ข้อปฏิบัติให้รอด โควิด-19 ในยุคหลังระบาดใหญ่  Post Pandemic  

ข้อปฏิบัติให้รอด โควิด-19 ในยุคหลังระบาดใหญ่  Post Pandemic  

สธ.คาดโควิดอยู่รอบตัวไปอีก 1-2 ปี   แนะ  9 ข้อปฏิบัติป้องกันติดเชื้อ หลังระบาดใหญ่  Post Pandemic  สายพันธุ์โอมิครอนBA.4/BA.5 กำลังจะเป็นตัวหลัก  ผู้ป่วยรักษาฟรีตามสิทธิ

      นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวระหว่าง ปาฐกถา เรื่อง The Next Chapter of COVID-19 in Thailand ว่า คาดการณ์สถานการณ์โควิด-19จะอยู่รอบตัวไปอีก 1- 2 ปี  โดยรูปแบบการติดเชื้อจะมี 2 ลักษณะ คือ 1. การติดเชื้อ Small Wave  แพร่โรคอย่างเร็ว มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แต่การระบาดไม่นานจบเร็ว และ  2. การติดเชื้อแบบ Slow Wave   การติดเชื้อแบบช้า ๆ พบคนติดเชื้อไม่มาก แต่กว่าจะยุติการติดเชื้อได้ต้องใช้เวลานาน

    “ในการเฝ้าระวังโรค สธ.ได้วางระบบ เฝ้าระวังโรคไว้  โดยจะดูยอดการเข้ารับการรักษาในรพ.กลุ่มปอดอักเสบเป็นหลัก เพื่ออนุมานการติดเชื้อในภาพใหญ่  ซึ่งคาดการณ์ว่าขณะนี้ตัวเลขการติดเชื้อจะอยู่ที่ 10,000 -20,000 คนต่อวัน   แต่มั่นใจว่าถึงจะมีการติดเชื้อมาก ก็ไม่สั่นคลอนต่อระบบสาธารณสุข  ส่วนเมื่อพ้นการระบาดใหญ่ในวันที่1 ก.ค.2565 ก็ไม่ต่างจากตอนนี้มากนัก”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 สายพันธุ์BA.4/BA.มากขึ้น

      นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว  การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อว่า  จากการที่กรมได้มีการกเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง  ข้อมูลระหว่างวันที่ 18-22 มิ.ย.2565  โดยสุ่มตรวจจากกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศและกลุ่มอื่นๆภายในประเทศ จำนวน 396 ราย พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 จำนวน 2 ราย BA.2 จำนวน 213 ราย และ BA.4/BA.5 จำนวน 181 ราย  ได้มีการส่งรายงานเข้าไปยังระบบฐานข้อมูลโควิด19โลก( GISAID) แล้ว ภาพรวมสัดส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้เป็น โอมิครอน BA.1 คิดเป็น 0.5 %  BA.2 คิดเป็น 53.8 % และ BA.4/BA.5 คิดเป็น 45.7 %

9 ข้อปฏิบัติป้องกันยุคPost Pandemic
      นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  คำแนะนำสำหรับประชาชนในการปฏิบัติตัวหลังพ้นการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) คือ 1.คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว จะต้องล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์  เดินทางได้ปกติ ทำกิจกรรมรวมกลุ่มได้ ติดตามคำแนะนำของสธ.สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น  

และ2.กลุ่มเสี่ยง 608 /ผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ใช้ช้อนส่วนตัว เมื่อกินอาหารในที่ทำงานหรือโรงเรียน สวมหน้ากากอนามัย ขณะทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ฉีดวัคซีนเข็มหลัก/เข็มกระตุ้น ตามที่สธ.กำหนด และสวมหน้ากากเมื่อขึ้นรถสาธารณะ เข้าไปในสถานที่เสี่ยง เดินทางได้ปกติ เว้นระยะห่างเมื่อยู่ในสถานที่เสี่ยง

  “การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกถุ่ม 608 เนื่องจากในจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน ส่วนใหญ่ยังเป็นคนกลุ่มนี้ คนทั่วไปยังแนะนำทุก 4 เดือน ยกเว้นว่าจะมีการศึกษาและมีคำแนะนำนออกมาเพิ่มเติม ส่วนทึ่คนกังวลว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ได้นั้น วัคซีนทุกตัวแม้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แต่ประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตนั้นไม่ได้ลดลง จึงขอเชิญชวนให้ไปฉีด”นพ.โอภาสกล่าว

ป่วยรักษาตามสิทธิฟรี

  จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565

          ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แม้จะมีการยกเลิก HI  ในส่วนสิทธิหลักประกันสุขภาแห่งชาติ หรือบัตรทอง แต่ยังรักษาตามสิทธิคนไข้บัตรทอง ซึ่งไปรักษาที่ไหนก็ได้ในรพ.รัฐ  และยังคงมีการรักษาแบบ(Outpatient with Self Isolation : OPSI)  หรือ "เจอ แจก จบ" ผู้ป่วยนอกยังทำเหมือนเดิม ส่วนสิทธิ์ประกันสังคมนั้น ทราบว่ามีการพิจารณาให้มีการขยาย HI  แต่ยังไม่ทราบว่าข้อสรุปเป็นอย่างไร       " กรมการแพทย์ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมตั้งแต่ต้นทางในสถานพยาบาล โดยขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน และทุกโรงพยาบาลต้องมีการรายงานการครองเตียงรายวัน หากการครองเตียงเพิ่มขึ้นต้องมีการเตรียมลู่ทางขยายเตียง และไอซียูถ้าจำเป็น" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

       ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวสิ่งที่จะยกเลิก คือ การรักษาแบบ Home Isolation , Hospitel และกรณีของสิทธิ UCEP Plus ซึ่งเดิมให้ผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใดก็ได้ ก็จะปรับให้ผู้ป่วยอาการสีเหลืองกลับมารักษาฟรีตามสิทธิ ซึ่งแนวทางการรักษาจะให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในใน รพ.ก็ขึ้นกับดุลยพินิจและการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจะมีแนวเวชปฏิบัติอยู่

          ส่วนผู้ป่วยอาการสีแดงที่วิกฤต ยังสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาแห่งใดก็ได้ตามเดิม ซึ่งตามกระบวนการนั้นการตรวจหาเชื้อตามแนวทางของกรมควบคุมโรค คือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หากสงสัยอาการรุนแรงให้โทรสายด่วน 1669 เพื่อประเมินความรุนแรงและเดินทางไปยังสถานพยาบาล ส่วนสายด่วน 1330 ยังให้ประชาชนที่ข้องใจสอบถามได้ หรือช่วยเหลือประสานหาเตียง ทั้งนี้จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากเข้าใจว่าประชานคุ้นชินกับระบบมานานถึง 3 ปี ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลรวม 150,000 ล้านบาท