ท่องเที่ยวยั่งยืน ฟื้นรายได้อยู่ร่วมโควิด

ท่องเที่ยวยั่งยืน ฟื้นรายได้อยู่ร่วมโควิด

ระบบสาธารณสุข ก็ต้องพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นของประเทศไทย (Endemic Approach) เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการควบคุม ป้องกันโรค และการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ

ประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยสโลแกน “Thailand Moving Together : กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” ด้วยหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนมาเที่ยวไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศให้ได้ถึงเป้า 1.5 ล้านล้านบาทจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี เป็นการคำนวณจากตัวเลขที่เคยมีนักท่องเที่ยวมาประเทศไทย 39.8 ล้านคนเมื่อปี 2562 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.01 ล้านล้านบาท เป็นลำดับที่ 4 ของโลก ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนต้องร่วมมือจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้สอดรับตามเทรนด์ของโลก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศให้มากที่สุด ไปเที่ยวหลายสถานที่ และจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน นำมาซึ่งเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความมั่นใจด้านสาธารณสุขให้กับนักท่องเที่ยว ผู้เดินทาง ผู้ประกอบการ และผู้ปฏิบัติงานด้านท่องเที่ยวและคมนาคมได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต้องเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4-6 เดือน เพิ่มภูมิคุ้มกันให้มีความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันระบบสาธารณสุข ก็ต้องพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นของประเทศไทย (Endemic Approach) เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการควบคุม ป้องกันโรค และการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ

การให้บริการท่องเที่ยว จะต้องเป็นการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน ให้บริการที่ดีที่สุด อาหาร วัตถุดิบต้องมีคุณภาพ เน้นคุณภาพของบริการ มีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ลูกค้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวประทับใจ จะได้กลับมาเที่ยวอีก และยังนำความประทับใจไปเล่าต่อได้ เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ทางอ้อมได้เป็นอย่างดี จะทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าในบริบทต่างๆ ของการประกอบธุรกิจได้ในอนาคต ตรงข้ามหากให้บริการไม่ประทับใจ ผลที่ตามมานักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมอาจจะไม่กลับมาเที่ยวอีก ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้างมาตรฐานที่ดีให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ที่มีการแหล่งท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเดินควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตร่วมกับ “โรคโควิด-19” ที่มีการพัฒนาสายพันธ์ุอยู่ตลอดเวลาเพื่อการอยู่รอด ซึ่งเป็นธรรมชาติของ ไวรัส ถ้าไม่กลายพันธ์ุก็ต้องตายไป หากสามารถพัฒนาแตกตัวเพิ่มก็อยู่รอดได้ คาดว่าอีกไม่นานสายพันธ์ุ BA.4-ฺBA.5 ก็น่าจะครองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยต้องทำความเข้าใจ ป้องกันตัวเอง และอยู่ร่วมกันไป โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวจึงควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4-6 เดือน บางคนอาจจะมากกว่าเข็ม 5 และในอนาคตอีก 1-2 ปี โควิด ก็น่าจะยังอยู่ การฉีดวัคซีนกระตุ้นอาจจะต้องมีเป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น