งแต่อดีต เต็มไปด้วยการฟูมฟักความป่วยไข้ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบอบอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ ระบบ SOTUS

หรือแม้กระทั่งการผลิตซ้ำค่านิยม Beauty Privilege ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการตั้งใจ แต่กิจกรรมที่ผ่านมานั้นไม่สามารถแยกขาดออกจากค่านิยมเหล่านี้ได้ ระบบและค่านิยมเหล่านี้ได้สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้กับสังคม ต่อสมาชิกชมรม หรือนิสิตผู้เป็นสมาชิกของสังคม

  • มหาวิทยาลัยมหิดล

สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศว่า ทางสโมสรฯ มีมติเอกฉันท์ให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิ และกิจกรรมที่ส่งเสริม Beauty privilege ทุกรูปแบบ รวมถึงยกเลิกการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ และ MU Ambassador (กิจกรรมดาวเดือน)

เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ? ภาพจากเพจ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า มีมติการยกเลิกระบบโซตัสนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป และไม่อนุญาตให้ทุกองค์กรภายใต้การดูแลของอบ.ก. จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบโซตัสอย่างเด็ดขาด

ไม่ว่าจะเป็นการบังคับเข้าร่วม การใช้ความรุนแรงทางคำพูดและทางร่างกาย หรือการกดดันที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกไม่ปลอดภัยก็ตาม ซึ่งถ้ามีการนำระบบโซตัสไปใช้ สามารถแจ้งปัญหา และร้องเรียนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการยกเลิกการประกวดทูตกิจกรรม (ดาว - เดือน) ไปแล้ว

เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ? ภาพจากเพจ องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เฟซบุ๊กองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศยกเลิกระบบโซตัส ทุกรูปแบบ ทุกกิจกรรม ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย 

โดยมีข้อความว่า ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป จะมีการจัดกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2565 เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รวมถึงสร้างความประทับใจให้กับนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาแห่งนี้

โดยไม่อนุญาตให้องค์กรที่อยู่ในการดูแลขององค์การนักศึกษาจัดกิจกรรมที่เป็นระบบโซตัส และจะไม่สนับสนุนระบบโซตัสในทุกรูปแบบในทุกหน่วยงานหรือองค์กรอื่น

รวมไปถึงจะต้องไม่เป็นการบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรม, ไม่เป็นการกระทำที่เป็นการกดขี่ กดดัน ด้วยคำพูด หรือการกระทำใดที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยให้กับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน และเพื่อเป็นการเคารพสิทธิในการเป็นมนุษย์  ถ้านักศึกษาท่านใดพบเห็นการกระทำดังกล่าวก็สามารถแจ้งให้ตรวจสอบได้

เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ? ภาพจากเพจ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • มหาวิทยาลัยศิลปากร

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง การยกเลิกและไม่อนุญาตให้ทุกองค์กรภายใต้การดูแลขององค์การนักศึกษาฯ จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและมนุษยชน และระบบโซตัสทุกรูปแบบ และขอต่อต้านการกระทำ กิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว หากนักศึกษาคนใดพบเห็นสามารถติดต่อร้องเรียนเข้ามาทางองค์การนักศึกษาฯ เพื่อจะได้เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหาต่อไป

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอแจ้งว่า มหาวิทยาลัยไม่มีการรับน้องแบบโซตัส โดยป้ายชื่อไม่ต้องสวมตลอดเวลา และการรับน้องต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ปราศจากความรุนแรง ทั้งนี้ตัวป้ายชื่อเอง ต้องมีรูปแบบและขนาดที่เหมาะสมด้วย

เปิดเทอมใหม่ วัฒนธรรม “มหาวิทยาลัย” ยกเลิกอะไรบ้าง ?

ภาพจากเพจ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • มหาวิทยาลัยแม่โจ้

องค์กรนักศึกษา ออกแถลงการณ์องค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรื่อง จุดยืนขององค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ต่อประเด็นกิจกรรมทุกกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ของนักศึกษา โดยระบุว่า ตามหลักการปกครองของประเทศไทยซึ่งยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยซึ่งถือเป็นระบอบการปกครอง ที่ประชาชนถือเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยโดยชอบธรรมและเคารพในสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลโดยจะไม่มี ผู้ใดมาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใดได้ตามหลักรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ทางองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงมีมติเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งประกอบไปด้วย องค์การ นักศึกษา สภานักศึกษา และสโมสรทุกคณะ/วิทยาลัย โดยจะไม่มีกิจกรรมที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามหลักการปกครองของประเทศไทย เพราะเสรีภาพของมนุษย์ เป็นสิ่งที่พึงมีและไม่ควรถูกลิดรอนและละเมิดไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม

เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะปัญหาการรับน้องด้วยระบบ SOTUS รวมถึงความไม่เท่าเทียมอย่าง Beauty Privilege หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องน่าจับตามองว่าจะมหาวิทยาลัยไหนออกมาเป็นแนวร่วมอีกหรือไม่